วิลเลี่ยม ฮาร์วี่ : William Harvey
เกิด วันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1578 ที่เมืองฟอล์คสโตน (Flockstone) ประเทศอังกฤษ (England)
เสียชีวิต วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1657 ที่กรุงลอนดอน (London) ประเทศอังกฤษ (England)
ผลงาน - ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิต (Blood Circulation)
ชีวประวัติ
ฮาร์วี่เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1578 ที่เมืองฟอล์คสโตน ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่ร่ำรวย บิดาของเขาเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองชื่อว่า โทมัส ฮาร์วี่ (Thomas Harvey) ทำให้เขามีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี หลังจากที่ฮาร์วี่สำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนแคนเทอเบอรี่ แกรมมา (Canterbury Gramma School) ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ จากนั้นเขาได้ศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ (Cambridge University) หลังจากจบวิชาแพทย์ในปี ค.ศ. 1597 ฮาร์วี่ได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยปาดัว (Padua University) ประเทสอิตาลี ระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยปาดัว เขามีโอกาสได้พบกับศาสตราจารย์ฮีโรนิมุส เฟบริซิอุส (Heronimus Fabrisius) ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฮาร์วี่ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิต
หลังจากที่ฮาร์วี่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดาปัวแล้ว เขาได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์บาร์โทโลมิวกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฮาร์วี่เป็นแพทย์ที่มีความสามารถ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วยมาก คนไข้ของเขามีตั้งแต่คนร่ำรวยมหาศาล จนถึงยากจนเข็ญใจ ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาเขาได้รับเชิญเข้าร่มเป็นสมาชิกของแพทยสภาในปีค.ศ. 1607 ต่อมาในปี ค.ศ. 1618 ฮาร์วี่ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 (King James I) เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จสวรรคต พระเจ้าชาร์ลที่ 1 (King Charles I) ขึ้นครองราชสมบัติสืบแทน ทรงแต่งตั้งให้ฮาร์วี่เป็นแพทย์ประจำพระองค์ ระหว่างที่ฮาร์วี่ทำงานในตำแหน่งแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของโลหิต โดยใช้เวลาในการค้นคว้านานถึง 10 ปี ในการบันทึก สังเกต และศึกษาจากการผ่าตัดผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย และในที่สุดเขาสามารถค้นพบเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในปี ค.ศ. 1628
และในปีเดียวกัน ฮาร์วี่ไดี้พิมพ์ผลงานของเขาเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ ลงในหนังสือชื่อว่า การทำงานของหัวใจ และระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายสัตว์ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจว่ามีหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิต ลักษณะของหัวใจคล้ายกับถุงกล้ามเนื้อที่เต้นอยู่ตลอดเวลา และการเต้นของหัวใจก็ทำให้เกิดการไหลเวียนของโลหิต โดยมีเลือดแดงที่ไหลออกจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย จากนั้นเลือดแดงจะกลายเป็นเลือดดำ และกลับขึ้นมาสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่ง เลือดจะถูกส่งเข้าไปยังห้องหัวใจซีกขวาด้านบนก่อน จากนั้นจึงไหลเข้าสู่ห้องหัวใจซีกขวาด้านล่าง และส่งออกจากห้องนี้ไปสู่ปอด ซึ่งมีหน้าที่นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ในเลือดออกไป แล้วนำก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้าไปแทนที่ เมื่อปอดฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดงแล้วจะถูกส่งกลับไปยังห้องหัวใจซีกซ้ายด้านบนอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจะถูกส่งไปยังห้องหัวใจซีกซ้ายด้านล่าง ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย และจะเป็นระบบเช่นนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่หัวใจหยุดเต้นก็เท่ากับว่าหยุดการสบฉีดโลหิต เลือดในร่างกายก็จะกลายเป็นเลือดดำ ร่างกายไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้และเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้แล้วฮาร์วี่ยังพบหน้าที่ของลิ้นหัวใจ ซึ่งอยู่ระหว่างห้องหัวใจต่าง ๆ ว่ามีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับไปทางเดิม
หัวใจลักษณะนี้จะมีอยู่ในสัตว์ที่มีปอด หรือหายใจข้า - อออก ทางจมูกเท่านั้น ส่วนสัตว์น้ำหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ซึ่งหายใจ เข้า - ออก ทางเหงือก ทางผิวหนัง หรือวิธีการอื่น ๆ สัตว์เหล่านี้จะใช้ห้องหัวใจเพียงห้องเดียวทางด้านซ้าย ก็เพียงพอต่อการสูบฉีดโลหิต
เมื่อฮาร์วี่เผยแพร่ผลงานออกไป ปรากฏว่าคนทั่วไปไม่เห็นด้วย รวมถึงวงการแพทย์ก็ต่อต้านอย่างหนัก คนไข้ของเขาบางคนถึงกับเลิกรักษากับเขาเลยทีเดียว จนกระทั่งเขาเสียชีวิตก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนเชื่อถือในสิ่งที่เขาค้นพบได้ แต่ถึงอย่างนั้นการค้นพบของเขาก็มิได้สูญเปล่า เพราะหลังจากนั้นไม่นานเมื่ออังตวน แวน เลเวนฮุค (Anton Van Leeuwenhoek) สามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ได้สำเร็จ วงการแพทย์จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าระบบการไหลเวียนโลหิตของมนุษย์นั้นเป็นไปอย่างที่ฮาร์วี่กล่าวไว้
ฮาร์วี่ทำงานเป็นแพทย์ประจำราชสำนักอยู่นานกว่า 25 ปี เขาลาออกจากหน้าที่ในปี ค.ศ. 1646 เนื่องจากชราภาพมากแล้ว และ เสียชีวิตในปีต่อมาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1657
ผลงาน
ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ แต่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือนายแพทย์ท่านใดรู้ความจริงที่ว่า เลือดเดินทางอย่างไรในร่างกาย อีกทั้งหน้าที่ของหัวใจก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อประมาณปี 600 ก่อนคริสต์ศักราช นายแพทย์ชาวกรีก คลาดิอุส กาเลน (Clandius Galen) ได้ศึกษาและอธิบายว่า ระบบโลหิตในร่างกายมนุษย์มีลักษณะคล้ายน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนหัวใจมีหน้าที่ในการทำให้เลือดอุ่น ส่วนหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดดำไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันเลย เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาเมื่อเลือดมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำได้โดยการผ่าตัดนำเลือดดำออกมา ความเชื่อเหล่านี้ผิด แต่คนทั่วไปรวมถึงแพทย์ก็ยังคงให้ความเชื่อถือ จนกระทั่ง วิลเลี่ยม ฮาร์วี่ นายแพทย์ชาวอังกฤษได้ศึกษาค้นคว้า และพบความจริงเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายมนุษย์ ทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผลงานของเขาเป็นเรื่องจริง แต่นักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือ และต่อต้านเขาอีกด้วย ทำให้เขาได้รับความลำบาก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่ยอมแพ้ และในที่สุดสิ่งที่ฮาร์วี่ค้นพบก็ได้รับการยอมรับ
ที่มา https://siweb.dss.go.th