ประเพณีตักบาตรดอกไม้ นับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของอำเภอพระพุทธบาท โดยถือเอาวันเข้าพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี กำหนดให้มีงานตักบาตรดอกไม้ ประชาชนต่างพากันไปทำบุญตักบาตรเนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัด พร้อมกับถวายเทียนพรรษาแก่วัดพระพุทธบาท ซึ่งตามประเพณีชาวพุทธทั้งหลายเมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแล้วในช่วงบ่ายของวันเข้าพรรษาจะมีการตักบาตรดอกไม้ที่ บริเวณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท
ประชาชนจะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายต้นกระชาย หรือต้นขมิ้น มีดอกสีเหลือง หรือดอกสีขาว เรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" ซึ่งดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามไหล่เขา มีเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ที่จังหวัดสระบุรีเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น และในขณะที่พระภิกษุเดินขึ้นบันไดเพื่อที่จะนำดอกเข้าพรรษาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้นชาวบ้านก็จะนำขันน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำลอยด้วยดอกพิกุล นั่งรออยู่ตามขั้นบันไดเพื่อคอยที่จะ ล้างเท้าให้แก่พระภิกษุ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการชำระบาปที่ได้กระทำมาให้หมดสิ้นไป
ความเป็นมาของประเพณี ตักบาตรดอกไม้
ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีเดิมของชาวพระพุทธบาทที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนานแล้วมีการเชื่อมโยงอ้างอิงไปถึงสมัยพุทธกาลตามพุทธตำนานว่านายสุมนมาลาการมีหน้าที่เก็บดอกมะลิ ณ อุทยานหลวงวันละ ๘ กำมือ นำไปถวายพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่นายสุมนมาลาการเก็บดอกมะลิอยู่นั้น ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่ง นายสุมนมาลาการเกิดการเลื่อมใสจึงนำดอกมะลิทั้ง ๘ กำมือ ถวายบูชาพระพุทธองค์โดยมิได้เกรงพระราชอาญาจากพระเจ้าพิมพิสารที่ตนไม่มีดอกมะลิไปถวายในวันนั้นจิตของนายมาลาการมีแต่ความผ่องใส เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ได้บำเหน็จรางวัลความดีความชอบแก่นายสุมนมาลาการเป็นสิ่งของทั้งปวงนายสุมนมาลาการจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
นี่คือ อานิสงส์ที่ถวายดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าในครั้งนั้นชาวพระพุทธบาทจึงนำพุทธตำนานดังกล่าว ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญ ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี และกำหนดเอาวันเข้าพรรษาคือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปีเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้
ดอกเข้าพรรษา
ดอกเข้าพรรษา เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกดอกไม้ชนิดหนึ่ง ต้นคล้ายต้นกระชายและขมิ้นสูงประมาณ ๑ คืบเศษ บางต้นก็ผลิดอกสีเหลือง บางต้นก็มีดอกสีขาว สีม่วง ต้นดอกเข้าพรรษานี้จะขึ้นตามไหล่เขาสุวรรณบรรพต เขาโพธิ์ลังกา เทือกเขาวงและเขาพุใกล้กับพระมณฑปที่ครอบรอยพระพุทธบาท
ดอกเข้าพรรษาที่พระพุทธบาท มี ๒ สกุล
- สกุลกระเจียว มีลักษณะดอกสีขาว หรือขาวอมชมพูมีทั้งช่อดอกใหญ่และช่อดอกเล็ก
- สกุลหงษ์เหิร ลักษณะดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกบอบบาง มีก้านเกษรยาว ดอกมีหลายสีเช่น สีเหลือง เหลืองทองอมส้ม สีขาว
ในอดีต ดอกเข้าพรรษาจะงอกงาม และมีเป็นจำนวนมาก คงเนื่องมาจากธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีฝนตกตามฤดูกาล ทำให้ ไม้นานาพันธุ์ ตามภูเขา และเชิงเขา เขียวขจีไปทั่ว หรืออาจประกอบกับ ไม่มี ผู้บุกรุกทำลายป่า หาของป่ามาขาย ความ อุดมสมบูรณ์ จึงยังคงมีอยู่ครบ ดอกเข้าพรรษาจึงมี ให้ ชาวบ้าน ได้หาเก็บมาไว้ สำหรับใส่บาตร ขณะหาดอกไม้กันนั้น ก็จะพูดคุยกันด้วย ความสนุกสนาน สดชื่น เบิกบานเมื่อได้จำนวนพอเพียง ก็นำกลับมาบ้าน แล้วเริ่มด้วยการตัดแต่งใบออกเหลือแต่ช่อดอก นำมารวมกับธูปและเทียนดอกเล็กๆ มัดเป็นกำด้วยความวิจิตรบรรจง กิจกรรมของประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความเอื้อเฟื้อ
เพราะส่วนใหญ่เมื่อหาดอกเข้าพรรษามาได้ก็จะนำมาจัดเป็นช่อเป็นกำ ณ บ้านใดบ้านหนึ่ง เมื่อจัดเสร็จก็แบ่งปันกันไปจัดใส่ขันเงินและนำกลับไปบ้านของตน อาบน้ำแต่งตัวสวยงามด้วยผ้าไทยชุดไทยและนัดแนะมาพบกันอีกครั้งในเวลาบ่ายยืนเรียงเป็นแถวอยู่สองฟากทางบริเวณขึ้นสู่พระมณฑป
งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ได้มีการฟื้นฟูส่งเสริม และพัฒนาตามลำดับนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ จึงเพิ่มสีสันให้ดูดีขึ้นตามยุคสมัย
ส่วน การเก็บดอกเข้าพรรษา เอง เช่น ครั้งอดีต ก็ดูจะเลือนไปเพราะปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไปจัดหา และจัดนำมาจำหน่ายเป็นความสะดวกประการหนึ่ง ดังนั้นในส่วนของคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์บางประการ ดูจะลดน้อย และขาดหายไป เช่น ความร่วมมือร่วมแรงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ถ้าพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่า กุศโลบาย ของบรรพบุรุษ เรา ได้กำหนดวิธีการ ไว้แยบคายนักที่จะให้กุลบุตรกุลธิดามีจิตใจอ่อนโยนเข้าวัดตามผู้ใหญ่ ดังที่พบเห็น จากหลายๆ ประเพณีในอดีต เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นการขนทรายเข้าวัด ประเพณีแข่งเรือ เป็นการสร้างความสามัคคี ความเข้มแข็งและความอดทน เป็นต้น
ก่อนที่พระสงฆ์จะออกรับบาตรดอกไม้นั้น ประชาชนจะได้ดูริ้วขบวนที่สวยงามตื่นตาตื่นใจริ้วขบวนประกอบไปด้วยรถบุปผาชาติซึ่งแต่ละหน่วยงานจะจัดตกแต่งอย่างวิจิตร อลังการ มีทั้งประเภทความคิด ประเภทสวยงามและการอนุรักษ์ต่างๆ นอกจากรถบุปผาชาติแล้วแต่ละหน่วยงาน ยังจัดริ้วขบวนที่สื่อความหมายบอกให้ทราบถึง เอกลักษณ์ในท้องถิ่นของตน เมื่อขบวนเคลื่อนมาจะมีการตัดสินรถบุปผาชาติที่ชนะจะได้รับเงินรางวัล และถ้วยเกียรติยศ
ข้อมูลจาก www.watphrabuddhabat.com