ลูกเห็บ หมายถึง หยาดน้ำฟ้าที่ตกลงมาในลักษณะเป็นก้อน มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 5 – 50 มิลลิเมตร (0.2 – 2.0 นิ้ว) แต่ในบางครั้งอาจมีขนาดโตกว่าและอาจตกลงมาเป็นก้อนๆ หรือเกาะรวมกันเป็นก้อนขรุขระในประเทศไทย ลูกเห็บมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองในฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันที่ 27 เมษายน ของทุกปี กรุงเทพมหานครจะมีอากาศร้อนที่สุด จริงหรือไม่
ไม่จริงเสมอไป เนื่องจากในวันที่ 27 เมษายนของทุกปี จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพมหานครในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งควรจะทำให้กรุงเทพมหานครร้อนที่สุด แต่ส่วนมากมักมีปัจจัยอื่นที่ทำให้วันดังกล่าวไม่ร้อนที่สุดเช่น ท้องฟ้ามีเมฆมาก มีลมแรง หรือมีฝนตก เป็นต้น
หยาดน้ำฟ้า ฝน ฝนละออง ฝนซู่ ฝนชะช่อมะม่วง ฝนฟ้าคะนอง มีความหมายต่างกันอย่างไร
หยาดน้ำฟ้า หรือ น้ำฟ้า หมายถึงปรากฏการณ์ของไอน้ำที่กลั่นตัวเป็นละอองเม็ดน้ำ ตกลงมาจากเมฆถึงพื้นดินในรูปลักษณะต่าง ๆ อาจจะเป็นของเหลว เช่น ฝน หรือของแข็ง เช่น หิมะหรือลูกเห็บ
ฝน หรือ น้ำฝน หมายถึง หยาดน้ำฟ้าในรูปลักษณะของหยดน้ำซึ่งก็คือน้ำฝน ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกกว่า 0.5 มิลลิเมตร
ฝนละออง หรือ ฝนหยิม หมายถึง หยาดน้ำฟ้าที่เป็นเม็ดน้ำฝนเล็กละเอียดเป็นละอองตกค่อนข้างสม่ำเสมอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร
ฝนซู่ หรือ ฝนไล่ช้าง หมายถึงหยาดน้ำฟ้าหรือฝนตกหนักโดยกระทันหันในระยะเวลาสั้น ๆ มีเสียงดัง ฝนซู่มักตกและหยุดอย่างฉับพลันและมีการเปลี่ยนแปลงความแรงของฝนอย่างรวดเร็ว
ฝนชะช่อมะม่วง หรือ ฝนชะลาน เป็นคำที่ใช้เรียกฝนที่ตกนอกฤดูฝน ซึ่งฝนชะช่อมะม่วงเป็นฝนที่มีปริมาณไม่มาก เกิดในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ซึ่งเป็นระยะที่ไม้ผลต่างๆกำลังออกดอก โดยเฉพาะช่อมะม่วงทำให้มะม่วงติดผล และมีผลดก นอกจากนี้ชาวนาเรียกฝนนี้ว่าฝนชะลาน เพราะตกในเวลาที่กำลังทำการนวดข้าวบนลาน
ฝนฟ้าคะนอง หมายถึง หยาดน้ำฟ้าซึ่งอาจจะเป็นเม็ดฝน ลูกเห็บ หิมะ ตกหนักชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหายไปในทันทีทันใด โดยมากเกิดขึ้นพร้อมกับฟ้าคะนอง
การวัดน้ำฝนที่ตกในครั้งหนึ่ง ๆ ทำไมจึงวัดเป็นความสูงแทนการวัดเป็นปริมาตร
การวัดน้ำฝนเป็นปริมาตรนั้นปริมาณน้ำฝนที่ได้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดของสิ่งรองรับ แต่การวัดความสูงของน้ำฝน ที่วัดได้จากที่รองรับจะเท่ากันตลอดทั่วพื้นที่ที่ฝนตก ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาจึงวัดเป็นความสูง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรหรือเป็นนิ้ว สำหรับประเทศไทยใช้หน่วยเป็นมิลลิเมตร
ที่มา www.tmd.go.th
ลมชนิดอื่น ๆ
ในประเทศไทยนอกจากลมมรสุมที่พัดประจำฤดูแล้ว ยังมีลมชนิดอื่น ๆ ที่พัดในช่วงเวลาอื่นและพัดเป็นประจำในแต่ละท้องถิ่นหรือไม่
มี ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. ลมตะเภา หรือ ลมสำเภา เป็นลมที่พัดจากอ่าวไทยขึ้นมาตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากทิศใต้ไปทิศเหนือในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย
2. ลมว่าว เป็นลมเย็นที่พัดจากทางเหนือมาตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หรือจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ในฤดูหนาว ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ลมข้าวเบา” เนื่องจากเกิดในระยะเก็บเกี่ยวข้าวเบา (ข้าวที่ให้ผลเร็วซึ่งจะเก็บเกี่ยวในเดือนสิบสองทางจันทรคติ)
3. ลมอุตรา เป็นลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตอนต้นฤดูร้อนประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งก็คือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั่นเอง โดยในระหว่างนี้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อาจพัดมาได้เป็นครั้งคราวทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และอากาศแปรปรวนได้หลายวัน
4. ลมพัทยา เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในตอนต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็คือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ต้นฤดูกาลนั่นเอง
5. ลมสลาตัน เป็นลมในทะเลที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายฤดูฝน (ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) หรือหมายถึงพายุใหญ่
6. ลมตะโก้ เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้ ในตอนปลายฤดูฝนราว ๆ เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนฤดูจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมตะโก้จึงเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือตอนต้นฤดูซึ่งยังพัดไม่ค่อยจะแน่ทิศ
7. ลมบ้าหมู เป็นลักษณะลมหมุนที่มีผงฝุ่นและเศษสิ่งของต่าง ๆ ปลิวหมุนเป็นวงขึ้นไปในอากาศ ลมนี้พัดเป็นบริเวณแคบ ๆ ไม่แน่ทิศ มักจะเกิดได้บ่อยในฤดูร้อนแต่ไม่มีความรุนแรงมากนัก