อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกของภาคใต้ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่สวยงามตามธรรมชาติ รอบๆ เกาะมีปะการัง กัลปังหา ทิวทัศน์ใต้ทะเลที่งดงามและเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ คือ ภูเขาหินปูนที่มีหน้าผาเป็นชั้นๆ ถ้ำที่สวยงาม ตลอดจนชายหาดยาวสะอาด สุสานหอย มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 242,437.17 ไร่ หรือ 387.90 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้รับอิทธิพลลมมรสุมเขตร้อน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนตุลาคม มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้พัดผ่าน ลักษณะภูมิอากาศจึงแบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝน จากต้นเดือนพฤษภาคม-เดือนธันวาคม และฤดูร้อนจากต้นเดือนมกราคม-เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 17-37 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนในรอบปีเฉลี่ยประมาณ 2,231 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม และน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สำหรับพรรณไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าดงดิบ ปรากฏพบบริเวณที่เป็นเขาสูงชัน บริเวณเขาหางนาค บริเวณเขาอ่าวนาง บริเวณทิศตะวันตกของเกาะพีพีดอน และบริเวณเกาะพีพีเลส่วนใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร เป็นไม้แคระแกร็นเนื่องจากพื้นที่เป็นเขาหินปูนซึ่งมีชั้นดินบางและรับลมแรง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนหิน ตะเคียนทอง ยาง พะยอม และพืชชั้นล่างพวกจันทน์ผา หวาย ไทร และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ
ป่าชายเลน มีอยู่ในบริเวณคลองแห้ง ใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขาหางนาค และบริเวณคลองย่านสะบ้า ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบริเวณสุลานหอย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ โกงกาง แสม ตะบูน ถั่วดำ ถั่วขาว
ป่าพรุ เป็นสังคมพืชเด่นที่พบต้นเสม็ดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นสมบูรณ์ ปรากฏอยู่เฉพาะบริเวณหาดนพรัตน์ธาราเป็นบริเวณแคบๆ ประมาณ 0.32 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นหาดทรายผสมดินร่วนได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหรือเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึงมาก่อน พันธุ์พืชที่พบนอกจากเสม็ดขาวที่ขึ้นอยู่หนาแน่นแล้วได้แก่ พะยอม หว้าหิน นน เนียน และหญ้าคา
นอกจากนี้ในบริเวณอ่าวนางยังสำรวจพบหญ้าทะเล 4 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบสั้นสีน้ำตาล หญ้าผมนาง หญ้าใบมะกรูด และหญ้าเต่า
จากสภาพภูมิอากาศและสังคมพืชที่เกิดขึ้นในอุทยานแห่งชาติทำให้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมแก่สัตว์บางประเภท สามารถจำแนกออกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า กระจง ลิง ค่าง โลมาหัวขวด โลมาหัวขวดมลายู โลมาหัวบาตร โลมาจุด และโลมาขาว
นก ประกอบด้วย นกโจรสลัด เหยี่ยวแดง นกออก นกนางแอ่นกินรัง นกนางนวล
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าตนุ เต่ากระ เต่าสังกะสี ตะพาบหัวกบ ตุ๊กแก จิ้งจก จิ้งเหลน กิ้งก่า งูชนิดต่างๆ
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ คางคก อึ่งอ่าง กบ เขียด และปาด
นอกจากนี้ทรัพยากรในท้องทะเลยังประกอบด้วย ปลากระเบน ปลากระโทงแทง ปลาเก๋า ปลากะรังลายขนนก ปลากะพง ปลามง ปลาไหลทะเล ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลานกขุนทอง หอยมือหมี หอยนางรม กุ้ง ปลิงทะเล ดาวทะเล หอยเม่น แมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล และปะการัง เช่น ปะการังหนาม ปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกไม้ ปะการังเขากวาง ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังผิวถ้วยเคลือบ ปะการังดอกไม้แปลง ปะการังเห็ด ปะการังผักกาด ปะการังอ่อน เป็นต้น
ที่มา
ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2520 ให้จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่รัฐบาลพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยว มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวรต่อไป กองอุทยานแห่งชาติ จึงเสนอกรมป่าไม้ให้มีคำสั่งที่ 1261/2523 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2523 ให้ นายสันติ สีกุหลาบ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทางทะเลในท้องที่จังหวัดภูเก็ตและติดต่อจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจากการรายงานการสำรวจปรากฏว่า พื้นที่บริเวณเกาะพีพีและหมู่เกาะใกล้เคียงระหว่างจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ มีความเหมาะสมที่จะจัดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2524 และป่าไม้เขตนครศรีธรรมราชได้มีหนังสือที่ กส.0709(นศ)/269 ลงวันที่ 19 มกราคม 2525 แจ้งว่า ป่าบริเวณหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะใกล้เคียงรวมถึงหมู่เกาะพีพีในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีทิวทัศน์และธรรมชาติสวยงาม เห็นสมควรจัดเป็นอุทยานแห่งชาติอีกแห่งหนึ่ง
กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 524/2525 ลงวันที่ 14 เมษายน 2525 ให้ นายสมจิตร สภาวรัตน์ภิญโญ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจและจัดตั้งบริเวณหมู่เกาะพีพีและป่าบริเวณหาดนพรัตน์ธารา ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นอุทยานแห่งชาติ และกองอุทยานแห่งชาติเห็นสมควรทำการสำรวจบริเวณสุสานหอย 75 ล้านปี ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อีกแห่งหนึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวกัน ผลการสำรวจตามหนังสือรายงานลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 สรุปได้ว่า พื้นที่ตามแหล่งต่างๆ มีความสวยงามเป็นพิเศษ มีลักษณะเด่นหลายแห่ง มีทิวทัศน์ทางทะเลสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและมีมติเห็นชอบเมื่อ 15 มิถุนายน 2525 ในการประชุมครั้งที่ 1/2525 โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินสุสานหอย 75 ล้านปี หาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลหนองทะเล ตำบลอ่าวนาง ตำบลไสไทย และตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ประมาณ 243,725 ไร่ หรือ 389.96 กิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 100 ตอนที่ 160 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2526 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 47 ของประเทศไทย
ต่อมาได้ดำเนินการผนวกพื้นที่บริเวณสุสานหอยและเกาะใกล้เคียงเพิ่มจำนวน 12.17 ไร่ หรือ 0.02 ตารางกิโลเมตร ตามพระราชกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 65 ก ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 และต่อมาได้เพิกถอนพื้นที่บางส่วนในบริเวณเขาหางนาค ในท้องที่ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พื้นที่ 1,300 ไร่ หรือ 2.08 ตารางกิโลเมตร เพื่อใช้ในราชการกองทัพเรือ ตามพระราชกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 72ก ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2541 คงเหลือพื้นที่ทั้งหมด 387.90 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
ประกอบด้วยพื้นที่ภาคพื้นดินบนชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเขาอ่าวน้ำเมา และป่าอ่าวนาง-หางนาค และหมู่เกาะต่างๆ ธรณีสัณฐานของพื้นที่เป็นเทือกเขามีความสูงชันเรียงตัวยาวไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณชายฝั่งเป็นเขาสูงชัน ทางด้านตะวันตกมีความลาดชันมากกว่าตะวันออก ธรณีสัณฐานของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากแนวการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่เรียกว่า Indosenia Teotonic Movement และในบริเวณป่าชายเลนเขาหางนาค ริมฝั่งทะเลมีลำคลองเขากลม ได้รับน้ำจืดที่ระบายมาจากบึงขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า "หนองทะเล" ทำให้เกิดสภาพป่าชายเลน และที่ราบต่ำป่าเสม็ดบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ที่เรียกว่า "คลองแห้ง" (หาดนพรัตน์ธารา)
ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
79 หมู่ที่ 5 ต.อ่าวนาง อ. เมืองกระบี่ จ. กระบี่ 81000
โทรศัพท์ 0 7566 1145, 0 7563 7200, 0 7563 7436 โทรสาร 0 7566 1145 อีเมล aree@dnp.go.th
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ