อุทยานแห่งชาติไทรทอง อยู่ในท้องที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 199,375 ไร่ หรือ 319 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงามและอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผืนป่าบนเทือกเขาพังเหย ในช่วงต้นฤดูฝนนอกจากผืนป่าจะเขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แล้ว ที่นี่ยังงดงามโดดเด่นด้วยดอกกระเจียวที่ผลิบานอยู่เต็มท้องทุ่ง เรียกชื่อว่า ทุ่งบัวสวรรค์ มีน้ำตกไทรทองที่สวยงาม และมีหน้าผาให้ทุกคนท้าพิสูจน์ของความหวาดเสียว
เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย และป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า และภูเขาที่สวยงามยิ่ง เช่น น้ำตกไทรทอง ทุ่งบัวสวรรค์ ฯลฯ สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0602/723 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดังกล่าวข้างต้น และสำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0203/9140 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 ว่า บัดนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิกถอนป่าสงวนในส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการใช้บังคับกฎหมายสองฉบับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือที่ กษ 0713.2/43143 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2535 เห็นชอบ ในข้อสังเกตุดังกล่าวในการเพิกถอนป่าสงวนที่ทับซ้อน
สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ที่ นร 0203/855 ลงวันที่ 21 มกราคม 2536 แจ้งว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเทือกเขาพังเหย และป่านายางกลัก ในท้องที่ตำบลท่าใหญ่ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตำบลบ้านเจียง ตำบลเจาทอง ตำบลวังทอง กิ่งอำเภอภักดีชุมพล อำเภอหนองบัวแดง ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 โดยใช้ชื่อว่า “ อุทยานแห่งชาติไทรทอง “ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 77 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิอากาศ
พื้นที่ป่าแห่งนี้จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ลักษณะของฝนที่ตกส่วนมากจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นจะได้รับไม่มากนัก ฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติไทรทองอยู่ในเขตเทือกเขาพระยาฝ่อ และเทือกเขาพังเหย มีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำหลายลูกเรียงรายสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถึงสูงสุดที่ยอดเขาพังเหย 1,008 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำห้วยโป่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ล้ำน้ำเจา ลำน้ำเจียง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำชี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง พบทางตอนเหนือของเทือกเขาพระยาฝ่อ และตอนกลางของเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก กระบาก ตะเคียนหิน มะค่าโมง มะม่วงป่า ประดู นนทรีป่า สาธร และเขล็ง ฯลฯ ป่าเต็งรัง พบมากบริเวณพื้นที่สันเขาและพื้นที่ลอนลาดตอนล่างในเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ พะยอม เต็ง รัง พลวง ตีนนก กว้าว แดง รัก กระบก ส้าน ไผ่ และหญ้าชนิดต่างๆ และ ป่าเบญจพรรณ พบไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ
สัตว์ป่า ที่พบเห็นได้ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้แก่ หมูป่า อ้น อีเห็น ชะมด เก้ง กระจง กระรอก กระแต กระต่ายป่า นกตะขาบทุ่ง นกกระปูด อีกา เหยี่ยว ไก่ป่า ตะกวด แย้ ตุ๊กแก กิ้งก่า งู กบ ปาด เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ และพบปลาบางชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ