อุทยานแห่งชาติน้ำพอง เป็นชื่อเรียกตามต้นกำเนิดลำน้ำพองที่ไหลมารวมกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ (เดิมชื่ออ่างเก็บน้ำน้ำพอง) เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของจังหวัดขอนแก่น แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “น้ำพอง-ภูเม็ง” เพราะมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเทือกเขาภูเม็ง อุทยานแห่งชาติน้ำพองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่นติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง ในเขตอำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ อำเภอมัญจาคีรี และ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ประมาณ 197 ตารางกิโลเมตร หรือ 123,125 ไร่
จังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มีนาคม 2538 ขอให้กรมป่าไม้พิจารณากำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่สาม ในท้องที่จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 17 มีนาคม 2535 เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์และจุดเด่นที่สวยงาม โดยจังหวัดขอนแก่นได้แต่งตั้งคณะกรรมการทำการสำรวจปรับปรุงแนวเขตให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ทุกฝ่ายแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องแนวเขตและที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าดังกล่าว
กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าดังกล่าวปรากฏว่า พื้นที่ป่ายังมีความสมบูรณ์ หากพิจารณาตามความหมายของอุทยานแห่งชาติแล้วยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่สมควรอนุรักษ์ไว้สำหรับประชาชนจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้เคียงเพิ่มเติม ได้แก่ ป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ และป่าภูผาแดง จังหวัดชัยภูมิ และป่าโสกแต้ รวมพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นอุทยานแห่งชาติด้วย เนื่องจากยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ มีจุดเด่นและจุดชมทิวทัศน์ที่น่าสนใจ
อุทยานแห่งชาติน้ำพองได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าโสกแต้ในท้องที่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ ตำบลทุ่งโป่ง ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ ตำบลนาหว้า ตำบลหนองกุงเซิน อำเภอภูเวียง ตำบลโคกงาม ตำบลป่าหวายนั่ง ตำบลบ้านฝาง อำเภอบ้านฝาง และตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ป่าภูเม็ง และป่าโคกหลวง ในท้องที่ตำบลบ้านเม็ง ตำบลยางคำ อำเภอหนองเรือ ตำบลคำแคน ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น และตำบลสระพัง ตำบลบ้านเต่า ตำบลหนองคู อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ และป่าโคกหลวง ป่าภูผาดำ ป่าภูผาแดง และป่าโคกหลวง แปลงที่สาม ในท้องที่ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี ตำบลบ้านโคก ตำบลซับสมบูรณ์ กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และตำบลหนองสังข์ ตำบลบ้านแก้ง ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 105ก ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูกาลของอุทยานแห่งชาติน้ำพองแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะร้อนจัดในเดือนเมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำฝนจะตกมากช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศสูงทางตอนใต้ของประเทศจีน
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไป มีลักษณะสัณฐานเป็นเทือกเขาหินทรายสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางคล้ายกับเทือกเขาทั่วๆ ไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเทือกเขาเหล่านี้ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ขนานกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารส่วนหนึ่งของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ลำน้ำพอง ลำน้ำเชิญ ลำน้ำชี เป็นต้น แบ่งพื้นที่ได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่ในเทือกเขาภูพานคำ ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้อยู่ในเทือกเขาภูเม็ง พื้นที่ด้านทิศตะวันตกมีสภาพลาดชันสลับกับหน้าผาในบางช่วงจรดที่ราบอ่างเก็บน้ำด้านล่าง ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขามีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 600 เมตร
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่ประมาณร้อยละ80 ของอุทยานแห่งชาติน้ำพองปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรังโดยมีป่าเบญจพรรณ ป่าทุ่งหญ้า และป่าไผ่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบางพื้นที่ ลึกเข้าไปบริเวณตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ทั้งในเทือกเขาภูพานคำและเทือกเขาภูเม็งมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์ จัดเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ บริเวณนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งสมุนไพรที่สำคัญของอุทยานอีกด้วย พันธุ์ไม้มีค่าและพบเห็นได้ทั่วไป เช่น เต็ง รัง เหียง กระบก มะพอก ตะเคียนหิน พืชพื้นล่างจำพวกปรงป่า เถาวัลย์ ไม้หนามชนิดต่างๆ รวมทั้งสมุนไพรนานาพันธุ์อีกมากมาย
สำหรับสัตว์ป่าส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้งบริเวณเทือกเขาภูเม็ง เพราะเป็นแหล่งหากินที่อุดมสมบูรณ์และถูกรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก สัตว์ป่าที่พบเห็นเป็นสัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ หมูป่า เก้ง สุนัขจิ้งจอก เม่น นิ่ม กระต่ายป่า ไก่ป่า งู และนกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ