ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และความเหมาะสมหลายประการ สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีหนังสือเชิญชวนให้กรมป่าไม้ ร่วมเสนอข้อคิดเห็นในการจัดทำผังเมืองชุมพร เมื่อปี พ.ศ. 2529 และดำเนินการสำรวจสภาพทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดชุมพร ผลการสำรวจปรากฏว่า จังหวัดชุมพรมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ป่าชายเลน ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล แนวปะการัง ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และสภาพธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นชายหาดและเกาะทียังคงความงดงามสมควรจะได้มีการกำหนดพื้นที่บริเวณที่เหมาะสม เพื่อประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และคุ้มครอง ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการนันทนาการของประชาชน และเป็นแหล่งความรู้เพื่อประโยชน์ในการวิจัยในเชิงวิชาการ และการเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 กรมป่าไม้สั่งการให้กองอุทยานแห่งชาติ (เดิม) ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้จัดตั้งสำนักงานชั่วคราวบริเวณลานชมวิวเขาเจ้าเมืองในระยะนี้ใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติหาดทรายรี” และดำเนินการต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 จึงได้ย้ายที่ทำการชั่วคราวมาอยู่ที่บริเวณปากคลองท่าจระเข้และดำเนินการต่อเนื่องมา กระทั่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 จึงได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอย่างสมบูรณ์ตาม “ พระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าเลนอ่าวทุ่งคา ป่าอ่าวสวี และเกาะต่าง ๆ ในท้องที่ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ตำบลปากน้ำ ตำบลท่ายาง ตำบลหาดทรายรี ตำบลทุ่งคา ตำบลวิสัยเหนือ อำเภอเมืองชุมพร ตำบลวิสัยใต้ ตำบลด่านสวี ตำบลท่าหิน อำเภอสวี ตำบลปากตะโก อำเภอทุ่งตะโก ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ” โดยประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับพระราชกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร”
ที่ตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ตั้งอยู่ตามพิกัดภูมิศาสตร์ ระหว่างละติจูด 10 องศา 02’18”N-10 องศา 30’05” N และลองติจูดที่ 99 องศา 07’42”E – 99 องศา 25’45”E ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 11 ตำบลใน 5 อำเภอ ได้แก่
1. อำเภอปะทิว ได้แก่ ตำบลสะพลี
2. อำเภอเมือง ได้แก่ ตำบลปากน้ำ ตำบลท่ายาง ตำบลหาดทรายรี ตำบลทุ่งคา ตำบลวิสัยเหนือ
3. อำเภอสวี ได้แก่ ตำบลวิสัยใต้ ตำบลด่านสวี ตำบลท่าหิน
4. อำเภอทุ่งตะโก ได้แก่ ตำบลปากตะโก
5. อำเภอหลังสวน ได้แก่ ตำบลบางน้ำจืด
พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร มีพื้นที่ทั้งหมด 317 ตารางกิโลเมตร หรือ 198,125 ไร่ โดยจำแนกได้เป็น
1.พื้นที่น้ำ มีพื้นที่รวมประมาณ 165,696 ไร่ หรือประมาณ 80.5% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
2. พื้นที่บก มีพื้นที่รวมประมาณ 32,156 ไร่ หรือประมาณ 19.5% ของพื้นที่ อุทยานแห่งชาติโดยพื้นที่บกประกอบด้วย พื้นที่ป่าชายเลน 17,375 ไร่ พื้นที่เกาะ 3,219 ไร่ และพื้นที่ภูเขาและพื้นที่อื่นๆ 11,562 ไร่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร มีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ จด เกาะจระเข้ ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
- ทิศใต้ จด อ่าวท้องครก ตำบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
- ทิศตะวันออก จด เกาะง่ามใหญ่ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
- ทิศตะวันตก จด ป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา – สวี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ประกอบด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่หลากหลาย อาจแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
ชายฝั่ง เป็นชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล และกระแสน้ำในทะเลโดยตรง ลักษณะทั่วไปจะเป็นชายหาดที่เป็นทรายจนถึงเป็นโคลน บริเวณด้านหลังชายหาด อาจพบป่าชายหาด (Beach forest) ได้บ้างในบริเวณที่ไม่มีการทำสวนมะพร้าว ชายฝั่งลักษณะนี้พบได้เป็นแนวยาวตลอดชายฝั่ง โดยในส่วนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จะเริ่มจากอ่าวทุ่งมะขามน้อย อ่าวทุ่งมะขามใหญ่ อ่าวท้องตมใหญ่ หาดทรายรีสวี อ่าวมะม่วง อ่าวท้องตมน้อย หาดอรุโณทัย ชายฝั่งเกาะกระทะ และอ่าวท้องครก
อ่าวและปากคลอง เป็นบริเวณหนึ่งของชายฝั่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากการไหลลงของน้ำจืด อ่าวในที่นี้จึงหมายถึง อ่าวที่มีน้ำจืดไหลลงในปริมาณมากลักษณะโดยทั่วไปจะพบป่าชายเลน (Mangrove forest) ในบริเวณที่มีการขึ้นลงของน้ำ พื้นดินมักเป็นโคลนละเอียด โคลนจนถึงโคลนปนทราย ในบางบริเวณพบหญ้าทะเล (Sea grass) และสาหร่ายทะเล (Sea algae) เจริญเติบโตติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่มักมีระดับน้ำตื้น บางบริเวณจะปรากฏเป็นสันดอนโคลน (Mud flat) ขนาดใหญ่ ซึ่งจะโผล่พ้นน้ำเวลาน้ำลงต่ำสุด ชายฝั่งลักษณะนี้ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญที่สุดคืออ่าวทุ่งคา – สวี ซึ่งมีคลองที่มีน้ำจืดไหลลงมากกว่า 10 คลอง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ” นอกจากนี้ก็มีบริเวณปากคลองอื่น ๆ ที่มีน้ำจืดไหลลงทะเล เช่นคลองตม คลองบางหัก และคลองปากน้ำตะโก เป็นต้น บริเวณปากคลองจะพบสันดอนปากคลองซึ่งจะรูปร่างและขนาดของสันดอนแตกต่างกันออกไป
เกาะ ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีทั้งสิ้น 40 เกาะ โดยส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็ก มักปรากฏโพรงถ้ำเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เกาะที่มีขนาดใหญ่จะปรากฏชายหาดบริเวณชายฝั่งของเกาะ ซึ่งได้รับอิทธิพลของไอทะเล (Salt spray) จะปรากฏพันธ์ไม้ป่าชายหาด (Beach forest) ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากไอทะเล จะปรากฏพันธุ์ไม้ของป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) ส่วนเกาะที่มีขนาดเล็กมักเป็นพันธุ์ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ที่มีลักษณะแคระแกร็น ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ มักปรากฏแนวปะการัง (Coral reefs) ทางด้านตะวันตกของเกาะ ส่วนด้านตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำ ที่พัดมาโดยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏเป็นปะการังที่เจริญบนหิน (Coral Community on rocks)
ภูเขา ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมักมีขนาดไม่ใหญ่และสูงมากนัก เป็นภูเขาที่อยู่ติดทะเลทั้งสิ้น พันธุ์ไม้ที่ปกคลุมเป็นพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณที่เป็นหน้าผา จะเป็นพันธุ์ไม้ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ภูเขาที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีดังนี้ เขาโพงพาง สูง 145 เมตร เขาบ่อคาสูง 180 เมตร เขาประจำเหียงสูง 240 เมตร และเขากะทะสูง 300 เมตร
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าชายเลน เป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ มักปรากฏในบริเวณชายฝั่งทะเลปากคลอง ปากแม่น้ำ และก้นอ่าว ที่มีการขึ้น – ลงของน้ำ และมักเป็นบริเวณที่มีน้ำจืดไหลลงซึ่งมีผลทำให้น้ำมีความเค็มต่ำกว่าน้ำทะเล ดินที่ป่าชายเลนเจริญได้ดี มักเป็นดินโคลนเลนละเอียด ที่มักอุดมไปด้วยอินทรียวัตถุจนถึงดินที่เป็นเลนแข็ง ด้วยความแตกต่างของสภาพเนื้อดินนี่เอง ทำให้เกิดหมู่ไม้ที่แตกต่างกันออกไป ดินที่เป็นเลนละเอียดจะปรากฏไม้ในกลุ่มเบิกนำ (Pioneer species) จำพวกไม้แสม (Avicennia sp.) ไม้ลำพูทะเล (Sonneratia sp.) ตลอดจนไม้โกงกาง (Rhizophora sp.) ส่วนบริเวณที่ดินเลนแข็งตัวมากขึ้น มีการขึ้น – ลงของน้ำน้อย ก็จะปรากฏไม้จำพวก ไม้ถั่วและไม้พังกาหัวสุม (Bruguiera sp.) ไม้โปรง (Ceriop sp.) ไม้ตะบูน (Xyiocarpus sp.) ไม้ฝาด (Lumnitzera sp.) และไม้เหงือกปลาหมอ (Acanthus sp.) เป็นต้น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ป่าชายเลน ที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์อยู่ประมาณ 17,357 ไร่ ซึ่งเกือบทั้งหมดพบได้ในบริเวณอ่าวทุ่ง – สวี โดยปรากฏอยู่ตามชายฝั่งของอ่าวตลอดเข้าไปตามริมคลองต่าง ๆ บริเวณที่ปรากฏป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ไม้ขนาดใหญ่และมีอายุมาก พบในบริเวณคลองชุมพร คลองสวี และคลองสวีเฒ่า
ป่าชายหาด เป็นสังคมพืชบริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นทราย ได้รับไอเค็มจากทะเล (Salt spray) ดังนั้นจึงพบป่าชายหาดได้ในบริเวณที่เป็นหาดทราย ทั้งชายฝั่งบนแผ่นดินและบนเกาะ ในปัจจุบันปัญหาการจับจองพื้นที่บริเวณหลังชายหาด เพื่อทำการเกษตร เช่น ทำสวนมะพร้าวและการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว และที่พักอาศัยเช่น ทำรีสอร์ท และร้านอาหาร ได้ทำลายพื้นที่ป่าชายหาดลงเป็นอันมาก ป่าชายหาดที่ยังหลงเหลืออยู่จึงเป็นเพียงหย่อมเล็ก ๆ เท่านั้น พันธุ์ไม้ที่ปรากฎในป่าชายหาด มักมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นคดงอ กิ่งสั้น แตกกิ่งก้านมาก ใบหนาแข็งและมักมีหนาม ทั้งนี้เนื่องจากอิทธิพลของลมทะเล และความแห้งแล้งของพื้นที่ ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เหลือพื้นที่ป่าชายหาดอยู่ไม่มากนัก บริเวณชายหาดบนเกาะ และชายฝั่งในบางช่วง ที่ไม่มีการบุกรุกส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นหย่อมเล็กๆ
ป่าดงดิบ เนื่องจากพื้นที่บกในอุทยานแห่งชาติมีขอบเขตพื้นที่น้อยจึงพบสังคมพืชป่าดิบชื้นได้เพียงในบริเวณที่เป็นภูเขาและบนเกาะ ที่มีขนาดใหญ่ เช่นเกาะเสม็ด เกาะมาตรา เกาะกุลา เป็นต้น ป่าดิบชื้นเป็นป่าไม่ผลัดใบ เนื่องด้วยอิทธิพลของปริมาณน้ำฝนที่มีปริมาณค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดปี พันธุ์ไม้ในป่าดิบชื้นมักมีความหลากหลายของจำนวนชนิดพันธุ์พืชสูงมากและมีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่มักพบในป่าดิบชื้นซึ่งถือเป็นดัชนี (Index) ของป่าดิบชื้น คือไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarpaeeae) เช่น เคี่ยม ตะเคียนทอง กะบาก ไข่เขียว เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีไม้ในวงศ์ อื่น ๆ เช่น ตะแบก นนทรี มังตาล บุนนาค ตาเสือ หวาย และปาล์มต่างๆ เป็นต้น
สังคมพืชบนหน้าผาหินปูน เป็นสังคมพืชที่มีลักษณะพิเศษพบตามบริเวณหน้าผาสูงชัน พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่จัดเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง (Xerophyes) เจริญเติบโตช้า มีขนาดเล็ก มักมีลักษณะทรงพุ่มลู่ ไปตามแรงลม เนื่องจากบริเวณหน้าผามักได้รับอิทธิพลจากกระแสลมอยู่เสมอ เนื่องจากเกาะขนาดเล็กที่มีหน้าผาลาดชัน จึงพบสังคมพืชแบบนี้ได้ตามเกาะต่าง ๆ เกือบทุกเกาะหากเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่จะพบได้มาก ในด้านที่เป็นหน้าผาลาดชันและรับลมซึ่งมักเป็นด้านตะวันออกของเกาะ
แหล่งหญ้าทะเล เป็นสังคมพืชทางทะเล รูปแบบหนึ่งพบตามบริเวณชายฝั่งที่มีคลื่นลมสงบ หญ้าทะเลมักเจริญงอกงาม ติดต่อกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่โดยมักเจริญ ปะปนกันหลายพันธุ์พืช แต่บางครั้งหากชนิดพืชใดครอบครองพื้นที่ได้ดีก็จะพบเพียงชนิดเดียว ในบางพื้นที่อาจพบการเจริญปะปนกัน ระหว่างหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเล พื้นที่ที่พบมักเป็นพื้นที่ดินโคลนปนทรายแหล่งหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาศัยแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารหลักของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล ที่จำนวนเหลืออยู่น้อยมาก และอยู่ในสภาพสัตว์ป่าสงวนนั้นคือ พะยูน (Dugong dugon) แหล่งหญ้าทะเล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ปรากฎอยู่ในอ่าวทุ่งคา – สวี บริเวณปากคลองสวีเฒ่า ปากคลองสวี และปากคลองชุมพร ชนิดของหญ้าทะเลที่สำรวจพบปัจจุบันพบเพียงชนิดเดียวคือ หญ้าชะเงาแคระ(Harophila beccarii) แต่คาดว่ายังคงสามารถพบเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 – 3 ชนิด หากได้มีการสำรวจเพิ่มเติม
สัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร
เนื่องจากพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร มีความแตกต่างกันออกไปหลายลักษณะทั้งป่าชายเลน ภูเขา เกาะ ถ้ำ ชายหาดและทะเล จึงพบสัตว์ได้หลากหลายชนิดในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญได้แก่ นกทะเลหลายชนิด เช่น นกในวงศ์นกยาง วงศ์นกชายเลน วงศ์นกนางนวล วงศ์นกกระเต็น วงศ์นกกาน้ำ วงศ์นกช้อนหอย วงศ์นกอีแอ่น เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลายหลายชนิด เช่นตะกวด เหี้ย งูเหลือม เต่ากระ เต่าตะนุ และงูทะเล เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นลิงแสม ค้างคาวแม่ไก่เกาะ โลมา และวาฬ ส่วนใต้ท้องทะเลพบว่ามีปริมาณของสัตว์ทะเลมากมาย และหลากหลายชนิดที่สำคัญ เช่น ปลา หอย ปะการังดำ ดอกไม้ทะเล ถ้วยทะเล และพรมทะเล พบว่ามีปริมาณและความหลากหลายสูงมากที่สุดแห่งประเทศไทย
ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล พื้นที่รอบหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นแนวปะการังและกองหินใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตทางทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่ง สัตว์ทะเลหลากรูปแบบและชนิดพันธุ์ได้เข้ามาอาศัยแนวปะการัง เพื่อเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และผสมพันธุ์วางไข่ โครงสร้างทางระบบนิเวศของแนวปะการัง จึงมักมีความซับซ้อนในด้านองค์ประกอบ สิ่งมีชีวิตและหน้าที่ในระบบนิเวศ โดยทั่วไปแนวปะการัง จะเป็นบริเวณที่ให้ความรู้สึกงดงามและแปลกตาแก่ผู้พบเห็น การดำน้ำเพื่อดูสัตว์ทะเลและปะการังต่างๆ จึงเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ
นอกจากประโยชน์ในแง่การเป็นระบบนิเวศและแหล่งนันทนาการที่สำคัญแล้ว แนวปะการังยังถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมวัสดุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย แนวปะการังในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร พบได้ตามเกาะต่างๆ แนวปะการังเกาะตัวได้ดีทางทิศตะวันตก และทิศใต้ของตัวเกาะเนื่องจากเป็นด้านที่กำบังคลื่นลมจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะทั่วไปเป็นแนวปะการังริมฝั่ง (Fringing reef) ก่อตัวได้ตั้งแต่ความลึก 1-8 เมตร ความกว้างของแนวประมาณ 35-500 เมตร ปะการังที่พบมักเป็นปะการังแข็ง เช่น ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปะการังโขด (Porites lutea) โดยด้านนอกของแนวที่เป็นแนวลาดชัน (Reef slope) สู่พื้นทะเล มักพบปะการังโขดที่เป็นก้อนขนาดใหญ่ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของเกาะที่ได้รับอิทธิพลของคลื่นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบปะการังที่ก่อตัวบนโขดหินมักพบเป็นพวกปะการังอ่อน (Soft coral) ปะการังเคลือบ (Encrusting coral) ปะการังดำ (Black coral) แส้ทะเล (Sea whip) และกัลปังหา (Sea Fan) เป็นต้น
ลักษณะเด่นของแนวปะการังบริเวณเกาะต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร คือองค์ประกอบสิ่งมีชีวิต ในแนวปะการัง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากบริเวณอื่นๆ ดังนี้
- เป็นบริเวณที่พบปะการังดำ (Black coral) ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่มของกัลปังหามากที่สุดในประเทศไทย
- พบสัตว์ในกลุ่มของปะการังอ่อน (Soft coral)
- ถ้วยทะเล (Corallimorph) พรมทะเล (Zooanthid) และดอกไม้ทะเล (Sea anemone) ขนาดใหญ่มากที่สุดในอ่าวไทย
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากที่สุดในอ่าวไทย
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์หอยมาก เป็นจุดสำรวจที่น่าสนใจมากที่สุดในอ่าวไทย
ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะทางธรณีวิทยา บริเวณรอบเกาะต่างๆ เช่น เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ มักปรากฏเป็นโพรงถ้ำใต้ทะเล บางแห่งมีความยาวมากกว่า 15 เมตร และกว้างกว่า 10 เมตร ภายในถ้ำมักพบฟองน้ำ ปะการัง และสัตว์ทะเลหลายชนิด อาศัยอยู่ภายใน นอกจากนี้บริเวณเกาะง่ามใหญ่และเกาะง่ามน้อย ยังพบเห็นฉลามวาฬ (Whale shark) ซึ่งถือเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้บ่อยครั้ง แนวปะการังน้ำตื้น เหมาะกับการดำชมแบบผิวน้ำ (Snorkeling) พบได้ในบริเวณเกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะรังกาจิว เกาะละวะ เกาะแกลบ และเกาะอีแรด เป็นต้น ส่วนบริเวณที่เป็นแนวปะการังน้ำลึก จะเหมาะกับการดำน้ำลึกโดยใช้ถังอากาศ (SCUBA) พบในบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย และเกาะหลักง่ามเป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป