อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมในท้องที่อำเภอปราณบุรี กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม เพื่อให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา และรื่นรมย์ของประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีภูมิอากาศจัดอยู่ในประเทศฝนเมืองร้อน เฉพาะฤดู (Tropical Savannah Climate) กล่าวคือ อุณหภูมิจะสูงตลอดทั้งปี และมีช่วงแล้งที่เห็นได้ชัดในรอบปี ทั้งนี้ตามระบบการจำแนกทางภูมิศาสตร์ ลักษณะข้างต้นเป็นภูมิอากาศแบบกึ่งชื้นแล้ง โดยมีช่วงกลางวันยาวในฤดูร้อน และกลางวันสั้นในฤดูหนาว จะมีช่วงที่มีน้ำมากเกินเพียงพอเป็นระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่มีเลย มีฤดูใหญ่อยู่ 3 ฤดู คือ
ฤดูฝน
จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมนี้พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย โดยฝนจะหนักในเดือนพฤษภาคม แล้วฝนจะทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นฝนจะตกหนักในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,179 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว
เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งลมนี้จะพัดมาจากบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลจีนใต้ซึ่งจะพัดเอาความร้อนชื้นมา อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 25 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน
เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนพฤษภาคม โดยระยะนี้เป็น ช่วงรอยต่อของฤดูลมมรสุมหลังจากสิ้นฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน และมีอากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายร้อนลงไป อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 29 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พลอง ทะลายเขา เขล็ง กระชิด พลวง สมอ ตะเคียนหิน มะไฟป่า พืชตระกูลปาล์มชนิดต่างๆ เช่น หมากเขียว หวายชนิดต่างๆ เต่าร้าง โดยเฉพาะหวายมีเป็นจำนวนมาก พืชชั้นล่างหลายชนิด เช่น พวกพืชในวงศ์ขิง ข่า เฟิน บอน เป็นต้น
สำหรับสัตว์ป่ายังมีชุกชุม เนื่องจากมีแหล่งน้ำและอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าทั่วไป ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า หมี เก้ง สมเสร็จ ชะนี ลิง ค่าง เลียงผา กระจง หมูป่า กระต่ายป่า ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีนกชนิดต่างๆ เช่น นกกาฮัง ไก่ป่า นกระวังไพร นกกางเขนดง นกเขา นกยางกรอก นกยางแดง และยังมีสัตว์เลื้อยคลานได้แก่ เต่า ตะพาบน้ำ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ได้แก่ กบทูด คางคก เขียด และปลาชนิดต่างๆ
ข้อมูลจาก เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเขาขวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี อันเป็นเทือกเขาซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ซึ่งมีสภาพพื้นที่แบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ แบบลูกคลื่นลอนชั้นถึงเนินเขา มีความลาดชันประมาณ 80-100 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่สับปะรด อ้อย ผักต่างๆ และแบบภูเขา ประกอบด้วยภูเขาสูงชัน ลาดชันประมาณ 35% และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 750 เมตรขึ้นไป ประกอบด้วยเขาวังไทรดิ่ง เขาหนองหว้า..เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตะลุยแพรกขวา ห้วยตะลุยแพรกซ้าย คลองกุย เป็นต้น
ความเป็นมา
จากสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันพบว่า พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายจนน่าวิตกว่าจะมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะรักษาสภาพสมดุลธรรมชาติเอาไว้ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดกรณีอันน่าสลด หากไม่เร่งดำเนินการรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้ ดังนั้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่ง ที่ 475/2532 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2532 ให้ นายจุมพล เจริญสุขพาณิชย์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานปราณบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า-คลองคอย และกรมป่าไม้มีคำสั่ง ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้นายสรรเพชร ราคา เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยให้ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ผลการสำรวจพบว่า สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าผืนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกติดต่อกับชายแดนพม่า เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี ประกอบด้วยป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หนาแน่นด้วยพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจมากมาย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งราษฎรได้บุกรุกพื้นที่ใช้ในการเพาะปลูก ส่วนใหญ่ทำไร่สับปะรด และเป็นที่อยู่อาศัย ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจที่ กษ 0713(กร)/19 ลงวันที่ 29 มกราคม 2536
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2537 สมควรกำหนดพื้นที่ป่ากุยบุรีให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการเพิกถอนป่ากุยบุรี และดำเนินการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แล้ว ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมด 605,625 ไร่ โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่ากุยบุรี ในท้องที่ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี ตำบลศิลาลัย ตำบลศาลาลัย ตำบลไร่เก่า ตำบลไร่ใหม่ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี ตำบลหาดขาม ตำบลสามกระทาย ตำบลกุยบุรี และตำบลบ่อนอก ตำบลอ่าวน้อย ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 20ก วันที่ 25 มีนาคม 2542 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 90 ของประเทศ