อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอน้ำยืน กิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีเนื้อที่ประมาณ 81,250 ไร่ หรือ 130 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารทางด้านบริเวณผามออีแดง ท้องที่ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จัดได้ว่าสะดวกที่สุด
พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งลำโดมใหญ่ ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 2 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา ซึ่งได้ทำความตกลงกับกรมป่าไม้ กำหนดพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้ขอให้กรมป่าไม้กำหนดและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ผลจากการสำรวจเพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติปรากฏว่า สภาพป่าของพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ อยู่ในป่าโครงการไม้กระยาเลยป่าเขาพระวิหาร (ศก.7) ผ่านการทำไม้แล้ว กับอีกส่วนหนึ่งอยู่ในป่าโครงการไม้กระยาเลยป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ (อบ.2) มีทัศนียภาพและทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น จุดชมวิวผามออีแดง จุดชมวิวหน้าผาช่องโพย บริเวณป่าและสวนหินรอบสระตราว ถ้ำฤาษี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำใต้ผามออีแดง น้ำตกผาช่องโพย จุดชมวิว ภูเซี่ยงหม้อ ปราสาทโดนตาลและที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ ปราสาทเขาพระวิหาร โบราณสถานสำคัญเก่าแก่ที่เคยเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.2505 ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ตกเป็นสมบัติของประเทศกัมพูชาแล้วโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารนั้นอยู่ด้านพื้นที่ของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผ่านและอาศัยพื้นที่ทางขึ้นด้านบริเวณผามออีแดงที่จังหวัดศรีสะเกษ จัดว่าสะดวกที่สุด เพราะฉะนั้นการที่ชาวไทยหรือชนชาติต่างๆ ที่ต้องการเดินทางไปศึกษาหาความรู้และพักผ่อนหย่อนใจบนปราสาทเขาพระวิหาร จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยโดยจังหวัดศรีสะเกษได้ประสานงานตกลงกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องการขอใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวของสถานที่บริเวณส่วนบนปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้ร่วมกัน
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ในท้องที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน ตำบลโคกสะอาด กิ่งอำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน จังหวักอุบลราชธานี และป่าเขาพระวิหารในท้องที่ตำบลเสาธงชัย ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ลาดเอียงไปทางทิศเหนือกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเนินเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-500 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยลำธารต่างๆ ได้แก่ ห้วยตามาเรีย ห้วยตานี ห้วยตาเงิด ห้วยตุง ห้วยตะแอก และห้วยบอน เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพดิน ฟ้า อากาศ ในท้องที่ป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – ตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันเป็นเนินเขา สภาพป่าประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้จะคละปะปนกันมาก เช่น ประดู่ มะค่าโมง แดง ชิงชัน ตะแบก มะเกลือ งิ้วป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างมีหญ้าและไผ่ชนิดต่างๆ ป่าเต็งรัง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พืชชั้นล่างมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะหญ้าแพ้ว พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง พยอม เขลง ตะคร้อ ฯลฯ ป่าดิบแล้ง พบบริเวณที่ราบเรียบหรือหุบเขา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียน พะยุง สมพง กระเบากลัก กัดลิ้น ข่อยหนาม ยาง กระบก ฯลฯ พืชพื้นล่างมีหวาย และพืชในตระกูลขิงข่าต่างๆ
เนื่องจากสภาพป่าของป่าเขาพระวิหารและป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บนเทือกเขาพนมดงรักยังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ทั่วไป เช่น หมูป่า ลิงแสม พังพอนธรรมดา กระต่ายป่า หนูท้องขาว กระรอกหลากสี กระแตเหนือ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ นกนางแอ่นลาย นกเขนน้อยปีกแถบขาว นกปรอดทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกกินแมลงอกเหลือง นกปีกลายสก็อต จิ้งจกดินลายจุด ตุ๊กแกเขาหินทราย กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนภูเขาเขมร ตะกวด งูดิน งูเหลือม งูแม่ตะงาว งูหัวกะโหลก กบหนอง เขียดจะนา กบหลังขีด กบนา ปาดบ้าน อึ่งข้างดำ และกบอ่อง เป็นต้น ในบริเวณพื้นที่แหล่งน้ำมีปลาหลากชนิดอาศัยอยู่ เช่น ปลากระสูบจุด ปลาตะเพียนทอง ปลานวลจันทร์เทศ ปลาช่อน ปลาหมอเทศ และปลาดุกด้าน เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ
ปราสาทเขาพระวิหาร
ปราสาทเขาพระวิหาร หรือในภาษาเขมรเรียกว่า เปรี๊ยะวิเฮียร์ ตั้งอยู่บนเขาสูงซึ่งอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา แต่ทางขึ้นชมปราสาทนั้นอยู่ในเขตไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ของ อช. เขาพระวิหาร ด้วยเหตุนี้นักท่องเที่ยวจึงต้องเสียค่าเข้าชมสองครั้ง คือ ค่าธรรมเนียมเข้าเขต อช. เขาพระวิหาร และค่าขึ้นชมปราสาทเขาพระวิหาร
ไทยกับกัมพูชาเคยเกิดกรณีพิพาทเรียกร้องความเป็นเจ้าของปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา
ที่ตั้ง ติดเขตชายแดนประเทศไทย บริเวณผามออีแดง ต.เสาธงชัย อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ
ประวัติ ปราสาทเขาพระวิหารอยู่บนยอดเขาพระวิหาร สูง657 ม. อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายที่เชื่อว่าพระศิวะซึ่งเป็นเทพเคารพสูงสุดและเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สถิตอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ
ยอดเขาพระวิหารยังถือเป็นเขตภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งของชนพื้นเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งชุมชนอยู่รอบเขาพระวิหาร ก่อนที่จะสถาปนาให้สถานที่แห่งนี้เป็น ศรีศิขเรศวร ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งขุนเขา” เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของพระศิวะ ตามความเชื่อของขอม
สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ทรงสถาปนาให้เขาพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่เรียกกันว่า กมรเตงชคตศรีศิขเรศวร เพื่อหลอมรวมคนพื้นเมืองซึ่งมีทั้งจาม ขอม ส่วย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระบบความเชื่อเดียวกัน ปราสาทเขาพระวิหารจึงเป็นศูนย์กลางความเชื่อ เป็นศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมการนับถือบรรพบุรุษของชนพื้นเมือง มีการอุทิศถวายที่ดิน ข้าทาส วัตถุสิ่งของแด่ปราสาทเขาพระวิหารปราสาทเขาพระวิหารจึงเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของทั้งกษัตริย์ขอมโบราณและกลุ่มคนพื้นเมืองบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเดิมมีชื่อว่า กุรุเกษตร สันนิษฐานว่าปัจจุบันคือพื้นที่ อ. กันทรลักษ์ อ. ขุขันธ์ จ. ศรีสะเกษ
ปราสาทเขาพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือหันมาทางฝั่งไทย ระยะทางจากจุดเริ่มต้นเชิงเขาไปจนถึงปรางค์ประธานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาประมาณ 850 ม. หรือเกือบ 1 กม. แบ่งออกเป็นสี่ระดับ แต่ละระดับเป็นที่ตั้งของอาคารรูปกากบาท หรือที่เรียกว่าโคปุระ ซึ่งเป็นพลับพลาหรือซุ้มประตูทางเข้าปราสาท
ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้ เดิมเคยอยู่ในความดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณวัตถุสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พุทธสักราช 2505 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลก และยังคงเป็นของกัมพูชาอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา https://nairobroo.com