วันรำลึก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"
วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อ พระองค์ท่าน เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้รทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการ วางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศในกาลต่อมา
ประวัติวันมหิดล
ในปี พ.ศ. 2493, 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสต์ได้ร่วมใจกันส้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม เพื่อน้อนเกล้าถวาย ความกตัญญูกตเวทีและเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาลเป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่งหลังได้จำเริญ ตามรอยพระยุคลบาทสืบไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธี เปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 27 เมษายน 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ พร้อมด้วย ศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่า วันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2499 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และ การนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป
พระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติม ครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐาน และบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
กิจกรรมขายธง
ชาวศิริราชมีประเพณีหนึ่ง ในวันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของทูลกระหม่อมสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร คือ นักศึกษาแพทย์ โดยการชักนำของอาจารย์ จะร่วมกันทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่สถานศึกษา เป็นการปฏิบัติที่ถือเหมือนฝึกนักศึกษาแพทย์ให้รู้จักทำคุณประโยชน์ให้กับสถานศึกษา และเมื่อต่อไปจะได้รู้จักทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติตามแบบที่ทูลกระหม่อมได้เคยปฏิบัติมาแล้วขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่
ในปี พ.ศ. 2503 นี้การทำประโยชน์ได้ขยายวงกว้างออกไป คือคณะกรรมการประจำคณะฯ บางท่าน (นพ.กษาน จาติกวนิช) มีความเห็นว่าขณะนี้โรงพยาบาลศิริราชได้ดำเนินกิจการช่วยเหลือประชาชนอยู่มาก จนประชาชนมีความปรารถนาที่จะช่วยกิจการของโรงพยาบาลเป็นการตอบแทนบ้าง แต่บางคนก็มีทุนทรัพย์น้อยไม่กล้าที่จะมาบริจาค กลัวทางการจะเห็นเป็นอย่างอื่นไป ฉะนั้นถ้าจะกระทำการใดให้ประชาชนได้ร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย, ไม่ให้ถึงกับเป็นภาระแก่ประชาชน เข้าใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ฉะนั้นคณะฯ จึงได้ขอร้องชักชวนนักศึกษาทั้งฝ่ายแพทย์และพยาบาลออกทำการเรี่ยไรเนื่องในวันมหิดลเพียงครั้งเดียวในปีหนึ่ง ๆ การเรี่ยไรนี้ คณะฯ ได้ทำเป็นธงเล็ก ๆ มีพระรูปทูลกระหม่อมพิมพ์ไว้เป็นสัญลักษณ์ของวันนั้นแลกกับเงินที่บริจาค
คณะฯได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีแพทย์ พยาบาล, เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค และนักศึกษาแพทย์ดังมีชื่อต่อไปนี้ นพ.สุดแสงวิเชียร เป็นประธานกรรมการ, นพ.กษาน จาติกวนิช ทำหน้าที่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขออนุญาตทำการเรี่ยไรและโฆษณากับจัดรถ, นพ.เสนอ อินทรสุขศรี ทำหน้าที่โฆษกกับจัดรถ, นพ.ดำรง เพ็ชรพลาย จัดนักศึกษาเป็นหน่วย พญ.เพทาย ศิริรการุณ จัดนักศึกษาหญิงและเป็นเหรัญญิก สำรวจและจัดแบ่งธงออกเป็นจำนวนย่อยมอบแต่ละหน่วย นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทำกระป๋องบรรจุเงินเรี่ยไร , นพ.นันทวัน พรหมผลิน และคุณกอง สมิงชัย ออกแบบธงและไปจ้างทำกับเขียนป้านโฆษณา, คุณหญิงพิณพากย์พิทยาเภท, คุณนพรัตน์ สุรพิพิธ, คุณสอางค์โสม อาศนสถิตย์ จัดนักเรียนพยาบาลเข้าสมทบหน่วย แต่ละหน่วยประกอบด้วย นักศึกษาแพทย์ชายหนึ่ง, นักศึกษาแพทย์หญิงหนึ่ง และนักเรียนพยาบาลหนึ่ง
ปรากฏว่าทุกคนได้ร่วมมือกันทำงานอย่างดี ฝ่ายหญิงออกเรี่ยไรขอให้คนซื้อ ฝ่ายชายเป็นฝ่ายรับเงิน นอกจากแพทย์และพยาบาลแล้วคณะกรรมการประกอบด้วยนักศึกษาแพทย์ คือ นายปรีชา สิงหเดช นายกสโมสร, นายวิทูร แสงสิงแก้ว อุปนายก, นายเตชะทัด เตชะเสน ปฏิคม ได้ทำหน้าที่อย่างดีในการจัดหน่วยเข้าประจำรถผ่านสายทางเดินที่กำหนด นอกนั้นมีหัวหน้านักศึกษา หัวหน้าและรองหัวหน้าแต่ละชั้น มีนายปะดับ สุขุม, น.ส.แสงจันทร์ แสงวิเชียร, นายทัศนะ สุวรรณจูทะ, น.ส.เฟื่องฟ้า ฤทธาคนี, นายเต็กเมี้ยง แซ่ตง, น.ส.เบญจมาศ ปุณหะหิตานนท์, นายวิศาล สุริยัน, นายสุรพงษ์ อำพันวงศ์, นายฉมาพรรณ ปรปักษ์ขาม ได้ออกรถตระเวนตรวจตามหน่วยต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ในการเรี่ยไรดำเนิน ไปโดยเรียบร้อย นับเป็นการร่วมมือกันอย่างน่าชื่นชมยิ่ง ทั้งนี้เพราะคณะกรรมการมีเวลาเตรียมงานเพียง 15 วันเท่านั้น ทางฝ่ายนักศึกษาทั้งแพทย์และพยาบาลก็ได้ให้ความร่วมมืออย่างดีเกินความคาดหมาย ทางผู้ใหญ่เกรงว่านักศึกษาเหล่านั้นจะรู้สึกกระดากเพราะบางคนไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน แต่เป็นที่น่าปลื้มใจคือมีนักศึกษามาสมัครช่วยเกินจำนวนที่ต้องการ และในตอนเช้าของวันมหิดลและก่อนหน้ายังมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล และนักศึกษามาขอรับธงออกไปเรี่ยไรอีกหลายราย
การเตรียมงานมีการขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะทุกคนยังใหม่ต่องานแบบนี้ทั้งสิ้น แต่ถึงกระนั้นโดยความพร้อมเพรียงของนักศึกษาที่ได้ถือเวลาตามกำหนดนัดเป็นสำคัญ, ทำให้สามารถออกรถได้เมื่อ 7.15 น. ตามกำหนดรถได้ไปส่งนักศึกษาตามหน่วยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อย
การเรี่ยไรได้ทำกันมาก่อนหน้านี้บ้าง แต่เวลาที่ไปเรี่ยไรประชาชน คงเป็นระยะเวลา 7.30 น.กับ 12.00 น. ของวันมหิดลเท่านั้น แต่ผลที่สนองกลับมานับว่าเกินคาด มีหลายท่านที่ได้ทราบมาก่อนเนื่องจากมีการโฆษณาโดยทางวิทยุและโทรทัศน์, และมีอีกหลายท่านที่พึ่งมาทราบเอาเช้าวันนั้นเอง แต่เงินที่เรี่ยไรได้ก็เกนกว่าจำนวนธง คือได้เงิน 69,758.45 บาท มีหลายท่านบริจาคเกินกว่าราคาธงหลายร้อยเท่า (ธงอันละ 1 บาท) เด็ก ๆ บางคนอยากจะร่วมบริจาคด้วยแต่มีเงินไม่ถึงก็มาขอรับธงแล้วบริจาคให้ตามศรัทธา ในการรับเงินปรากฏว่ามีธนบัตรดอลล่าร์ 1 ฉบับ เหรียญ 10 เซ็นต์ 1 อัน, เหรียญ 5 เซ็นต์ 1 อัน แสดงว่าชาวต่างประเทศก็เข้าร่วมมือในการบริจาคนี้ด้วย
ความสำเร็จครั้งนี้นอกจากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์และนักเรียนพยาบาลที่ได้ทำงานหนักชักจูงประชาชนแล้ว ยังได้ชี้ให้พวกเราเห็นความข้อหนึ่งชัดเจนว่า ประชาชนมีความเชื่อถือ และไว้วางใจในกิจการของสถานพยาบาลแห่งนี้ ทุกแห่งที่นักศึกษาไปได้รับการต้อนรับอย่างดี บางแห่งเลี้ยงน้ำ เลี้ยงขนม บางแห่งมอบเช็คมาให้ มีบางท่านบอกว่ายินดีช่วยเหลือเพราะเคยได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจากโรงพยาบาล ฉะนั้นข้าพเจ้าหวังว่าการรับรองนี้คงจะเป็นกำลังใจให้พวกเราประกอบกรณียกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชน คำพูด การกระทำ การแสดงเมตตากรุณาโดยประการใด ๆ ต่อประชาชนที่มีความทุกข์เนื่องจากความเจ็บไข้ ย่อมไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดเป็นกุศลเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความรักความนับถือเหมือนเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ทำให้ประกอบกิจการใดย่อมสำเร็จได้ดังประสงค์เช่นการกระทำในครั้งนี้ ฉะนั้น ขอให้พวกเราตั้งปณิธานว่า ประชาชนทุกคนเป็นพี่น้องร่วมชาติ ในฐานะที่เราเป็นแพทย์เป็นพยาบาลมีหน้าที่เปลื้องทุกข์ บำรุงสุข ถ้าได้ทำกิจการใดให้ประชาชนพ้นทุกข์ได้ เราย่อมมีชื่อว่าได้ประกอบกรรมทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ได้รับมอบหมายจากชาติแล้ว
อนึ่ง การออกไปเรี่ยไรครั้งนี้มีบางหน่วยถูกบางคนโจมตีเอา หากว่ากระทำการไม่สมกับเกียรติของผู้ที่ต่อไปจะเป็นแพทย์พยาบาล ทั้งนี้ขอเรียนให้ทราบว่าการที่ให้นักศึกษาออกไปเรี่ยไรนี้ เป็นการเพิ่มพูนเกียรติแก่นักศึกษาของเราสามารถทำงานทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาก็รวบรวมขึ้นเป็นกองทุนทั้งสิ้น แม้แต่น้ำสักแก้ว เงินสักบาททางการก็ไม่ยอมออกให้ ถือว่าทุกคนยอมเสียสละเพื่อทำกิจการนี้เท่าเทียมกัน ทูลกระหม่อมฯ เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เสด็จข้ามจากท่าพระจันทร์มาศิริราชก็อาศัยเรือจ้างร่วมมากับสามัญชนเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีเรือพิเศษมาคอบรับส่ง ทูลกระหม่อมฯ ประคองหญิงจีนชราขึ้นจากเรือก็ไม่กระทำอย่างฉันเป็นเจ้าหญิงและหญิงจีนชรานั้นเป็นข้า พระเกียรติของทูลกระหม่อมฯ ไม่ได้ลดลงเลย กลับนับวันจะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน เพื่อรวบรวมเงินมาสมทบเพื่อกิจการของส่วนรวมจึงไม่ควรจะถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกียรติ กลับจะได้แต่การสรรเสริญ และชื่นชมในการกระทำของนักศึกษาจากประชาชนโดยทั่วกัน
ที่มา https://www.si.mahidol.ac.th
https://irrigation.rid.go.th/rid15/ppn/Datebook/24%20September/Mahidol.html
พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
จำแนกเป็นข้อใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. ทรงส่งบุคคลไปศึกษาวิชาต่างประเทศด้วยทุนส่วนพระองค์ พระราชทานทุนการศึกษา ให้มหาวิทยาลัยเพื่อเก็บดอกผลส่งคนไปศึกษาต่างประเทศ เรียกว่าว "ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์"
2. พระราชทานทุนเพื่อค้นคว้า และการสอนในโรงพยาบาลศิราราชซึ่งนับว่าเป็นทุนแรกของทุน ประเภทนี้ในประเทศไทย
3. ทรงเป็นผู้แทนของรัฐบาลทำการติดต่อมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ให้ช่วยเหลือปรับปรุงการศึกษาแพทย์และพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล
4. พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราชอันรวมทั้ง ที่ดินและอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่เรียน หอผู้ป่วย และหอพักนักศึกษาแพทย์และพยาบาล ติดต่อกันเป็นระยะเวลา ไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระราชทานเพื่อประโยชน์ ของการแพทย์ด้วยประการตาง ๆ รวมทั้งที่มอบไว้เป็นมาดกอีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการให้ทุนแพทย์ไปศึกษาต่างประเทศทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงินประมาณหนึ่งล้านสี่แสนบาท