ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า หมายถึง, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า คือ, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ความหมาย, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า

          เสาชิงช้า เป็นโบราณสถานที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์มหานครกรุงเทพนับแต่ช่วงแรกสร้างกรุงเมื่อกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของวัดสุทัศน์เทพวราราม วัดประจำรัชกาลปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์             พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาชิงช้าขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2327 เพื่อประกอบการพระราชพิธียืนชิงช้า ในเวลาเช้าขึ้น 7 ค่ำและเย็นขึ้น 9 ค่ำตลอดเดือนธันวาคมถึงมกราคมเป็นประจำทุกปี โดยมี พระยายืนชิงช้า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทีได้รับโปรกเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานในพิธี และมีบริวารพราหมณ์ที่แข็งแรงเป็นผู้โล้ชิงช้า สูงใหญ่นั้น             ปี พ.ศ. 2463 มีการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2490 ต้นเหตุจากไฟก้านธูปที่มีผู้จุดกราบไหว้ตกลงในรอยแตกของเสาไม้ รัฐบาลจึงมีดำริจะรื้อเสาชิงช้าแต่ต้องมายุติไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากนั้นจึงมีคำสั่งให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ซ่อมประทังไว้ และในปี พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492             ปี พ.ศ. 2513 ความชำรุดทรุดโทรดของเสาชิงช้าทวีขึ้น จึงต้องเปลี่ยนเสาใหม่โดยรักษาลักษณะเดิมไว้ และได้ประกอบพิธีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2515

ประวัติความเป็นมาของไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า

          ปี พ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานครเตรียมการตกแต่งโบราณสถานในพื้นที่ และได้ตรวจพบเสาชิงช้ามีสภาพชำรุดทรุดโทรดตามอายุ เนื้อไม้ผุกร่อน มีร่องรอยปลวกทำลายโครงสร้างไม้เสาชิงช้า จึงได้ประสานทำงานร่วมกับกรมศิลปากร มีความเห็นตรงกันว่า ความชำรุดครั้งนี้อยู่ในขั้นวิกฤต การซ่อมบูรณะโบราณสถานของชาติจึงเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2548 – 2549 ปีที่เสาชิงช้าอายุครบ 222 ปี และกรุงเทพมหานครมีอายุ 224 ปี ซึ่งกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลรับผิดชอบโบราณสถานทั่วพื้นที่ มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์   โกษะโยธิน) เป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา 5 ท่าน ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20 ท่าน รวม 25 ท่าน เพื่อดำเนินการบูรณะเสาชิงช้าให้ถูกต้องตามหลักวิธีปฏิบัติแห่งราชประเพณีนิยม ประวัติและรูปแบบเดิมทุกประการ โดยแบ่งการทำงานเป็นส่วนการบูรณะ ซ่อมแซมและการหาไม้เพื่อนำมาทดแทนเสาเดิมที่ทรุดโทรมและผุพังลงตามกาลเวลาด้วยเทคนิคทางวิศวกรรม

          สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายให้เตรียมซ่อมแซมรอยต่อรอบแตกของไม้ เสา รวมทั้งโครงสร้างเสาชิงช้าทั้งหมด และเมื่อได้เข้าทำงานในสถานที่ตรวจสอบโดยละเอียดพบความเสียหายมากกว่าเมื่อตรวจพบขั้นต้น จึงปรับเปลี่ยนวิธีซ่อมโดยเทคโนโลยีใหม่ใช้วัสดุสังเคราะห์ประเภทคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) และอิพ็อกซี่ (Epoxy) ที่มีความเหนียวและแข็งแรงเพียงพอจะรับน้ำหนักและแรงกระทำต่อโครงสร้างเสาชิงช้า มีการตกแต่งผิวเนื้อไม้ทั้งต้นอย่างพิถีพิถันใช้เวลารวมทั้งสิ้น 60 วัน จึงแล้วเสร็จ เสาชิงช้ามีความมั่นคงแข็งแรงและกรุงเทพมหานครได้จัดพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยพระราชครูวามเทพมุนี เป็นผู้ประกอบพิธีพราหมณ์ ณ บริเวณลานเสาชิงช้า

          นอกจากการซ่อมบูรณะ คณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้า กรุงเทพมหานครยังได้เตรียมการจัดหาไม้มาทดแทนเสาชิงช้าตามลักษณะ ขนาด  และรูปแบบเดิม โดยหารือกับหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องพันธุ์ไม้ ขณะที่สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครดำเนินการบูรณะเสาชิงช้าอยู่นั้น คณะอนุกรรมการสืบค้นหาไม้ก็เริ่มดำเนินงานโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานบันการศึกษาต่าง ๆ ดำเนินงานในภูมิภาคได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกค้นหาต้นสักที่มีลำต้นตรง ไม่มีตำหนิขนาดใช้จริงยาวประมาณ 20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางปลายเสาประมาณ 40 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางโคนต้นประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นอย่างต่ำ และไม้ก่อนการตัดแต่งสูง 25 เมตร ตามแหล่งไม้สักทั่วภาคเหนือและภาคกลาง เดินทางไปสืบค้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ และจังหวัดแพร่ ฯลฯ

          โดยมีอาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเดินทางไปค้นหาใช้หลักวิชาตรวจสอบต้นสักที่อยู่ในข่ายการคัดเลือกทุกแห่ง  จนในที่สุด สามารถพบไม้สักสำคัญทั้ง 6 ต้นตามกำหนด   จากป่าภาคเหนือรวม 3 แห่ง ในท้องที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  ที่ยังคงสามารถรักษามรดกธรรมชาติของท้องถิ่นไว้สืบต่อมรดกวัฒนธรรมของชาติโดยรวม นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดแพร่ ธนารักษ์พื้นที่แพร่ แขวงการทางแพร่ กรมทางหลวง ให้ความอนุเคราะห์มอบไม้ให้กรุงเทพมหานครรับไปดำเนินงานทั้ง 6 ต้น ดังนี้

          ต้นหลักที่ 1 อายุ 99 ปี อยู่บริเวณหน่วยประสานงานป้องกันและรักษาป่า (นปป.) จังหวัดแพร่ หมู่ที่ 2 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  เส้นรอบวงที่ระดับอก 366 เซนติเมตร ความสูงรวมจากโคนถึงยอดไม้ 36.8 เมตร  พื้นที่ราชพัสดุในการดูแลของธนารักษ์พื้นที่แพร่


 

 

          ต้นหลักที่ 2 อายุมากกว่า 120 ปี อยู่บริเวณไหล่ทางหลวงหมายเลข 101 (สายเด่นชัย - ศรีสัชนาลัย) หลักกิโลเมตรที่ 104 + 066 หน้าบ้านเลขที่ 26/1 หมู่ที่ 2 ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เส้นรอบวงที่ระดับอก 347เซนติเมตร ความสูงรวมจากโคนถึงยอด 36.2 เมตร ความสูงที่ทำเป็นสินค้าได้ 20.1 เมตร อยู่ในเขตควบคุมรับผิดชอบของ แขวงการทางแพร่

          ต้นรองที่   3 - 6  อยู่ในพื้นที่สวนป่าห้วยไร่ (หน้าวัดบ้านห้วยไร่) แปลงปี 2488 หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยไร่ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ จำนวน 4 ต้น ทั้งหมดอยู่ในเขตควบคุมรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



พิธีบวงสรวงต้นสักมงคลทั้ง 6 ต้น เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า

          เนื่องจากตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ได้ตราไว้ว่า “ไม้สัก ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักรเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก” และเพื่อให้การดำเนินงานบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานสำคัญของประเทศชาติและสาธารณชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กรมป่าไม้ได้นำเสนอและได้รับความเห็นชอบเรื่องการตัดทำไม้ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ให้ตัดทำไม้เพื่อประโยชน์สาธารณะในกรณีดังกล่าวได้

          ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 กำหนดการอนุญาตทำไม้หวงห้ามไว้โดยมีกฎกระทรวง ข้อกำหนด ข้อตกลง หนังสือสั่งการและระเบียบกรมป่าไม้ในการนี้อีกหลายฉบับ ซึ่งท้ายสุด กรมป่าไม้ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การทำไม้หวงห้ามสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ประกอบ กฎกระทรวงฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2518) ว่าด้วยการทำไม้หวงห้าม

          จากนั้นกรุงเทพมหานครจึงได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ ธนารักษ์พื้นที่แพร่ แขวงการทางแพร่ กรมทางหลวง อนุญาตให้ดำเนินการตัดทำไม้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตีตราไม้ทั้ง 6 ต้น คณะสงฆ์โดยเจ้าคณะจังหวัด หน่วยราชการต่าง ๆ ของจังหวัด พ่อค้าประชาชนชาวแพร่ มีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ที่จะมอบไม้สักของจังหวัดแพร่ นำไปบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า กรุงเทพมหานครเห็นชอบที่จะร่วมพิธีบวงสรวงเทพยดาฯ กับกรุงเทพมหานครในวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2549  และแล้ว…พิธีบวงสรวงเชิญไม้สำคัญจากป่าสู่เมืองจึงได้เกิดขึ้นระหว่างเวลา 14.14 น. – 15.27 น. เป็นมหาฤกษ์ พระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นภูมิปาโลฤกษ์ หมายถึงความมั่นคงเป็นลำดับต่อมา โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์  โกษะโยธิน)  ปลัดกรุงเทพมหานคร (คุณหญิงนัทนนท์  ทวีสิน)  คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร  อธิบดีกรมป่าไม้ (นายฉัตรชัย  รัตโนภาส) ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่  (นายอธิคม  สุพรรณพงค์) ข้าราชการในจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางและในท้องถิ่น คณาจารย์จากคณะวนศาสตร์ ตลอดจนพ่อค้าประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงได้มาร่วมพิธีบวงสรวงกันอย่างคับคั่ง



การขยายพันธุ์ไม้สักมงคลทั้ง 6 ต้น ที่ใช้บูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า

          สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549  อธิบดีกรมป่าไม้ (นายฉัตรชัย รัตโนภาส) ได้สั่งการให้สถานีบำรุงพันธุ์ไม้สัก(สถานีวนวัฒนวิจัยงาว ในปัจจุบัน) จังหวัดลำปาง ทำการขยายพันธุ์ไม้สักมงคลทั้ง 6 ต้น ที่สำนักงานกรุงเทพมหานครจะตัดไปบูร-ณฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ในท้องที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่  ซึ่งทางสถานี ฯ ได้ดำเนินการไปเก็บกิ่ง ตา มาทำการติดตา  เก็บยอดไปฟอกฆ่าเชื้อ และขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และได้เก็บเมล็ดจากไม้สักดังกล่าว ซึ่งมีเมล็ดเพียง 5 ต้น ไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มตัดต้นไม้ต้นแรก  และสามารถทำการ ขยายพันธุ์ไม้สักทั้ง 6 ต้นได้ในระดับหนึ่งดังนี้

          1. การขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา  ไม้สักมงคลทั้ง 6 ต้น ขยายพันธุ์ได้ประมาณ 400 กล้า ที่มีความสมบูรณ์ เนื่องจากช่วงระยะเวลาไม่เหมาะ สม  ตาที่สมบูรณ์ส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตไปเป็นกิ่งหมดแล้ว

          2. การขยายพันธุ์โดยใช้ชิ้นส่วนของยอดนำมาฟอกฆ่าเชื้อ และเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ วิธีนี้ก็ได้นำส่วนยอดของไม้สักทั้ง 6 ต้นมาฟอก ซึ่งจะต้องใช้เวลา 6 เดือนถึงหนึ่งปี จึงจะขยายพันธุ์ได้ เนื่องจากไม้อายุมาก

          3. การขยายพันธุ์โดยนำเมล็ดไม้สักเสาชิงช้า 5 ต้น (ต้นที่ 1, 3, 4, 5 และ 6  ซึ่งต้นที่ 2 ไม่มีเมล็ด)ไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถผลิตเป็นปริมาณมาก ๆ ได้

          ปัจจุบันจำนวนกล้าต้นสักมงคลทั้ง 6 ต้น จากการติดตา ที่มีสภาพสมบูรณ์มีประมาณ 400 กล้าส่วนกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ  ยังอยู่ในระยะขยายพันธุ์  ยังไม่สามารถนำออกมาปลูกเป็นกล้าได้   เนื่องจากจะเข้าฤดูหนาวแล้วซึ่งเป็นช่วงที่ไม้สักพักตัว และหยุดการเจริญเติบโต

 ที่มา https://www.forest.go.th/information/notice/Sak/index.htm



การตัดโค่นต้นสักมงคลทั้ง 6 ต้น ไปบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า

          พิธีทางศาสนาได้เสร็จสิ้นในวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2549 รุ่งขึ้นวันเสาร์ที่  20 พฤษภาคม 2549  ก็ได้เริ่มตัดโค่นไม้สักต้นหลักที่2 ซึ่งอยู่ข้างไหล่ทางเป็นต้นแรก โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ตัดโค่นและชักลากไปยังจังหวัดอยุธยา เพื่อเหลาไม้ให้กลมและได้ขนาดตามความต้องการ เวลาประมาณ 08.00 น. เริ่มลิดกิ่งออกก่อน โดยให้เจ้าหน้าที่ขึ้นไปกับกระเช้ารถเครน ใช้เลื่อยยนต์ ตัดกิ่งและยอดออกหมดก่อน  แล้วใช้เครนประคองต้นไม้ หลังจากนั้นก็ใช้รถแบ๊คโฮลขุดถอนทั้งรากทั้งโคนขึ้นมา (เจ้าหน้าที่เกรงว่าความยาวของต้นน้อยไป) และค่อยๆ หย่อนให้ราบไปตามพื้น ปรากฏว่าต้นสักต้นหลักที่ 2 นั้นมีรูที่โคนต้น และที่ปลายยอด  ในขณะที่ตัดกิ่งนั้นมีประชาชนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมากและได้แย่งกันเก็บ กิ่ง ยอด เมล็ด และใบ ของต้นสักมงคล ไว้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว


ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า หมายถึง, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า คือ, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ความหมาย, ไม้สักทองที่ใช้ปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu