ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

แรกมีอนามัยในเมืองไทย, แรกมีอนามัยในเมืองไทย หมายถึง, แรกมีอนามัยในเมืองไทย คือ, แรกมีอนามัยในเมืองไทย ความหมาย, แรกมีอนามัยในเมืองไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
แรกมีอนามัยในเมืองไทย

เรื่องอนามัย

มีเรื่องเกร็ดที่ฉันได้รู้เห็นในสมัยเมื่อมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการป้องกันความไข้เจ็บมาแต่ก่อนหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในการไม่ปรากฏจดหมายเหตุ ถ้าไม่มีใครเขียนลงไว้เมื่อหมดตัวผู้รู้ก็จะเลยสูญเสีย จึงมาเขียนเล่าในนิทานนี้ แต่เป็นเรื่องยาวจึงแยกเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เล่าเรื่องในสมัยเมื่อก่อนฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรียกว่า "เรื่องตั้งโรงพยาบาล" เรื่องหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องในสมัยจัดการป้องกันความไข้เจ็บ เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เรียกว่า "เรื่องอนามัย" ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ต่อมาโปรดให้โอนราชการพลเรือนตามหัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนแยกขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม กรมท่า มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองในเป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดการปกครองท้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทรงพระราชปรารภว่ากระทรวงเสนาบดีอื่นๆกำลังจัดระเบียบการกระทรวงที่ในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจะจัดการจะจัดการแผนกกระทรวงนั้นๆ ออกไปถึงหัวเมืองได้

แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ควรจะรอการทำนุบำรุงหัวเมืองไว้จนกว่ากระทรวงการแผนกนั้นๆจะสามารถออกไปจัดการได้เอง จึงดำรัสสั่งว่าการทำนุบำรุงอย่างใดซึ่งควรจัดตามหัวเมืองได้ ให้กระทรวงมหาดไทยลงมือจัดการตามนั้นไปทีเดียว อันนี้เป็นเหตุให้หน้าที่จัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมาตกอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพราะกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ด้งได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องตั้งโรงวพยาบาล ยังไม่สามารถจะขยายการออกไปถึงหัวเมืองได้

ตามประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯทุกปี จึงปรึกษาจัดการอนามัยตามหัวเมืองในที่ประชุมนั้น มีความคิดเห็นว่าจะจัดการอย่างในกรุงเทพฯไม่ได้ เพราะหัวเมืองไม่มีทุนและไม่มีคนจะใช้มากเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ จะต้องคิดหาทางอื่น และทางที่จะจัดนั้นเห็นว่าควรเอาลักษณะการตามที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองแล้วตั้งเป็นหลักคิดแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับ ก็ลักษณะการอนามัยที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น ถ้าพิจารณาแยกกันก็มี ๓ อย่างดังนี้ คือ

อย่างที่ ๑ คือ ยาสำหรับรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแล้ว ความบกพร่องในเรื่องยาอยูที่ไม่รู้จักหรือไม่มียาดีกว่าที่จะใช้เป็นสำคัญ

อย่างที่ ๒ คือ ความรู้ที่จะใช้ยาและรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแพร่หลายอยู่แล้ว ใครรู้มากก็เรียกว่า "หมอ" มีอยู่ทั่วไปในพื้นเมือง ความบกพร่องในเรื่องใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ อยู่ที่หมอมีความรู้น้อยเพราะไม่ได้เรียนตำรับตำรา อาศัยแต่ความคุ้นเคยเป็นสำคัญ ใครเคยรักษาไข้มากก็รู้มาก ใครเคยรักษาไข้น้อยก็รู้น้อย ถึงกระนั้นก็ยังสามารถรักษาไข้ที่ไม่เหลือความรู้ให้หายได้

อย่าที่ ๓ คือ ธรรมดาคนเจ็บไข้ย่อมกลัวภัยแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อว่าใครจะช่วยชีวิตได้ก็ให้คนนั้นมารักษา ถึงผู้อื่นจะบอกว่าหมอคนไหนดีหรือยาขนานไหนดี ถ้าตัวคนไข้หรือผู้ปกครอง เช่น พ่อแม่ของคนไข้ไม่เชื่อถือก็ไม่ยอมกินยาของหมอคนนั้น จะบังคับขืนใจไม่ได้

เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังกล่าวมา จึงเห็นว่าการบำรุงอนามัยควรจะอนุโลมต่อลักษณะที่เป็นอยู่จึงจะสำเร็จประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาลจึงจัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองโดยทางที่กล่าวมา เป็นการหลายอย่างดังจะพรรณนาต่อไป


ตั้งหมอตำบล

เรื่องตั้งหมอตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์(เชย กัลยาณมิตร)เมื่อยังเป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ สมุหเทศาภิบาลพิษณุโลก เห็นว่าควรอาศัยพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ซึ่งกำหนด ๑๐ บ้านเป็นหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรเลือกกันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ละคน รวม ๑๐ หมู่บ้านเป็นตำบล ๑ ให้พวกผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเป็นกำนันตำบลคน ๑ นั้นประกอบกับความคิดในเรื่องบำรุงอนามัย คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกหมอในตำบลนั้นคน ๑ ซึ่งเห็นว่าดีกว่าเพื่อน แล้วรัฐบาลตั้งเป็นหมอประจำตำบลมีศักดิ์เท่ากับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเป็นพนักงานในการอนามัยมีอยู่ทุกตำบล รัฐบาลอยากรู้อะไรในเรื่องอนามัยตำบลนั้นจะได่ไตรถาม หรือจะชี้แจงอะไรในเรื่องอนามัยแก่ราษฎรก็จะได้ให้หมอตำบลเป็นผู้ชี้แจงต่อลงไป ตัวหมอที่ได้รับความยกย่องเช่นนั้น ราษฎรในตำบลก็คงมีความเชื่อถือให้รักษาไข้ได้ผลประโยชน์ขวัญข้าวค่ายามากขึ้น คงมีผู้สมัครรับตำแหน่งหมอตำบลไม่รังเกียจ ที่ประชุมเห็นชอบด้วยให้จัดการดังว่ามาสำเร็จได้อย่างหนึ่ง


ทำยาโอสถศาลา

ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาภายในกรุงเทพฯแล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญญาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อคือ

ข้อ ๑ ว่าจะควรทำอย่างรักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือดกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บ ซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับสั่นและแก้โรคบิด เป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง

ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่แม้จนหมอรักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีมากขึ้น ฉันคิดว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์(พระยาดำรงแพทยาคุณ)กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิตร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น

"แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชัวโมงกว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้กินทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา

ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือ หัวยาเท่านั้นไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจใช้ทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยานั้นออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ"

นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่ายาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆบรรจุลงกลักหรือใส่ห่องส่งไปตามที่ต่างๆได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่ง ยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่ง เช่น ยาควินินแก้ไข้จับสั่น เป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง

แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่งแม้เป็นยารักษาโรคอย่างเดียวกัน หมอต่างคนต่างใช้วิธีผสมยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมอฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณะประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยความยินดี จึงเชิญหมอฝรั่งทุกชาติมาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกที่ประชุมเอง บอกพวกหมอให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้น ช่วยในการ ๒ อย่าง คือ ให้ปรึกษาทำยาแก้โรคอะไรบ้างเป็นยาสักกี่ขนาน อย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆให้ทุกขนาน อย่างหนึ่ง เข้าจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับว่าจะช่วยให้ตามประสงค์ของรัฐบาล

ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป เข้าตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน(หรือ ๑๒ ขนานจำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยากับทั้งส่วนที่จะผสม Prescrition ยานั้นๆทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคน แล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson(ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญ ไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกถนนเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมืองก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก

ควมลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯคนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาในเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่นแต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยิน กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสว่า ยาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี "ยาขาวฝรั่ง" (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่ปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินินว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า "ยาควินินดีกว่ายาไทยแต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้หายเป็นประมาณ" ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่งสำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจ ด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า "โอสถศาลา" แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ(ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่น "ยาแก้ไข้จับสั่น , ยาแก้ลงท้อง , ยาแก้บิด" เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่ายาแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐

แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลาย จนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงให้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา


แพทย์ประจำเมือง

แต่ก่อนมาเจ้าเมืองกรมการมักเป็นชาวเมืองนั้นเอง เจ็บไข้ก็ใช้หมอในพื้นเมืองที่เคยรักษากันมาเป็นปกติ ครั้นเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศภิบาล ส่งข้าราชการในกรุงเทพฯออกำไปรับราชการประจำตามหัวเมืองมากขึ้นเป็นลำดับมา ต้องปรารภความปลอดภัยของข้าราชการที่ไปอย่แปลกถิ่นตามหัวเมือง จึงให้มีหมอหลวงประจำเมืองขึ้นจังหวัดละคนหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลเลือกหาหมอที่มีความรู้พอวางใจได้ตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง มีหน้าที่สำหรับรักษาข้าราชการตลอดจนครอบครัวในเวลาเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ตรวจอนามัยและรักษาไข้เจ็บให้นักโทษในเรือนจำอย่างหนึ่ง ทำกิจการพิเศษอันเกิดขึ้นเนืองกับอนามัยอย่างหนึ่ง

เป็นอย่างนั้นมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ มีเหตุขึ้นเมื่อฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ฉันไปครั้งนั้นเลือกข้าราชการหนุ่มๆที่กำลังเป็นนักเรียนศึกษาการปกครองเอาไปใช้ ๔ คน เพื่อจะให้รู้เห็นการปกครองตามหัวเมือง เวลานั้นยังไม่มีรถไฟสายเหนือ จึงลงเรือพ่วงเรือไฟไปจากกรุงเทพฯจนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พวกนักเรียน ๔ คนไปในเรือลำเดียวกัน เมื่อพ้นเมืองพิษณุโลกขึ้นไปแผ่นดินดอนพอเดินบกได้ เขาจึงชวนกันหาคนนำทางขึ้นเดินบกแต่เวลาเช้าเที่ยวเล่นและยิงนกไปพลาง จนบ่ายจึงไปดักทางลงเรือ เพราะเรือไปทางน้ำอ้อมค้อมมาก เที่ยวเล่นเช่นนั้นหลายวัน วันจะถึงเมืองอุตรดิตถ์เมื่อพวกนักเรียน ๔ คนกลับลงเรือแล้ว ต่างคนต่างล้างปืนตามเคย ปืนของนักเรียนคนหนึ่งยังมีปัสตันอยู่ในลำกล้องนัด ๑ เจ้าของสำคัญว่าเอาออกมาหมดแล้ว ทำปืนลั่นถูกขาเพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่งใกล้ๆ ลูกปรายเข้าไปจนเนื้ออยู่ในขาทั้งหมด พอเรือไปถึง ฉันรู้ก็ตกใจจะหาหมอรักษา พระประสิทธิวิทยา(สร เทศะแพทย์)หมอสำหรับตัวฉัน เป็นหมอมีชื่อเสียงก็รักษาได้แต่ทางยา ไม่ได้หัดรักษาบาดเจ็บ สืบถามหาหมออื่นก็ได้ความว่า ทั้งเมืองอุตรดิตถ์ไม่มีใครจะรักษาได้ เขาบอกว่าหมอรักษาบาดเจ็บได้มีแต่หมอมิชชันนารีอเมริกันที่เมืองพิษณุโลก ฉันต้องจัดเรือลำหนึ่งมีคนแจว ๒ ผลัด รีบพาคนเจ็บล่องจากเมืองอุตรดิตถ์ แจวลงมาตลอดคืนจึงถึงหมอ แต่เดชะบุญหมอรักษาหายได้ไม่เป็นอันตราย

เหตุครั้งนั้นทำให้ฉันประจักษ์ใจว่า คนตามหัวเมืองที่ตายด้วยบาดเจ็บเพราะไม่มีหมอรู้จักรักษาเห็นจะมีมาก จำจะต้องให้มีหมอหลวงสำหรับรักษาบาดเจ็บขึ้นตามหัวเมือง ถึงคราวประชุมเทศาภิบาล ฉันจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า แพทย์ประจำเมืองควรจะให้รู้รักษาบาดเจ็บด้วยทั้งนั้น แต่จะเป็นเช่นนั้นโดยเร็วไม่ได้ เพราะหมอไทยที่รู้วิชารักษาบาดเจ็บยังมีน้อย และหมอยาที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองทำการดีอยู่ จะไล่ออกก็ไม่ควร จึงเห็นควรจะกำหนดแต่อย่างหนึ่งว่าผู้จะเป็นแพทย์ประจำเมืองต่อไปต้องรู้วิชาผ่าตัดด้วย เช่น นายแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ในกรมพยาบาลจึงจะเป็นได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยลงมติดังว่านั้น

แต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยก็หาหมอประกาศนียบัตรที่เรียนตลอดหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์มาตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง เป็นเหตุให้พวกหมอประกาศนียบัตรที่ต้องไปหากินด้วยการอื่น กลับหาตำแหน่งในราชการได้โดยวิชาหมอ มีคนสมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น เลยเป็นปัจจัยให้โรงเรียนแพทย์กลับรุ่งเรืองดังกล่าวมา


ทำหนองปลูกฝี

ได้เล่ามาแล้วว่าการปลูกฝีดาษในเมืองไทย เดิมใช้พันธ์หนองส่งมาแต่อเมริกาถึงเมืองไทยปีละครั้งหนึ่ง ต่อมาใช้พันธ์หนองส่งมาแต่ยุโรป ๒ เดือนมาครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นพันธ์หนองที่ได้มาแต่ยุโรปก็มักเสียกลางทางใช้ได้แต่คราวละสักครึ่งหนึ่ง จึงต้องเอาหนองคนที่ปลูกฝีขึ้นงามปลูกกันต่อไป ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ฝรั่งเศสมาตั้งสาขาปาสตุรสถานทำหนองปลูกฝีดาษและสิรัมรักษาโรคอื่นขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองไทยก็ซื้อพันธุ์หนองปลูกฝีมาแต่เมืองไซ่ง่อน เพราะอาจจะส่งมาได้ภายใน ๑๕ วันหนองก็ไม่เสียในกลางทาง แต่ได้พันธุ์หนองก็ยังไม่พอใช้ ที่โรงพยาบาลก็ยังเลิกวิธีปลูกต่อกันไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยอยากจะทำพันธุ์หนอปลูกฝีในเมืองไทยเอง หมออะดัมสัน(ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค)แพทย์มิชชั่นนารีอเมริกันรับจะทำ

จึงให้ตั้งทำหนองปลูกฝีขึ้น ณ สำนักงานของหมออะดัมสันที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๔ ทำได้แต่พันธุ์หนองยังไม่สู้ดีเหมือนอย่างที่ส่งมาจากต่างประเทศและยังได้น้อยไม่พอใช้เพราะที่ทำการคับแคบนัก ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕กระทรวงมวหาดไทยได้ หมอมาโนส์ ฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำหนองฝีดาษเข้ามารับราชการ จึงให้ย้ายที่ทำพันธุ์หนองปลูกฝีออกไปตั้งที่เมืองนครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ให้หมอมาโนส์เป็นผู้จัดการ แต่นั้นก็ทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษในเมืองไทยได้พอต้องการ และดีเสมอหนองที่ทำในต่างประเทศ ไม่ต้องซื้อมาจากที่อื่นและไม่ต้องปลูกฝีต่อกันดังแต่ก่อน การปลูกฝีก็แพร่หลายไปตามหัวเมืองด้วยจ่ายพันธุ์หนองออกไปให้แพทย์ประจำเมืองเป็นพนักงานปลูกฝีด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เกิดโรคฝีดาษชุกชุมคล้ายกับเป็นโรคระบาด และในสมัยนั้นการบำรุงอนามัยได้โอนจากกระทรวงธรรมการไปเป็นหน้าที่กระทรวงปกครองท้องที่ คือ กระทรวงนครบาลบำรุงอนามัยในมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมณฑลอื่นๆ กรมพยาบาลคงเป็นแต่จัดการโรงเรียนแพทย์กับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นที่ฝึกสอนนักเรียนแพทย์ เป็นเช่นนั้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดโรคฝีดาษชุกชุมขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับเสนาบดีกระทรวงนครบาลปรึกษากันจัดการป้องกันโรคระบาดด้วยปลูกฝีชาวเมืองให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากจะต้องใช้เงินเกินกว่าที่มีอยู่ จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วยจนพอแก่การมิให้ติดขัด

เมื่อปรึกษาถึงพิธีที่จะจัดการปลูกฝีตามรับสั่ง กระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยมีความเห็นต่างกัน กระทรวงนครบาลเห็นว่าจะต้องตั้งข้อบังคับให้พลเมืองที่ยังไม่ออกฝีดาษปลูกฝีทุกคน แล้วประกาศเรียกพลเมืองมาปลูกฝีตามข้อบังคับนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการตั้งข้อบังคับพลเมืองนั้น จำต้องกำหนดโทษผู้ขัดขืน แม้อย่างต่ำเพียงปรับไหมก็เป็นความเดือดร้อน จะทำให้เกิดหวาดหวั่นเสียแต่แรก ก็การปลูกฝีนั้นที่จริงเป็นการช่วยชีวิตของผู้ที่จะมาปลูกนั้นเอง ซ้ำพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้หมอหลวงออกไปปลูกฝีให้เป็นทาน ก็เป็นบุญของราษฎรมีแต่คุณแก่ราษฎรอย่างเดียว ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ราษฎรรู้ความจริง ก็จะพากันมาปลูกฝีด้วยความยินดี หาต้องบังคับปรับไหมให้เดือดร้อนไม่ กระทรวงนครบาลไม่เห็นชอบด้วย คงเห็นอยู่ว่าถ้าไม่ตั้งข้องบังคับ การปลูกฝีก็ไม่สำเร็จได้

ฉันตอบว่า โดยฉันจะเห็นพ้องกับกระทรวงนครบาล กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถจะจัดการได้ตามความคิดอย่างนั้น เพราะภูมิลำเนาของราษฎรตามหัวเมืองอยู่กระจัดกระจายกัน ราษฎรชาวหัวเมืองความรู้น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ถ้ามีประกาศคาดโทษก็เห็นจะพากันตื่น ตำรวจภูธรก็ไม่มีมากพอจะไปเที่ยวตรวจตราราษฎรตามบ้านช่องได้ทั่วถึง เหมือนพวกกองตระเวนของกระทรวงนครบาลในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างทำตามที่เห็นว่าจะทำได้ในท้องที่ของตนจะดีกว่า เอาแต่ให้สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นประมาณ ก็ตกลงกันอย่างนั้น กระทรวงนครบาลจะจัดการอย่างไรฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน จะเล่าแต่กระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจัดการครั้งนั้น คือ

๑. แต่งประกาศพิมพ์เป็นใบปลิว ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเกิดโรคฝีดาษขึ้นชุกชุม ทรงพระวิตกเกรงว่าราษฎรจะพากันล้มตาย ทรงพระราชดำริว่า โรคฝีดาษนั้นอาจจะป้องกันได้ด้วยการปลูกฝี ถ้าใครปลูกฝีแล้วก็หาออกฝีดาษไม่ แต่การปลูกฝียังไม่แพร่หลายกันออกไปถึงหัวเมือง คนจึงออกฝีดาษล้มตายกันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้หมอหลวงออกมาปลูกฝีพระราชทานแก่ราษฎร มิให้ล้มตายด้วยโรคฝีดาษ หมอหลวงไปถึงที่ไหนก็ให้ราษฎรไปปลูกฝีเถิด จะได้ป้องกันอันตรายมิให้มีแด่ตน

๒. แล้วจัดพนักงานปลูกฝีเป็น ๔ พววก ให้แยกย้ายกันไปปลูกฝีตามหัวเมืองมณฑลที่เกิดโรคฝีดาษชุกชุมในเวลานั้น คือ มณฑลนครชัยศรีพวกหนึ่ง มณฑลราชบุรีพวกหนึ่ง มณฑลปราจีณพวกหนึ่ง มณฑลนครราชสีมาพวกหนึ่ง มณฑลอื่นที่ฝีดาษไม่ชุกชุม แพทย์ประจำเมืองก็คงปลูกฝีอยยู่อย่างปกติ

๓. วิธีที่ไปปลูกฝีนั้น ให้ไปปลูกทีละอำเภอเป็นลำดับไป เมื่อพนักงานปลูกฝีไปถึงอำเภอไหน ให้กรมการกำนันอำเภอผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจง แล้วแจกประกาศใบปลิวให้เอาไปประกาศแก่ราษฎร และปิดไว้จามวัดอันเป็นที่ประชุมชน และให้ปรึกษากันกะที่ที่จะไปปลูกฝีตามตำบลในอำเภอนั้นกี่แห่ง แล้วกำหนดวันว่าจะไปปลูกฝีที่ตำบลไหนวันไหน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปนัดราษฎร เมื่อถึงวันนัดพนักงานไปตั้งทำการที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านพาราษฎรมาให้ปลูกฝี เมื่อปลูกฝีตำบลหนึ่งแล้วก็ย้ายไปปลูกตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆต่อไปโดยทำนองเดียวกันทุกพวก เมื่อพวกปลูกฝีปลูกแล้วให้มีสารวัตรตามไปภายหลังราว ๗ วัน ไปตรวจการที่พวกปลูกฝีได้ทำไว้ว่าปลูกฝีได้มากหรือขึ้นดีหรืออย่างไร และพวกชาวบ้านสรรเสริญหรือติเตียนอย่างไร ด้วยมีสัญญาแก่พวกพนักงานที่ไปปลูกฝีว่า เมื่อทำการเสร็จแล้วจะให้รางวัลตามลำดับเป็นชั้นกัน โดยความดีที่ทำได้คือ จำนวนคนที่ได้ปลูกฝีอย่างหนึ่ง ส่วนที่ปลูกฝีขึ้นงามอย่างหนึ่ง ได้รับความชมเชยของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ผสมกันเป็นคะแนนตัดสิน

ปลูกฝีเป็นการพิเศษครั้งนั้น เป็นการสะดวกดีทั้ง ๔ ทาง มีประกาศในรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่าจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีถึง ๗๘,๗๖๘ คน ทำได้โดยมิต้องตั้งข้อบังคับปรับไหมอย่างไร


ทำสิรัมแก้พิษหมาบ้า

เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นครัวเรือนของข้าพเจ้าเป็นมูลเหตุ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ ณ พระปฐมเจดีย์ ฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จไปอยู่เรือนบังกะโลที่พักของฉันตามเคย วันหนึ่งเวลาบ่ายพวกลูกเด็กๆลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร(เรียกกันว่า หญิงเภา)หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็ส่งไปเที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้า แต่ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไป ได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยาทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว

เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯก็เป็นปกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเถาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกิน มือสั่นทั้งสองข้างต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนี้ทั้งตัวฉันและใครๆที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนตัวสั่น ฉันก็แปลกใจจึงให้ไปรับหมอปัว(ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช)มาดู พอหมอปัวมาเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกล้วน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอน ยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ ฉันบอกคนอื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอดเพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสียเพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาค่ำดึกวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ก็ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเข้าเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าห่อน น้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อหญิงเภาถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์เป็นเวลาไปตามเสด็จ คนรู้กันมาก ครั้นเธอสิ้นชีพจึงมีคนสงสาร จนเป็นเรื่องโจษกันแพร่หลายมีมิตรของฉันคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวหมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำหนองปลูกฝีดาษมาพูดกับฉันว่า ที่จริงหญิงเภาไม่ควรตาย เพราะหมอปาสเตอร์พบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำได้แล้ว ถ้าหญิงเภาอยู่ในยุโรปหรือแม้เพียงอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน อันมีสถานปาสเตอร์ก็จะรักษาได้โดยง่าย ที่ต้องตายเพราะไม่มียาในกรุงเทพฯเท่านั้น เขาเห็นว่าถ้าหากฉันตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯด้วยเหตุที่ลูกตายครั้งนั้น คงจะสำเร็จได้เพราะคนสงสารมีมาก คนที่หวาดหวั่นเกรงจะเป็นเช่นเดียวกันในครอบครัวของเขาก็มี และการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ก็ไม่ยากหรือจะต้องสิ้นเปลืองเท่าใดนัก ถ้าฉันบอกบุญเรี่ยไรในเวลานั้น คงจะได้เงินพอแก่การ

ฉันเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เคยไปดูสถานปาสเตอร์ที่เมืองปารีส ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่นานนัก ตัวหมอปาสเตอร์เองเป็นผู้นำฉันเที่ยวดูทั่วทั้งสถาน และให้ดูวิธีทำสิรัม ตั้งแต่เจาะหัวกระต่ายเอาพิษหมาบ้าฉีดลงไปในสมอง ให้พิษเกิดในตัวกระต่ายก่อน เมื่อกระต่ายตายด้วยพิษนั้นแล้ว เอาเอ็นในซากกระต่ายมาผสมยาทำเป็นสิรัม และให้ฉีดรักษาเด็กคนหนึ่งซึ่งถูกหมาบ้ากัดให้ฉันดู ฉันได้เคยเห็นดังว่ามา และตัวหมอมาโนส์เองก็ได้เคยไปศึกษาในปาสเตอร์สถานที่เมืองปารีส รู้วิธีทำสิรัมไม่ต้องหาใครมาใหม่ คิดดูการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ มีเพียงหาที่ตั้งอย่างหนึ่ง หาเครื่องใช้อย่างหนึ่ง

ส่วนคนที่เป็นลูกมือทำการก็อาจจะใช้พวกทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษได้ ด้วยรวมการทำสิรัมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเพิ่มเติมคนขึ้นเท่าใดนัก ฉันจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ศรัทธาช่วยกันมากทั้งไทยและพวกชาวต่างประเทศ ฉันได้อาศัยพระยามหาอำมาตย์(เส็ง วิริยศิริ)กับหมอมาโนส์เป็นกำลังในครั้งนั้น ในไม่ช้าก็ได้เงินพอแก่การ จึงตั้งปาสเตอร์สถานขึ้นที่ตึกของ กระทรวงมหาดไทยที่ริมโรงเลี้ยงเด็ก และย้ายสถานทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษ ณ ปฐมเจดีย์เข้ามารวมกัน

เมื่อจัดการเตรียมพร้อมแล้วได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดสถานปาสเตอร์(เวลานั้นเรียกปัสตุรสภา)เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหมอมาโนส์เกิดอาการป่วยเจ็บต้องลาออก แต่ก็ได้หมอโรแบต์ฝรั่งเศสมาแทน ทรงคุณวุฒิและมีใจรักงานเช่นเดียวกับหมอมาโนส์ ก็อาจรักษาโรคพิษหมาบ้าสำเร็จประโยชน์ได้ในเมืองไทยแต่นั้นมา และสถานปาสเตอร์นั้น ต่อมาภายหลังโอนไปขึ้นอยู่ในสภากาชาด หมอโรแบต์ก็ย้ายตามไปทำการเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นตามลำดับจนมาขยายใหญ่โต เป็นสถานเสาวภาอยู่บัดนี้


โอสถศาลา

เมื่อคราวประชุมเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษาตกลงกันว่า จะตั้งโอสถศาลา(เวลานั้นเรียกโอสถสถาน)ขึ้นตามหัวเมือง ความที่คิดจะตั้งโอสถศาลานั้น ในบริเวณเมืองหนึ่งจะให้มีโอสถศาลาแห่งหนึ่งมีเรือนที่อยู่ของหมอ มีห้องรักษาคนไข้ และมีร้านขายยาต่างๆรวมอยู่ด้วยกันสร้างด้วยเงินบอกบุญเรี่ยไร ให้หมอหลวงประจำเมืองเป็นผู้จัดการโอสถศาลานั้น และให้ได้ส่วนกำไรเป็นประโยชน์ของตนด้วยในการบางอย่างที่รัฐบาลอนุญาต

การรักษาไข้ที่โอสถศาลานั้น ให้หมอหลวงใช้เวลานอกหน้าที่ คือ ที่ต้องไปตรวจเรือนจำและรักษาข้าราชการ เป็นต้น รับรักษาไข้เจ็บให้ราษฎรที่ไปยังโอสถศาลาแต่เวลา ๓ โมงเช้า(๙ นาฬิกา)จนเที่ยงทุกวัน แล้วแต่ใครขอให้ตรวจและรักษาโรค หรือรักษาบาดเจ็บและให้ปลูกฝีให้หมอทำเป็นทาน

ยารักษาโรคต่างๆนั้น ให้เป็นของตัวหมอขายเอง รัฐบาลขายเชื่อยาโอสถศาลาให้หมอเพียงเท่าทุน และหมอจะหายาอื่นไปขายด้วยก็ได้ ให้หมอบอกบุญเรี่ยไรค่ายาสำหรับรักษาคนอนาถาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตั้งโอสถศาลาช้า ด้วยต้องบอกบุญเรี่ยไรทุนให้พอก่อนจึงตั้งได้ จะจัดได้กี่แห่

แรกมีอนามัยในเมืองไทย, แรกมีอนามัยในเมืองไทย หมายถึง, แรกมีอนามัยในเมืองไทย คือ, แรกมีอนามัยในเมืองไทย ความหมาย, แรกมีอนามัยในเมืองไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu