อองซาน ซูจี
อองซาน ซูจี, อองซาน ซูจี หมายถึง, อองซาน ซูจี คือ, อองซาน ซูจี ความหมาย, อองซาน ซูจี คืออะไร
๒๐ กรกฎาคม ๑๙๘๙ ชาวโลกพากันตกตะลึง เมื่อรู้ข่าวว่า นางออง ซาน ซู จี บุตรสาวของวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราชของชาวพม่าถูกสภาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของรัฐจับกุมตัวในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
แม้จะเป็นการกักบริเวณอยู่ในบ้านักของเธอซึ่งตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้ง แต่ก็สั่งห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับการติดต่อกับบุคคลภายนอก แม้จะเป็นลูก ๆ ของตัวเธอเอง
เรื่องที่เป็นความเคลือบแคลงสงสัย และไม่พอใจของผู้รับประชาธิปไตยมากอยู่ที่การสั่งจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตย ซึ่งนางซูจี มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการอยู่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนพม่าอย่างสูงสุด ในการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายพลเนวินจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทำท่าว่าพรรคของเธอจะได้รับชัยชนะ และได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ
ซึ่งแน่นอนว่า รัฐบาลของนายพลเนวิน ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทางหทารที่ผูกขาดอำนาจมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จนเกือบเรียกได้ว่าตลอดเวลาที่พม่าได้รับการปลดปล่อยให้ปกครองตนเองและมีอิสรภาพ จะต้องพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่ทุกอย่างที่เคยยึดครองมาช้านาน และความเคลือบแคลงสงสัยนั้นก็เป็นความจริง เพราะหลังจากรัฐบาลภายใต้การดูแลของสภาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งส่งพรรครัฐบาลที่มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พรรคสามัคคีแห่งชาติลงชิงชัยในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ด้วยหวังว่าจะไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อยใดสมัครลงรับเลือกตั้งแม้แต่พรรคของบุตรสาววีรบุรุษกู้ชาติอย่าง นางออง ซาน ซู จี จะได้รับเสียงข้างมากเกินไปกว่าพรรครัฐบาล ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลที่ตนเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเองย่อมมีกำลังคน อำนาจ และเงินทองมากมายมหาศาลที่จะบันดาลชัยชนะได้
นอกจากนั้น การตัดสินใจสั่งจับนางออง ซาน ซู จี ซึ่งเป็นศูนย์รวมน้ำใจของประชาชนเสียก่อนที่วันเลือกตั้งจะมาถึงก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานเสียงของพรรคอื่นต่ำลง
แต่ก็ผิดคาด จากการปราศรัยหาเสียงอย่างกล้าหาญจริงใจของบุคคลที่เปรียบเสมือนแสงสว่างของชาวพม่าในช่วงก่อนถูกจับกุม และเลือดแห่งความยุติธรรมที่ลุกโชนอยู่ในจิตใจของชาวพม่า ทำให้พวกเขาทุ่มเทความเห็นใจและความมุ่งหวังในอันที่จะทำลายลูกกรงแห่งความอยุติธรรมที่รัฐบาลสร้างขึ้นกักขังนางออง ซาน ซู จี ให้สลายไปพร้อมกับให้อิสรภาพแก่คนที่พวกตนเคารพนับถือในฐานะผู้นำและศูนย์รวมจิตใจอีกครั้งหนึ่ง
ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น พรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตยได้รับเลือกด้วยคะแนนที่เรียกว่าถล่มทลาย คือได้ที่นั่งในสภาฯถึงเกือบ ๔๐๐ ที่นั่ง เหลือให้พรรครัฐบาลไม่ถึง ๑๐ ที่นั่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามกติกาการเมืองพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตยจะได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศโดยมีพลโท ทิน อู ประธานพรรคเป็นประธานาธิบดี และมีนางออง ซาน ซู จี เลขาธิการพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากการนับคะแนนปรากฏออกมา โดยพรรครัฐบาลพ่ายแพ้อย่างยับเยิน สภาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของรัฐก็กลับคำ ไม่เพียงแต่ไม่ยอมมอบอำนาจการบริหารประเทศให้แก่พรรคผู้ได้รับเสียงข้างมากในสภาฯ เท่านั้น ยังสั่งจับประธานพรรคและผู้นำระดับสูงของพรรคเข้าที่คุมขังอีกมากมาย
การเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวของประชาชนพม่าจึงเป็นเพียงความฝันที่ไม่อาจเป็นจริงได้จนกระทั่งปัจจุบัน
สำหรับนางออง ซาน ซู จี เธอถูกกักขังอยู่ในบ้านพักอย่างเข้มวงดโดยรัฐบาลทหารในขณะนั้นหวังว่าการลดบทบาทของสตรีผู้นี้ลงจะทำให้ประชาชนพม่าและชาวโลกลืมเลือนไปในที่สุด แต่ตรงกันข้ามไม่เพียงเธอจะได้รับสมญานามจากชาวพม่าว่าเป็นวีรสตรีของพวกเขาแล้ว ประชาชาติต่าง ๆ ทั่วโลกก็พากันจับตามองและเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าคืนอิสระภาพแก่เธอ
ออง ซาน ซู จี เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยที่โด่งดังไปทั่วโลก เธอเป็นรูปแบบหนึ่งของสตรีที่ผู้หญิงทุกคนรู้จักและยกย่อง แม้จะถูกคุมขังโดยไม่ยินยอมให้ติดต่อกับโลกภายนอก แต่ชื่อเสียงของเธอก็ขจรกระจายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี ค.ศ.๑๙๙๑ อีก ๔ ปีต่อมารัฐบาลพม่าก็ไม่สามารถต้านทานกระแสเรียกร้องของประชาคมโลกต่อไปได้ตัดสินใจปล่อยตัววีรสตรีของประชาชนพม่าให้เป็นอิสรภาพ ท่ามกลางความยินดีของสตรีผู้รักสิทธิเสรีภาพและชาวโลกทั้งมวล
ออง ซาน ซู จี ได้เสรีภาพของเธอคืนเมื่อ ๑๘.๓๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ หลังจากถูกควบคุมตัวอยู่เป็นเวลานานเกือบ ๖ ปี
ออง ซาน ซู จี (aung san suu gyi) บางแห่งออกเสียงเป็น อองซาน ซูคะยี เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๔๕ ในนครร่างกุ้ง (rangoon) ซึ่งต่อมานายพลเนวินผู้นำประเทศต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เพื่อให้ครอบคลุมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศทั้งหมด มิได้หมายถึงชาวพม่าเพียงอย่างเดียว จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสหภาพพม่า เป็นสหภาพเมียนมาร์ พร้อมกันนั้นก็เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากร่างกุ้ง เป็นย่างกุ้ง (yangon) ด้วย
บิดาของ ซู จี ชื่อ อู ออง ซาน (U AUNG SAN) เป็นหนึ่งในคณะผู้กอบกู้เอกราช ซึ่งมีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพจากอังกฤษให้แก่ชาวพม่ามาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๓๕ เขาแต่งงานกับนักการทูตสาวชื่อ ขิ่น จี สตรีชาวพม่าที่มีฐานะร่ำรวยและทรงความรู้มากในเวลานั้น
ในฐานะที่เป็นลูกสาวของนักอุดมการณ์ ผู้มีจิตใจแน่วแน่ในอันที่จะนำเสรีภาพกลับคืนมามอบให้แก่เพื่อนรวมชาติของตน ทำให้ ซู จี และบิดาไม่สู้ได้อยู่ใกล้ชิดกันมากนัก ส่วนใหญ่เธอจะอยู่ภายใต้การดูแลและอบรมสั่งสอนของมารดา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ซู จี เกิด เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการจะได้มาซึ่งเอกราชที่ ออง ซาน ต่อสู้มาเป็นเวลาเกือบ ๑๕ ปีเต็ม และยังเป็นปีเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นยกกำลังมาถึงพม่าในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย
เล่ากันว่า ในปีที่ ซู จี เกิดนั้น ออง ซาน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายพลหัวหน้ากองกำลังกองทัพแห่งชาติพม่า เคลื่อนกองทัพของตนออกสู่แนวหน้า เพื่อร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นที่ให้ความไว้วางใจขนาดให้อาวุธไว้ต่อสู้กับพันธมิตร โดยหารู้ไม่ว่าการทำดีกับญี่ปุ่นของ ออง ซาน เป็นกลลวงให้ได้อาวุธมาใช้ในกองทัพของตนเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นานกองทัพแห่งชาติของ ออง ซาน ก็ตีกองทหารญี่ปุ่นจนเสียหาย อย่างหนักจนทำให้ได้รับความไว้วางใจจากอังกฤษเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นผลดีต่อการดำเนินงานเรียกร้องอธิปไตยของออง ซานอย่างยิ่งในเวลาต่อมา
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง อังกฤษที่เข้ามาปกครองพม่าอีกครั้งก็เริ่มมีท่าทีเป็นมิตรและอ่อนให้แก่ฝ่ายของออง ซาน มากขึ้น ในอีก ๑ ปีต่อมาก็ตกลงใจจะมอบเอกราชให้แก่พม่า ภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ.๑๙๔๘
ออง ซาน ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันเวลาที่อังกฤษกำหนดไว้ แต่เรื่องที่ไม่มีใครคาดฝันก็เกิดขึ้น มือปืนกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปในสภาแล้วกระหน่ำยิง ออง ซาน กับคณะอีก ๗ คนเสียชีวิตทันที สร้างความเสียใจให้แก่นางขิ่น จีและประชาชนชาวพม่าเป็นอันมาก
วันที่บิดาของออง ซาน ซู จี ถูกลอบสังหาร ตรงกับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๔๗ ซึ่งขณะนั้นเธอเพิ่งมีอายุเพียงขวบเศษเท่านั้น นับได้ว่า ตั้งแต่เกิดมา ซู จีไม่เคยเห็นหน้าบิดาของเธอเลยก็ได้
การตกเป็นลูกกำพร้าตั้งแต่อยู่ในวัยทารก ทำให้ซู จี ต้องติดตามมารดา ซึ่งยังทำหน้าที่นักการทูตเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ อยู่เสมอ จนกล่าวได้ว่า เธอใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตในต่างประเทศ
หลังจากอยู่ในร่างกุ้งมาจนอายุ ๕ ขวบ นางขิ่น จี มารดาก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังประเทศอินเดีย ทำให้ ซู จี ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนในกรุงนิวเดลี เล่ากันว่า เด็กหญิงลูกกำพร้าของวีรบุรุษออง ซาน เป็นเด็กเฉลียวฉลาดมีสติปัญญาดีมาก จนสามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาที่ เซนต์ ฮิว คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยเลือกเรียนสาขาการเมืองปรัชญาและเศรษฐศาสตร์
หลังจากจบการศึกษาได้สมัครเข้าทำงานกับสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติในมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ขณะทำงานก็ใช้เวลาว่างเขียนบทความและหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้ของนายพลออง ซาน และการกอบกู้เอกราชของชาวพม่าจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
นอกจากจะมีความรู้ดี สติปัญญาเฉียบแหลม พูดจาคล่องแคล่ว น่าเชื่อถือ ออง ซาน ซู จี ยังจัดว่าเป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตางดงามมากคนหนึ่งด้วย หลังจากทำงานในสำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้ระยะหนึ่ง เธอก็ได้แต่งงานกับนายไมเคิล อามีส ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธิเบตคดีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และอยู่ร่วมกันจนมีบุตรชายด้วยกัน ๒ คน
ค.ศ.๑๙๗๘ นายพลเนวินยังมีอำนาจอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของเธออย่างเหนียวแน่นและคงใช้วิธีการปกครองแบบเผด็จการทหารอยู่ แม้ว่าจะมีการลดหย่อนด้วยแนวคิดที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศแทนก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงหมากการเมืองเพื่อรักษาบัลลังก์แห่งอำนาจของตนเองไว้เท่านั้น การประการให้มีการเลือกตั้งทั่วไปทำให้บรรยากาศของพม่าคึกคักขึ้นอย่างทันตาเห็น มีประชาชนและนักการเมืองตั้งพรรคเข้าร่วมชิงชัยมากมาย
ในเวลาเดียวกัน ซู จี ได้รับข่าวว่า มารดาซึ่งพักอาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้งป่วยหนักและทำท่าว่าจะสิ้นชีวิต เธอจึงขออนุญาตสามีเดินทางกลับปิติภูมิ ด้วยจุดประสงค์เพียงดูแลอาการป่วยหนักของมารดา แต่เมื่อมาถึงและได้เห็นสภาพอันยากจน ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของผู้นำประเทศ เลือดนักต่อสู้ที่ถ่ายโยงมาจากบิดาก็ร้อนระอุขึ้นมา เธอโดดเข้าร่วมพัฒนาประเทศอันเป็นที่รักของเธอ ด้วยการประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองสมัครลงรับเลือกตั้ง โดยใช้ชื่อพรรคของเธอว่า สันนิบาตชาติประชาธิปไตย
แต่ความที่ไม่เคยมีความต้องการจะก้าวขึ้นไปเป็นใหญ่เป็นโต ระดับประธานาธิบดี เธอจึงเชิญนายทหารนอกราชการ ชื่อ พลโท ทิน อู มาร่วมงานด้วย โดยยกตำแหน่งประธานพรรคให้ สำหรับตัวเองรับเป็นเพียงเลขาธิการพรรคเท่านั้น
พลโท ทิน อู เคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกและรัฐมนตรีกลาโหม แต่ถูกปลดและจำคุก ๗ ปี ฐานกบฏ โดยทำการรัฐประหารนายพลเนวิน แต่ไม่สำเร็จ หลังจากพ้นโทษออกจากคุกมาแล้วก็ตั้งตัวเป็นฝ่ายค้านต่อต้านการทำงานของรัฐบาลพม่าตลอด เมื่อได้รับเชิญเป็นหัวหน้าพรรคที่ออง ซาน ซู จี ตั้งขึ้นจึงรับด้วยความเต็มใจและยิ่งเต็มใจมากขึ้นเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรคของตนชนะอย่างเด็ดขาด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมัน เขาก็จะได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์
ภาพและที่มา www.bloggang.com
อองซาน ซูจี, อองซาน ซูจี หมายถึง, อองซาน ซูจี คือ, อองซาน ซูจี ความหมาย, อองซาน ซูจี คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!