"ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้ เป็นข้าวมีประโยชน์ อย่างข้าวกล้อง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เราก็กินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน"
พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
เรื่อง “ภูมิปัญญาไทย อาหารไทย อาหารสุขภาพ” เผยแพร่ โดยมุ่งเน้นคุณค่าทางสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามิน คุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางยาและสมุนไพร และคุณค่าทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรม ที่จะทำให้คนไทยทุกคนหันมาดูแลเอาใจใส่ในการรักษาสุขภาพให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และอายุยืนยาวนาน
การมีสุขภาพดีเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน ซึ่งหมายถึงการที่สุขภาวะที่ดีทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา อาหารเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีทางกาย นอกเหนือจากการออกกำลังที่เหมาะสมและการพักผ่อนที่พอเพียง
ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้านพืชพรรณธัญญาหารตลอดปี ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก และเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่อันดับที่ ๕ รองจากประเทสสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส
กระแสวัฒนธรรมตะวันตกทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยกินอาหารธรรมชาติที่มีข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือเป็นพื้น กินพืชผักและผลไม้มาก เปลี่ยนมากินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และไขมันมาก กินพืชผักและผลไม้น้อย ประกอบกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น จำเป็นต้องกินอาหารสำเร็จรูป มีสารแต่งสี แต่งกลิ่น ผงชูรส สารกันบูด ส่งผลให้เกิดโรคจากภาวะโภชนาการเกินติดตามมา อาทิ โรคอ้วน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น ในขณะที่ยังไม่สามารถขจัดโรคขาดสารอาหารได้สำเร็จ
ภูมิปัญญาไทย: อาหารไทย อาหารสุขภาพ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของ “อาหารไทย” จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน “อาหารไทย อาหารสุขภาพ” ขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ภายใต้โครงการ “วัฒนธรรมไทยสู้ภัยเศรษฐกิจ” มีวัตถุประสงค์หลัก ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความมั่นใจในคุณค่าของอาหารไทยและสามารถพึ่งตนเองทางด้านอาหาร
๒. เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณค่าของอาหารไทยให้กว้างขวางทั้งภายในและภายนอกประเทศ
๓. เพื่อส่งเสริมธุรกิจชุมชนที่เกี่ยวกับอาหารไทย พร้อมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนให้ขยายตลาดอาหารไทยไปสู่ต่างประเทศ และ
๔. เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหารไทย
“ภูมิปัญญาไทย: อาหารไทย อาหารสุขภาพ” เป็นผลงานส่วนหนึ่งของโครงการ “วัฒนธรรมไทยสู้ภัยเศรษฐกิจ” ที่นำเสนออาหารไทยตำรับที่ช่วยป้องกันโรคที่พบมากในสังคมสมัยใหม่ ได้แก่ โรคอ้วน โรคคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งได้จำแนกตามกรรมวิธีในการปรุงและมีรายละเอียดของเครื่องปรุงและวิธีทำอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางโภชนาการ สรรพคุณทางยาและสมุนไพร ตลอดจนลักษณะเด่นของอาหารไทยในการช่วยป้องกันโรค พร้อมให้คำแนะนำในการประกอบอาหารและตารางเมนูอาหารให้ถูกหลักโภชนาการและหลักสุขาภิบาล คำแนะนำในการปรุงอาหารให้อร่อยอย่างมีคุณค่า และข้อบัญญัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
คุณลักษณะพิเศษของอาหารไทย
คุณลักษณะพิเศษของอาหารไทย คือ นอกจากจะให้คุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว ยังให้สรรพคุณทางยาและสมุนไพร รวมทั้งสะท้อนถึงมิติทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น อาหารไทยจึงมีคุณค่า และเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่ควรได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่นิยมบริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ
การวิจัยและพัฒนาอาหารไทยให้ได้มาตรฐานสากล ถูกหลักโภชนาการเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เนื่องจากตำรับอาหารไทยในแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะชนิดของพืชผักพื้นบ้านที่ใช้เป็นส่วนประกอบ จึงควรพัฒนาตำรับอาหารไทยที่หลากหลาย ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นตามฤดูกาล มีวิธีการประกอบอาหารที่ไม่สลับซับซ้อน ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน และมีรสชาติที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ เพื่อขยายฐานผู้บริโภคให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
การสร้างกระแสนิยมอาหารไทย
การสร้างกระแสนิยมอาหารไทยจะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพลดลง ทั้งยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น พืชผักพื้นบ้านจะได้รับความนิยมมากขึ้น การเพาะปลูกพืชพรรณเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี แตกต่างจากพืชผักที่นิยมกินกันในปัจจุบัน ซึ่งเกษตรต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้ปลอดภัยจากสารพิษ ทั้งผูผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
พืชผักพื้นบ้านไทยส่วนใหญ่เป็นพืชทีสามารถปลูกและเก็บกินได้หลาย ๆ ปี ถ้าอาหารไทยได้รับความนิยมมากขึ้น เกษตรกรย่อมปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรมาเพาะปลูกพืชผักพื้นบ้านมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์พันธุ์พืชของท้องถิ่น เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ในด้านอาหารมากขึ้น และเป็นรากฐานที่สำคัญของธุรกิจชุมชน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนในสังคมมีสุขภาพดี ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา