ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

มารยาทในการเดิน, มารยาทในการเดิน หมายถึง, มารยาทในการเดิน คือ, มารยาทในการเดิน ความหมาย, มารยาทในการเดิน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
มารยาทในการเดิน

การเดินโดยคำนึงถึงมารยาท อาจจัดเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้คือ

     ๑ . การเดินในกรณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ 

     ๒. การเดินในพิธีทางศาสนา

     ๓. การเดินในพิธีต่างๆ

     ๔. การเดินผ่านผู้ใหญ่

     ๕ . การเดินนำหรือเดินตามผู้ใหญ่

     ๖. การเดินโดยทั่วไป



การเดินในกรณีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

การเดินนำเสด็จฯ

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือ สมเด็จพระบรมวงศ์ เสด็จฯมาถึง ประธานจัดงานหรือเจ้าภาพที่คอยรับเสด็จฯถวายความเคารพ กราบบังคมทูลแล้วถวายรายงานในโอกาสนี้จะเบิกผู้ที่สมควรเข้าเฝ้าด้วยก็ได้ แล้วจึงเดินนำเสด็จฯ ไปยังสถานที่ที่กำหนด โดยปฏิบัติดังนี้

          เดินเยื้องไปข้างหน้าไว้ระยะห่างพอสมควร จะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติผู้นำเสด็จจะอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ท่าน ในการเสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาท ผู้นำเสด็จต้องไม่เดินบนลาดพระบาท

          ขณะที่เดิน ผู้นำเสด็จจะต้องเดินในลักษณะสำรวม เมื่อถึงที่ประทับผู้นำเสด็จถวายความเคารพ ก่อนที่จะถอยออกไป ผู้นำเสด็จถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อจะนั่งที่ต้องถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง

หมายเหตุ การถวายความเคารพนั้น ให้ผู้นำเสด็จปฏิบัติตามความเหมาะสมแก่เครื่องแบบและเพศของตน

          ในกรณีที่ผู้นำเสด็จต้องกราบบังคมทูลถวายคำอธิบายให้ทรงทราบเรื่องเกี่ยวกับสถานที่หรือการแสดงควรปฏิบัติดังนี้

          เดินเยื้องไปข้างหน้าระยะห่างพอสมควร พอได้ยินพระราชกระแสและกราบบังคมทูลชี้แจงในเรื่องที่ตรัสถาม ผู้นำเสด็จจะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติจะอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ท่านในการนี้ผู้นำเสด็จควรศึกษาเรื่องราวมาล่วงหน้า หรือกราบบังคมทูลเบิกตัวผู้ใดผู้หนึ่งที่มีความรู้ในเรื่องนี้ให้ถวายคำอธิบาย ผู้นำเสด็จจะต้องเดินในลักษณะสำรวม ไม่เดินเสมอพระองค์ท่าน

การเดินตามเสด็จ

          ทั้งชายและหญิงให้เดินเบื้องหลังพระองค์ท่าน ในลักษณะสำรวมไม่ยิ้มหัว ทักทายหรือทำความเคารพผู้อื่น ถ้ามีลาดพระบาทผู้ที่เดินตามเสด็จไม่ควรเดินบนลาดพระบาท

การเดินในบริเวณที่ประทับ

          โดยปกติถ้าพระองค์ท่านประทับอยู่ ไม่ควรเดินผ่านที่ประทับเว้นแต่มีความจำเป็นก็ต้องเดินอย่างสำรวมระวังที่สุด การเดินผ่านหน้าหรือหลังที่ประทับต้องอยู่ในระยะห่างและพึงกระทำในกรณีที่จำเป็นที่สุด โดยถวายความเคารพดังนี้

          - ลุกจากที่นั่ง
          - ผ่านที่ประทับ
          - กลับเข้าที่ก่อนนั่งลง

การเดินไปทำธุรกิจใดๆ ในบริเวณที่เฝ้าเช่น ยก หรือเลื่อนสิ่งของ พึงถวายความเคารพตามลำดับดังนี้

          - ลุกจากที่นั่ง
          - ถึงที่จะทำกิจธุระ
          - ทำกิจธุระเสร็จแล้วจะกลับที่นั่งเดิม
          - กลับเข้าที่แล้ว ก่อนนั่งลง

การเดินขึ้นและลงเมรุเผาศพ พึงถวายความเคารพตามลำดับดังนี้

          - ลุกจากที่นั่ง
          - ผ่านที่ประทับแล้วขึ้นเมรุ
          - ลงจากเมรุถึงพื้น
          - ผ่านที่ประทับ
          - ก่อนนั่ง ณ ที่ของตน

ทั้งสามกรณีดังกล่าว ผู้ปฏิบัติพึงระวังไม่หันหลังไปทางพระองค์ท่าน ยกเว้นเฉพาะผู้ยืนถวายอารักขาเท่านั้น



การเดินในพิธีทางศาสนา

          การเดินเวียนเทียนหรือทำประทักษิณ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในโอกาสอื่นเพื่อแสดงคารวะต่อพระรัตนตรัย ปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถาน เดินเวียนขวา ๓ รอบ โดยให้มีปูชนียวัตถุ หรือปูชนียสถานอยู่ทางขวามือของผู้เดิน และพึงปฏิบัติดังนี้

          - เดินประนมมือโดยมีดอกไม้ ธูปเทียนพร้อม (ในถิ่นกันดารหาดอกไม้ ธูปเทียนยากจะเพียงประนมมือก็ได้) 

          - ขณะเดินควรระมัดระวังอย่าให้ธูปเทียนที่จุดไฟอยู่ไปถูกผู้อื่น 

          - ขณะเดินควรระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ที่แนะไว้นี้พอเป็นแนวปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ใดจะบำเพ็ญจิตภาวนากำหนดกรรมฐานอย่างอื่น หรือ พรไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ )

 



การเดินในพิธีต่างๆ

          - การเดินตามศพเวียนเมรุ ให้เดินในลักษณะสำรวม เดินเวียนซ้าย ๓ รอบ โดยให้เมรุอยู่ทางซ้ายของผู้เดิน 

          - การเดินขึ้นและลงเมรุเผาศพ ให้เดินเรียงแถวตามลำดับอย่างมีระเบียบ ไม่แย่งกันชึ้นหรือลงรวมทั้งไม่แย่งกันรับของที่ระลึก

          - การเดินในขบวนแห่ ได้แก่ขบวนแห่ในพิธีต่างๆ เช่น แห่องค์กฐิน แห่เทียนพรรษา และแห่พระศพ ฯลฯ ให้เดินอย่างมีระเบียบและถูกต้องตาม กฎจราจร

          - การเดินเข้า – ออกระหว่างการประชุม โดยมารยาททั่วไป ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินเข้าหรือออกระหว่างที่กำลังมีการประชุม ควรแสดงความเคารพ ประธานของที่ประชุมทุกครั้งด้วยการไหว้หรือคำนับเมื่อลุกจากที่นั่ง และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุม



การเดินผ่านผู้ใหญ่

          การเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่ผ่านผู้ใหญ่ไม่ควรเดินลงส้น หรือ มีเสียงดัง และต้องผ่านในระยะห่างพอสมควร

          - ขณะผู้ใหญ่ยืน ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวม ปล่อยมือไว้ข้างตัวและค้อมตัวเมื่อใกล้ถึงผู้ใหญ่

           - ขณะผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้ ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวม ปล่อยมือไว้ข้างตัว ค้อมตัวพร้อมกับย่อเข่าเมื่อใกล้ถึงผู้ใหญ่นั่งเก้าอี้อยู่ แต่ถ้าเป็นในบ้านอาจจะใช้วิธีเดินเข่าก็ได้

           - ขณะผู้ใหญ่นั่งหรือนอนกับพื้น ทั้งชายและหญิงให้เดินผ่านในลักษณะสำรวมเมื่อถึงที่ผู้ใหญ่นั่งอยู่ให้ทรุดตัวลงเดินเข่า เมื่อผ่านผู้ใหญ่ไปแล้วค่อยลุกขึ้นเดิน

           - วิธีเดินเข่า ให้คุกเข่าปลายเท้าตั้ง แล้วค่อยสืบเข่าออกทีละข้างเหมือนกับการเดินและค้อมตัวลงเล็กน้อยเมื่อใกล้จะถึงผู้ใหญ่



การเดินนำหรือเดินตามผู้ใหญ่

           - การเดินนำ เดินระยะห่างพอสมควร จะอยู่ด้านใดแล้วแต่สถานที่จะอำนวย แต่โดยปกติผู้เดินจะอยู่ทางซ้ายของผู้ใหญ่ เดินลักษณะสำรวม

          - การเดินตาม เดินเบื้องหลังเยื้องไปทางซ้ายของผู้ใหญ่เดินลักษณะสำรวมระยะห่างพอสมควร



การเดินโดยทั่วไป

          การเดินโดยทั่วไป หมายถึง การเดินที่ไม่เกี่ยวกับพิธี ได้แก่ เดินการกุศล เดินในที่สาธารณะ เดินกับเพื่อน เดินตามถนน เดินข้ามถนน ถ้าเดินในที่สาธารณะหรือเดินกับเพื่อน ให้เดินโดยไม่กีดขวางทางหรือก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น ถ้าเดินตามถนนให้เดินบนทางเท้า เมื่อจะข้ามถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ควรใช้สะพานลอยหรือทางข้าม (ทางม้าลาย) แม้การเดินในทางข้ามก็ควรระมัดระวังพอสมควร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม


มารยาทในการเดิน, มารยาทในการเดิน หมายถึง, มารยาทในการเดิน คือ, มารยาทในการเดิน ความหมาย, มารยาทในการเดิน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu