ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ศึกคราวตีเมืองพม่า, ศึกคราวตีเมืองพม่า หมายถึง, ศึกคราวตีเมืองพม่า คือ, ศึกคราวตีเมืองพม่า ความหมาย, ศึกคราวตีเมืองพม่า คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ศึกคราวตีเมืองพม่า

สงครามครั้งที่ ๕
คราวไทยตีเมืองพม่า
ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖



ตอนที่ ๑ เรื่องเมืองทวายสามิภักดิ์

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองทวาย เมื่อปีมะแมที่กล่าวมาแล้ว ถึงไม่ได้เมืองทวายในครั้งนั้นก็ดี มีผลเป็นข้อสำคัญเพราะปรากฏทั่วไปในแผ่นดินว่า ไทยกลับมีกำลังเข้มแข็งถึงเข้าไปบุกรุกรบตีเมืองพม่า ต่อมาไม่ช้าเมืองทวายเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดมาสามิภักดิ์ ขอเป็นข้าขึ้นต่อเมืองไทยเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔

เรื่องราวที่เมืองทวายเมืองตะนาวศรีเมืองมะริดมาสามิภักดิ์ครั้งนั้น ในพงศาวดารพม่ากับหนังสือพระราชพงศาวดารเนื้อความยุติต้องกันตลอดเรื่อง เป็นแต่พลความขาดเหลือผิดกันบ้างเล็กน้อย

ในจดหมายเหตุของนายพันตรีไมเคล ไซม์ ปรากฏเรื่องเบื้องต้นว่า เดิมพระเจ้าปดุงตั้งอะแซหวุ่นกี้ผู้ที่มาตีเมืองพิษณุโลก เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ว่ากล่าวหัวเมืองมอญตลอดลงมาจนเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด ต่อมาพระเจ้าปดุงตั้งพม่าคนหนึ่งชื่อ มังจันจา เป็นบุตรของสดุแมงกองขุนนางในเมืองอมระบุระ ให้เป็นที่เนมะโยกยอดินลงมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองทวาย ขึ้นอยู่ในอะแซหวุ่นกี้ มังจันจาเห็นจะเป็นคนฉลาดเฉลียว ลงมาอยู่อยู่เมืองทวายมีผู้คนนับถือมาก และทำนองอะแซหวุ่นกี้จะไว้เนื้อเชื่อใจ ถึงได้ว่ากล่าวลงมาจนเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดด้วย

ครั้นอะแซหวุ่นกี้ตายเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๓๓ มังจันจาเข้าใจว่าตัวจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้แทยอะแซหวุ่นกี้ แต่หาได้เป็นสมดังปรารถนาไม่ ด้วยพระเจ้าปดุงตั้งมังจะเลสู(๑)ลงมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนอะแซหวุ่นกี้เมื่อเดือน ๑๑ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔

มังจันจามีความโทมนัสน้อยใจก็กระด้างกระเดื่อง ไม่ยอมอยู่ในอำนาจผู้สำเร็จราชการคนใหม่ จะเร่งเรียกส่วยสัดพัฒนากรอันใด มังจันจาก็ไม่ยอมส่ง อ้างว่ายังเก็บไม่ได้ด้วยราษฎรยังขัดสนนัก จะเรียกเร่งเกรงจะได้รับความเดือนร้อน ผู้สำเร็จราชการเห็นจะบอกกล่าวโทษมังจันจาขึ้นไป และพระเจ้าปดุงคงมีรับสั่งให้ส่งมังจันจาขึ้นไปไต่สวนยังเมืองอมระบุระ

ความจึงปรากฏว่าผู้สำเร็จราชการให้มะรุวอนโบคุมพลพม่า ๓๐๐ ลงมาเป็นเจ้าเมืองทวายแทนมังจันจา มังจันจารู้ความก็ให้ปลัดเมืองซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกของตนคุมกำลัง ๕๐๐ ออกไปคอยรับอยู่กลางทาง ห่างเมืองสัก ๒๐๐ เส้น พอมะรุวอนโบมาถึงที่นั้นก็ช่วยกันจับฆ่าเสียทั้งนายไพร่ แล้วมังจันจาจึงไปชวนเจ้าเมืองตะนาวศรีเจ้าเมืองมะริด พร้อมใจกันมาขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาขึ้นกรุงสยามทั้ง ๓ เมือง

ในเวลานั้นไทยที่พม่ากวาดต้อนเป็นเชลยไปเมื่อครั้งกรุงเก่าได้ ยังตกอยู่ที่เมืองทวายหลายคน ที่สำคัญคือ พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิง (อันมีพระนามกรมปรากฏต่อมาว่า เจ้าฟ้ากรมขุนรามินทราสุดา ) ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้ารามรณรงค์ผู้เป็นเชษฐาธิบดี ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ที่ในเมืองทวาย พระยาทวายทราบความจึงเชิญเสด็จไปทำนุบำรุงไว้ แล้วแต่งอักษรสาส์นจารึกในแผ่นสุพรรณบัฏ กับทั้งมีศุภอักษรชี้แจงความถึงเสนาบดีไทย และให้จัดเครื่องราชบรรณนาการตามแบบแผนประเพณีการสามิภักดิ์ของเพศพม่า คือต้นไม้ทองเงินและนางทวายอันมีสกุลสูง เป็นนางเอก ๑ นางโท ๒ พร้อมด้วยสาวใช้ข้าคนอีก ๕๗ รวมเป็น ๖๐ คนเป็นของถวาย

แล้วแต่งให้กรมการผู้ใหญ่ในเมืองทวายและเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดรวมกัน ๓ คน เป็นทูตเชิญลายพระหัตถ์ของพระเจ้าหลานเธอ กับทั้งสุพรรณบัฏและศุภอักษรถึงเสนาบดี และเครื่องคุมเครื่องราชบรรณนาการเข้ามาทางกาญจนบุรีกับพระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระมหาแทนเป็นพระภิกษุไทยแต่ครั้งกรุงเก่าอยู่ในจำนวนนั้นด้วยรูปหนึ่ง ให้มาเป็นพยานความสัตย์สุจริตของพระยาทวาย

ทูตเมืองทวายมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๓๔ ความในหนังสือที่มีมาว่า พระยาทวายได้ทำราชการถวายพระเจ้าอังวะมาแต่ชั้นปู่และบิดา หาได้มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เหตุเพราะพระเจ้าปดุงไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม ให้มังจะเลสูลงมาเป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองเมาะตะมะเมื่อเดือน ๑๑ ปีกุน แล้วให้ลงมาเอาเงินแก่เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เนืองๆเป็นเงินถึง ๒๐๐ - ๓๐๐ ชั่ง ราษฎรชาวเมืองได้รับความเดือดร้อน และมิหนำซ้ำแต่งให้มะรุวอนโบคุมกำลัง ๓๐๐ ลงมาเป็นเจ้าเมืองทวาย จะให้ถอดพระยาทวายเสีย พระยาทวายให้ปลัดคุมกำลัง ๕๐๐ ยกไปพบมะรุวอนโบกลางทาง เกิดรบพุ่งฆ่าฟันมะรุวอนโบกับพวกไพร่พลตายหมดทั้งสิ้น พระเจ้าปดุงจะให้ยกกองทัพลงมาตีเมืองทวาย พระยาทวายไม่มีที่พุ่งจึงพร้อมใจกับพระยาตะนาวศรี พระยามะริด ทั้ง ๓ เมือง ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพพระมหานครดังแต่ก่อน ขอพระราชทานกองทัพไปช่วยรักษาเมืองทวายไว้ และต่อไปภายหน้าพระยาทวายจะรับอาสาตีเอาเมืองเมาะตะมะ เมืองร่างกุ้ง เมืองสะโตง และเมืองพะสิมมาถวายให้จงได้

การที่เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี เมืองมะริด มาสามิภักดิ์ดังนี้ ก็เป็นอันสมดังพระราชดำริมาแต่ก่อน จึงโปรดให้รับทูตเข้าเฝ้าที่ชาลาหน้ามุขเด็จพระมหาปราสาท แล้วให้เสนาบดีมีศุภอักษรตอบรับเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดตามราชประเพณี พ.ศ.๒๓๓๕ จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองเป็นจำนวนพล ๕,๐๐๐ ให้พรยายมราชเป็นแม่ทัพยกออกไปช่วยรักษาเมืองทวาย และให้เชิญพานทองเครื่องยศไปพระราชทานพระยาทวายด้วย เมื่อกองทัพพระยายมราชยกไปแล้ว ในปลายปีชวดนั้นก็เสด็จยกกองทัพหลวงโดยกระบวนเรือ พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรฯไปยังเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลับพลาที่ประทับทางลำน้ำน้อย (จะเป็นที่เมืองไทรโยค หรือตำบลใดหาปรากฏไม่) คอยทรงฟังข้อราชการที่จะเกิดขึ้นทางเมืองทวายอยู่ ณ ที่นั่น

ฝ่านพระยายมราชยกกองทัพไปถึงเมืองทะวาย พระยาทวายก็ให้กรมการออกมาต้อนรับและส่งเสบียงอาหารให้กองทัพ แต่ตัวพระยาทวายเองไม่ออกมาหาพระยายมราช ก็ตามประเพณีผู้ว่าราชการหัวเมืองจะต้องออกมาหาเสนาบดีผู้เป็นแม่ทัพ ถึงต้องต่อว่าชี้แจงแบบธรรมเนียมให้ทราบ พระยาทวายจึงได้ออกมาเคารพต่อพระยายมราชตามประเพณี

พระยายมราชให้พระราชรองเมืองคุมพลเข้าไปตั้งในกำแพงเมืองทวายกองหนึ่ง ส่วนกองทัพพระยายมราชนั้นตั้งค่ายอยู่ข้างนอกเมือง แล้วให้จัดส่งเจ้าฟ้าหลานเธอกับพวกไทยที่ตกค้างอยู่ที่เมืองทวาย มีพระราชาพิมล กรมภูษามาลาครั้งกรุงเก่าเป็นต้น เข้ามายังค่ายหลวงที่แม่น้ำน้อย และมีใบบอกรายงานทั้งปวงเข้ามากราบบังคมทูลทุกประการ

ในเรื่องความที่ปรากฏว่า พระยาทวายไม่ออกมาหาพระยายมราชเป็นข้อสำคัญซึ่งควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยการที่เมืองทวายมาสามิภักดิ์ต่อไทยครั้งนั้น มูลเหตุขึ้นด้วยตัวพระยาทวาย เพราะพม่าจะถอดเสียจากเจ้าเมืองจึงเอาใจออกหากจากพม่า เมื่อมาขอขึ้นต่อไทย ทำนองพระยาทวายจะมั่นหมายมักใหญ่ใฝ่สูงให้ไทยยกขึ้นเป็นเจ้าประเทศราช จึงได้แต่งทูตถือสุพรรณบุฏมาอย่างราชทูตจำทูลพระราชสาส์น ครั้นได้ทราบว่าพระราชทานบำเหน็จอย่างพระยามหานครตามธรรมเนียมในกฏมนเทียรบาลมิได้ยกขึ้นเป็นเจ้า จึงไม่ออกมาหาพระยายมราช เป็นการแสดงความไม่พอใจให้ปรากฏเป็นครั้งแรก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงทราบความตามใบบอกของพระยายมราช เห็นจะทรงแคลงพระราชหฤทัยในท่วงทีกิริยาของพระยาทวาย ครั้นทรงรับพระเจ้าหลานเธอส่งมายังกรุงเทพฯแล้ว จึงมีรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จออกไปทอดพระเนตรภูมิลำเนาบ้านเมืองและตรวจตราเหตุการณ์

กรมพระราชวังบวรฯเสด็จออกไปถึงเมืองทวายทรงพิจารณาการทั้งปวงแล้ว ให้พระยายมราชบอกมากราบบังคมทูล(๒)ว่า เมืองทวายนั้นพิเคราะห์ดูชัยภูมิเห็นว่าไทยเสียเปรียบพม่ามากนัก เพราะพม่าอาจมาถึงได้ง่ายกว่าที่ไทยจะไปถึง ถ้าพม่ายกมาตี ถึงไทยจะรักษาเมืองทวายไว้ได้ในคราวนี้ ต่อไปภายหน้าก็คงรักษาไว้ไม่ได้

อนึ่งพิเคราะห์ดูกิริยาอาการของพระยาทวาย ท่วงทีกระด้างกระเดื่องไม่น่าไว้ใจ จะขอพระราชทานทำลายเมืองทวายและกวาดต้อนผู้คนพลเมืองเข้ามาเสียให้หมด อย่าให้เป็นกำลังของพม่าต่อไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบก็ทรงขัดเคือง ด้วยมีพระราชประสงค์จะตีเมืองพม่าต่อไป จึงมีรับสั่งให้ตอบไปว่า พม่ายกมาตีกรุง(เก่า)กวาดต้อนครอบครัวชาวกรุงและพี่น้องขึ้นไปไว้ที่เมืองทวายเมืองเดียวดอกหรือ (จึงคิดจะทำลายแต่เมืองทวายเท่านั้น) เมืองอังวะและเมืองอื่นไทยชาวกรุงไม่มีหรือ ไม่ช่วยเจ็บแค้นขึ้งโกรธบ้างเลย ได้เมืองทวายจะได้เอาไว้เป็นเมืองพักผู้คนไว้เสบียงอาหารเป็นกำลังทำศึกต่อไป มีรับสั่งห้ามไปมิให้รื้อทำลายเมืองทวายและกวาดต้อนครอบครัวเข้ามา ให้รักษาเมืองระวังเหตุการณ์ให้มั่นคงจงดี

แต่หนังสือรับสั่งที่ว่ามานี้ออกไปถึงไม่ทันที่จะป้องกันเหตุการณ์ ด้วยเมื่อกรมพระราชวังบวรฯดำรัสสั่งให้บอกขอกวาดครอบครัวและทำลายเมืองทวายเข้ามาแล้ว ทางโน้นพวกขุนนางที่ไปตามเสด็จกรมพระรวังบวรฯเข้าใจว่าคงจะมีท้องตราอนุญาตตามพระราชดำริของกรมพระราชวังบวรฯ ต่างก็ขวนขวายหาครอบครัวทวายหมายจะเอามาใช้สอยเป็นอาณาประโยชน์ของตน ถึงมีพวกที่ล่วงหน้าพาครัวทวายเข้ามาจนถึงลำน้ำน้อย

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพีระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้ข้าหลวงออกเที่ยวติดตามจับกุม เอาตัวขุนนางเหล่านั้นมาลงพระราชอาญา แล้วให้ปล่อยครัวทวายกลับคืนไป

แต่ทางข้างเมืองทวายพวกพลเมืองเกิดสะดุ้งสะเทือนกันเสียทั่วไปแล้ว ขณะนั้นมีชายไทยคนหนึ่งชื่อ มา เรียกกันว่า ตามา ถูกพม่ากวาดเป็นเชลยจากกรุงเก่า ทำนองจะไปมีบุตรภรรยาอยู่ในเมืองทวาย ตามาได้คุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแต่เมื่อครั้งกรุงเก่า มากราบทูลความลับแก่กรมพระราชวังบวรฯว่า พระยาทวายได้ข่าวว่าพระเจ้าปดุงจะเอาสดุแมงกองผู้บิดาประหารชีวิต พระยาทวายเสียใจคิดรวนเรหาสามิภักดิ์แน่นอนเหมือนแต่ก่อนไม่

และทราบว่าพระยาทวายให้ปลัดต่ายกับมังนุน้องชายคุมไพร่พลเข้ามาตรวจตราที่ไทยจะไปมา ว่าพม่ายกกองทัพลงมาเมื่อใดจะให้ล้มไม้ทับทางเสีย แล้วจะยกเข้าปล้นกองทัพไทยที่รักษาเมืองทวาย

กรมพระราชวังบวรฯจึงตรัสสั่งให้ส่งตัวตามาเข้ามายังค่ายหลวงที่ลำน้ำน้อย

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบความตามที่ตามากราบบังคมทูล และทรงทราบว่าเวลานั้นปลัดต่ายกับมังนุเข้ามาจนถึงในแดนไทยแล้ว จึงดำรัสให้ข้าหลวงไปจับมาหมดทั้งนายไพร่ ให้ถามปลัดต่ายกับมังนุ ให้การว่า มาเที่ยวเล่นแล้วก็เลยเข้ามาในแดนไทย ทรงพระราชดำริเห็นเป็นข้อพิรุธจึงให้เอาตัวคุมไว้ทั้งพวก

แล้วมีรับสั่งไปยังกรมพระราชวังบวรฯว่าจะไว้ใจพระยาทวายต่อไปไม่ได้ ให้ส่งตัวมังจันจากับกรมการที่เป็นพรรคพวกเข้ามาเสีย จะทรงชุบเลี้ยงให้ทำราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ทางโน้นให้ตั้งกรมการผู้ใหญ่ ผู้มี่เป็นบิดานางทวายที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นพระยาว่าราชการเมืองทวายต่อไป กรมพระราชวังบวรฯทรงจัดการตามกระแสรับสั่งเสด็จแล้วก็เสด็จกลับมา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงเสด็จยกกองทัพหลวงกลับมายังพระนครพร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรฯ เพื่อจะได้เตรียมการที่จะตีเมืองพม่าต่อไป และครอบครัวพระยาทวายที่ส่งเข้ามาครั้งนั้น พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลคอกกระบือ จึงได้เรียกว่าบ้านทวาย อยู่ใกล้วัดยานนาวาทุกวันนี้

ฝ่ายข้างเมืองพม่า พระเจ้าปดุงได้ทราบว่ามังจันจาเจ้าเมืองทวายเป็นกบฏ เอาเมืองทวายและเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดมาขึ้นแก่ไทย ก็ให้หวุ่นยีมหาเสฐวาเสคุมกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกลงมาปราบปราบเมืองทวาย หวุ่นยีมหาเสฐวาเสยกลงมาถึงเมืองเมาะตะมะในปีชวด ทราบว่ากองทัพไทยออกไปตั้งอยู่ที่เมืองทวายก็ครั่นคร้ามไม่กล้ายกลงมา จึงตั้งพักอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ แล้วมีใบบอกขึ้นไปยังเมืองอมระบุระ ว่ามีกองทัพไทยเป็นทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองทวาย กำละงที่คุมลงมาเกรงจะไม่พอปราบปรามเมืองทวายได้ ขอกำลังเพิ่มเติมลงมาอีก

พระเจ้าปดุงได้ทรงทราบความตามใบบอกของหวุ่นยีมหาเสฐวาเส ทำนองจะนึกระแวงว่า บางทีไทยจะยกจู่ขึ้นไปตีเมืองเมาะตะมะ จึงมีรับสั่งให้เนมะโยสิงคยาคุมกำลังลงมาช่วยรักษาเมืองเมาะตะมะก่อน แล้วให้มหาอุปราชาราชโอรสเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์เกณฑ์คยเข้ากองทัพอีกทัพหนึ่ง สำหรับจะยกมาตีเอาเมืองทวายคืน

พระมหาอุปราชาก็มาตั้งเตรียมทัพอยู่ที่เมืองจักกาย อันอยู่ใต้เมืองอมระบุระหน่อยหนึ่ง ตั้งแต่ในฤดูฝนปีชวด ให้เกณฑ์คนในหัวเมืองพม่าเข้ากองทัพได้ ๒๐,๐๐๐ พอสิ้นฤดูฝนพระมหาอุปราชาจึงให้อะแซหวุ่นกี้คนใหม่เป็นปลัดทัพ ให้มหาชัยสุระขุนนางผู้ใหญ่ในพระมหาอุปราชาเป็นยกกระบัตร ให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระเป็นเกียกกาย คุมกองทัพเดินบกยกลงมายังเมืองร่างกุ้ง

ส่วนพระมหาอุปราชานั้น ทำนองเมื่อในฤดูฝนจะบังคับสั่งให้บิดาของมังจันจาเจ้าเมืองทวาย ว่ากล่าวกับบุตรให้กลับใจไปเข้ากับพม่า ครั้นเห็นไม่เป็นผล เมื่อก่อนพระมหาอุปราชาจะยกกองทัพลงมาข้างใต้ จึงให้เอาบิดามารดาของมังจันจาประหารชีวิตเสีย แล้วจึงลงเรือตามกองทัพลงมายังเมืองร่างกุ้ง มาถึงเมื่อเดือน ๖ ปีฉลู

ฝ่ายหวุ่นยีมหาเสฐวาเสกับเนมะโยสิงคยา ซึ่งคุมกองทัพพม่ารักษาเมืองเมาะตะมะอยู่นั้น ครั้นรู้ว่าพระเจ้าปดุงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่ลงมาตั้งอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ก็พากันมีความวิตกปรึกษากันว่า เราคุมกองทัพมาตั้งอยู่เปล่าๆช้านาน ถ้าพระมหาอุปราชาจะไต่ถามว่า ได้ไปทำอะไรกับไทยให้เป็นบำเหน็จมือบ้างหรือไม่ ไม่มีอะไรจะทูลได้ก็จะระแวงผิด จึงคิดกันรวบรวมคนเข้ากองทัพ ให้เจ้าเมืองมักยีดงคุมลงมาตีเมืองทวายเมื่อในเดือน ๖ ปีฉลูนั้น

กองทัพพม่ายกลงมาพบกับกองทัพมอญของเจ้าพระยามหาโยธา(พระยาเจ่ง) สมทบกับกองทัพทวายของพระยาทวาย ซึ่งเป็นบิดานางที่ส่งเข้ามาถวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลสิกกะเนต ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีกลับไปเมืองเมาะตะมะ

ไปบอกรายงานว่าที่เมืองทวายมีกองทัพไทยตั้งอยู่หลายทัพ คือกองทัพพระยายมราชมีจำนวนพล ๔๐,๐๐๐ ตั้งอยู่ในชานเมืองทัพหนึ่ง กองทัพพระยาพิษณุโลกมีจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกทัพหนึ่ง กองทัพมอญกับทวายสมทบกันตั้งอยู่ที่ตำบลสิกกะเนตอีกทัพหนึ่ง เจ้าเมืองมักยีดงได้รบพุ่งกับทัพมอญและทวาย ข้าศึกมากกว่าเหลือกำลังจึงต้องถอยหนีไป

หวุ่นยีมหาเสฐวาเสกับเนมะโยสิงคยามิรู้ที่จะทำประการใด ก็ต้องทูลเหตุการณ์ทั้งนั้นไปยังพระมหาอุปราชา พระมหาอุปราชาได้ทรงทราบว่า กองทัพพม่ายกลงมาเสียทีแตกหนีไทยไปก็ขัดเคือง มีรับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองทั้งปวงมาทำโทษตามอาญาศึก แล้วจะยกลงมาตีเมืองทวายในฤดูฝนนั้น

พวกแม่ทัพนายกองพากันกราบทูลห้ามปรามว่า กองทัพไทยที่ตั้งอยู่เมืองทวายเป็นทัพกษัตริย์(๓)รี้พลมากมายนัก กำลังกองทัพที่มีอยู่เห็นจะเอาชัยชนะไม่ได้ ขอให้กะเกณฑ์ผู้คนในหัวเมืองข้างใต้เพิ่มเติมเข้ากระบวนทัพเสียก่อน จึงค่อยยกลงมา พระมหาอุปราชาเห็นชอบด้วย จึงตั้งพักอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง ให้กะเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพอยู่จนตลอดฤดูฝนปีฉลูนั้น


ตอนที่ ๒ เรื่องรบพม่า

การเตรียมกองทัพไทยที่จะยกไปตีเมืองพม่า เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๓๖ มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระราชประสงค์ที่ทรงมุ่งหมายนั้น จะตีหัวเมืองมอญของพม่าขึ้นไปจนเมืองเมาะตะมะและเมืองร่างกุ้งก่อน ถ้าสมคะเนก็จะตีให้ถึงเมืองอมระบุระ อันเป็นราชธานีของพม่าด้วยทีเดียว ถ้ายังไม่สมคะเนก็จะรักษาหัวเมืองมอญไว้ คิดตีเมืองพม่าต่อขึ้นไปในคราวหลัง

กองทัพที่จะยกไปนั้น กำหนดจำนวนพลทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ จัดเป็นกองทัพบกทัพหนึ่ง เป็นกองทัพเรือทัพหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะเสด็จทรงบัญชาการกองทัพบก ให้กรมพระราชวังบวรฯทรงบัญชาการทัพเรือ และสั่งให้ต่อเรือรบในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแต่ในฤดูฝนให้พร้อมเสร็จในเดือน ๑๒ พอสิ้นฤดูฝนราวเดือนอ้ายให้กองทัพบกทัพเรือไปประชุมกันที่เมืองทวาย แล้วจะได้ยกไปตีหัวเมืองมอญทั้งทางทะเลและทางบกพร้อมกันทั้ง ๒ ด้านดังนี้

ตรงนี้จะงดความในท้องเรื่อง ไปพิจารณากระบวนศึกที่ไทยยกไปตีเมืองพม่าครั้งนี้เสียก่อน ผู้อ่านหนังสือพระราชพงศาวดารคงสังเกตเห็นว่า ไทยกับพม่าได้ทำสงครามกันมาเป็นยุคใหญ่อยู่ ๒ ยุค คือเมื่อรบกับพระเจ้าหงสาวดี ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมาจนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรรวมเวลา ๕๒ ปี (นับทั้งที่ว่างระหว่างสงครามด้วย) เป็นยุคหนึ่ง ทีหลังมารบกับพระเจ้าอังวะ ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ รวมเวลาได้ ๕๐ ปีอีกยุคหนึ่ง ถ้าสังเกตลักษณะการที่ไทยกับพม่ารบกันทั้ง ๒ ยุคนี้ จะแลเห็นว่ามีเหตุการณ์บางอย่างผิดกันชอบกล จะว่าถึงที่เหมือนกันก่อน คือ

ข้อ ๑ การสงครามคงเริ่มด้วยพม่ามาตีเมืองไทยก่อน แท้จริงถ้าว่าโดยภูมิแผนที่ แผ่นดินพม่าอยู่ห่างไกลไม่ติดต่อเขตแดนกับแผ่นดินสยาม มีรามัญประเทศคั่นอยู่ข้างด้านใต้ แว่นแคว้นไทยใหญ่คั่นอยู่ข้างด้านตะวันออก ถ้ามอญและไทยยังเป็นอิสระอยู่ตราบใด พม่าก็ไม่มีมาตีเมืองไทยได้ ใช่แต่เท่านั้น เขตแดนพม่าข้างด้านตะวันตกติดต่อกับประเทศยะไข่ ซึ่งมีเวลาเป็นศัตรูกับพม่าเนืองๆ ด้วยเหตุเหล่านี้ต่อเมื่อใดพม่ามีกำลังกล้าแข็ง จนสามารถปราบปรามมอญไทยใหญ่และยะไข่ไว้ได้ในอำนาจทั้งหมดแล้ว จึงจะยกมาตีเมืองไทยได้ ความข้อนี้แปลว่า ต่อพม่ามีกำลังใหญ่หลวงยิ่งกว่าไทยเป็นอันมากแล้วเมื่อใด จึงจะได้มาตีเมืองไทย เพราะฉะนั้นการสงครามที่ไทยรบมากับพม่า ไทยจึงต้องเสียเปรียบพม่ามาแต่แรกรบกันทุกคราว จนต้องเสียกรุงเก่าถึง ๒ ครั้ง

ข้อ ๒ เมื่อไทยเสียบ้านเมืองยับเยินแล้ว คงกลับตั้งตัวเป็นอิสระสำเร็จได้ในโอกาสแรก ไม่มีพลาดพลั้ง แล้วพยายามต่อสู้พม่าที่ยกมาปราบปรามพ่ายแพ้ไปด้วยกำลังทั้งน้อยๆ จนพม่าเข็ดขยาดไม่อาจมาเบียดเบียน

ข้อ ๓ ครั้นไทยมีชัยได้อิสระมั่นคงแล้ว ก็ยกไปตีเมืองพม่าข้าศึกแก้แค้นบ้าง

ความ ๓ ข้อที่กล่าวนี้ปรากฏเหมือนกันมาทั้งสองยุค


ที่นี้จะกล่าวถึงการที่ผิดกัน คือ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดีแก้แค้นพม่า ครั้งนั้นข้างเมืองพม่ากำลังเกิดแตกร้าวรวนเร ด้วยเจ้าประเทศราชพากันกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นแก่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง หัวเมืองมอญข้างใต้และเมืองทวายก็มาสามิภักดิ์ขึ้นอยู่กับไทย เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดก็ยังเป็นเมืองขึ้นขิองไทย สมเด็จพระนเรศวรฯอาจจะเสด็จออกไปตั้งประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะ แล้วยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี เมืองหงสาวดีก็อยู่ในแดนมอญใต้เมืองอังวะลงมามาก

ในครั้งรัชกาลที่ ๑ ถึงไทยมีชัยชนะพม่าที่เข้ามาบุกรุกจนเข็ดขยาดเหมือนครั้งสมเด็จพระนเรศวรฯก็จริง แต่ข้างเมืองพม่ายังมั่นคง พระเจ้าปดุงยังมีกำลังและอำนาจอยู่เต็มที่ หัวเมืองมอญข้างใต้ก็ยังมิได้มาเป็นเมืองขึ้นอยู่กับไทยเหมือนครั้งสมเด็จพระนเรศวรฯ และที่สุดเมืองอมระบุระราชธานีใหม่ของพม่าอันอยู่ใกล้ๆกับเมืองอังวะ ก็อยู่ในแผ่นดินพม่า ห่างไกลขึ้นไปทางข้างเหนืออีกเป็นอันมาก การที่คิดจะตีเมืองพม่าเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นว่าได้ยากยิ่งกว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรฯหลายเท่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท คงทรงพระราชดำริเห็นความยากดังกล่าวมานี้ จึงทรงกะการศึกเป็นชั้นๆคือ หมายจะตีแต่หัวเมืองมอญก่อน เมื่อได้เมืองมอญแล้วจะตีเมืองพม่าต่อไป

เมื่อลองคิดดูว่ามีท่าทางอย่างไรที่จะมีชัยชนะได้สมพระราชประสงค์ที่ยกกองทัพไปครั้งนี้ เห็นว่าคงมีเหตุให้เข้าพระราชหฤทัยว่าจะได้หัวเมืองมอญโดยง่าย ชะรอยพวกมอญจะรับรองเข้ามาว่าถ้ากองทัพไทยยกออกไป มอญจะพากันเข้ากับไทยทั้งหมด ความข้อนี้หลังฐานเป็นที่สังเกตหลายอย่าง เป็นต้นว่าตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรฯก็ดี ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ก็ดี ไทยได้มอญเป็นพวกก่อน จึงยกไปตีเมืองพม่าเหมือนกันทั้ง ๒ ครั้ง

ถ้าว่าโดยเหตุการณ์ในขณะนั้น พวกพระยามอญตัวสำคัญคือ พระยาเจ่ง เป็นต้น ก็มาอยู่กับไทยทั้งนั้น โดยลำพังมอญพวกนี้เคยตีได้หัวเมืองมอญขึ้นไปจนถึงเมืองร่างกุ้งก็ครั้งหนึ่งแล้ว ถึงตัวนายหนีเข้ามาอยู่เมืองไทย พรรคพวกก็ยังมีอยู่ในเมืองมอญเป็นอันมาก สื่อสารไปมาถึงกันอยู่เสมอ พวกมอญทั้งสองฝ่ายคงต้องได้ทาบทามนัดแนะกันเป็นยุติว่าจะช่วยไทยรบพม่า

ความที่ปรากฏในกระแสพระราชดำริว่าจะตีเมืองเมาะตะมะและเมืองร่างกุ้งก่อน ถ้าเป็นทีก็จะได้ตีเมืองอมระบุระดังนี้ ก็เพราะไม่มั่นพระราชหฤทัยว่าจะได้มอญเป็นกำลังสักเพียงใด ถ้าอาศัยกำลังมอญๆด้น้อย ก็จะตีเพียงเมืองเมาะตะมะและเมืองร่างกุ้ง ถ้าพวกมอญเป็นกำลังได้แข็งแรงก็จะตีให้ถึงเมืองอมระบุระทีเดียว

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มิได้เสด็จยกกองทัพไปด้วยความประมาท เมื่อพิเคราะห์ดูกระบวนทัพที่ทรงจัดครั้งนั้นก็เห็นดีนักหนา ถ้าการพร้อมมูลได้ดังพระราชดำริ เห็นว่าจะสำเร็จได้ดังทรงมุ่งหมาย แม้อย่างต่ำคงตีได้ถึงเมืองเมาะตะมะเป็นแท้

แต่นี้จะกล่าวด้วยเรื่องการสงครามต่อไป ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อเวลาเตรียมทัพนั้น กรมพระราชวังบวรฯเสด็จลงไปประทับอยู่ที่เมืองชุมพร เห็นจะเสด็จลงไปเมื่อราวเดือน ๗ เดือน ๘ ปีฉลู ให้เกณฑ์หัวเมืองฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองไทรขึ้นมาจนเมืองชุมพร(๔) ให้ต่อเรือรบและเกณฑ์คนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก เข้าสมทบกับกองทัพฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯเป็นกองทัพเรือ

ฝ่ายกองทัพบกซึ่งเตรีมทางกรุงเทพฯนั้น โปรดให้จัดเจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายก กับเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ยกกองทัพล่วงหน้าไปสมทบกองทัพที่เมืองทวายก่อน เห็นจะยกไปในเดือน ๑๒ ปีฉลู แล้วเตรียมกองทัพหลวงที่จะเสด็จยกตามไป

ฝ่ายข้างเมื่อพม่า พระมหาอุปราชาตั้งเตรียมทัพอยู่ที่เมืองร่างกุ้งเมื่อฤดูฝยปีฉลูดังกล่าวมาแล้ว รวบรวมได้ตจำนวนพล ๕๐,๐๐๐ จัดกระบวนเป็น ๖ ทัพ พอสิ้นฤดูฝนก็ให้กองทัพยกลงมาเมืองทวาย มาทางทะเล ๔ ทัพ คือ ทัพที่ ๑ ให้ศิริธรรมรัตนเป็นนายทัพคุมเรือกำปั่นรบ ๖ ลำ มีพลทหารเรือปืนเล็กด้วย ๓,๐๐๐ ทัพที่ ๒ ให้เนมะโยคุณะกยอสูถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ ทัพที่ ๓ ให้หวุ่นยีสิงคยาถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ ทัพที่ ๔ ให้พละรันตะกยอดินถือพล ๑๐,๐๐๐ จำนวนเรือบรรทุก ๑๐๐ ลำ

กองทัพบกให้เนมะโยกยอสีหะสุระถือพล ๑๐,๐๐๐ เดินบกยกกองทัพมาทัพหนึ่ง และให่หวุ่นยีมหาสุระถือพล ๕,๐๐๐ อยู่รักษาเมืองเมาะตะมะ คอยปราบปรามมิให้พวกมอญเป็นกบฏขึ้นข้างหลัง และระวังเผื่อไทยจพยกไปจากเมืองตากด้วยอีกทางหนึ่ง แล้วพระมหาอุปราชาก็ยกกองทัพหลวงตามลงมายังเมืองทวาย

เรื่องพม่ายกกองทัพลงมารบกับไทยที่เมืองทวายเมื่อต้นปีฉลูก็ดี เรื่องที่พระเจ้าปดุงให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่ลงมาดังกล่าวก็ดี ไม่มีในหนังสือพระราชพงศาวดาร ถึงรายการที่รบพุ่งกันที่จะกล่าวต่อไปนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารความก็ย่นย่อไม่ชัดเจน แต่ในพงศาวดารพม่ามีรายการละเอียด ข้าพเจ้าจึงกล่าวตามความที่ปรากฏในพงศาวดารพม่า เว้นแต่แห่งความใดมีในหนังสือพระราชพงศาวดาร จึงยุติตามหนังสือพระราชพงศาวดาร

ฝ่ายข้างเมืองทวาย กองทัพเจ้าพระยารัตนพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา ยกออกไปเมืองทวายก่อนกองทัพพระมหาอุปราชายกมาถึง (พม่าว่า) กองทัพเจ้าพระยามหาเสนามีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่ดอนนอกเมืองข้างด้านตะวันออก เจ้าพระยารัตนาพิพิธมีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ที่วัดเกษตรสันแดง ข้างด้านตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพพระยาสีหราชเดโชมีกำลัง ๕,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ริมหนองด้านเหนือ กองทัพพระยาเพชรบุรีกับพระยากาญจนบุรี มีกำลัง ๑๐,๐๐๐ ตั้งค่ายอยู่ข้างด้านใต้ กองทัพเจ้าพระยามหาโยธากับพระยาทวายมีกำลัง ๑๕,๐๐๐ พม่าว่าตั้งอยู่ในเมือง แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระราชรองเมืองอยู่ในเมือง จึงเข้าใจว่ากองทัพเจ้าพระยามหาโยธา กับพระยาทวายจะตั้งอยู่ข้างนอกเมืองรักษาทางด้านตะวันตก ยังกองทัพพระยายมราชอีกทัพหนึ่ง ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าตั้งค่ายอยู่นอกเมือง บางทีจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนกองทัพเรือกรมพระราชวังบวรฯทรงเร่งรัดให้ต่อเรือทั้งกลางวันกลางคืน ได้เรือรบพอจัดเป็นกองทัพน้อยไปรักษาปากน้ำเมืองทวายอยู่กองหนึ่ง แต่กองทัพเรือที่เป็นทัพใหญ่ยังไม่พร้อมเสร็จยังหาได้ยกไปไม่

ฝ่ายกองทัพพม่า ทัพเรือที่ ๒ ซึ่งเนมะโยคุณะกยอสูเป็นนายทัพลงมาถึงเมืองทวายก่อน พบทัพเรือไทยที่ปากน้ำ ได้รบพุ่งกัน กองทัพเรือไทยน้อยกว่าพม่า สู้ไม่ได้ถอยหนี กองทัพพม่าจึงเข้ามาทางปากน้ำทวายมาตั้งอยู่ที่เกาะหงส์ข้างทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองทวาย

ครั้นกองทัพเรือที่ ๓ ที่ ๔ ตามลงมาถึง ก็ให้พลขึ้นบกที่ตำบลมองมะกัน แล้วยกมาตั้งค่ายที่ตำบลกินมะยาข้างด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองทวาย

ส่วนกองทัพบกของเนมะโยกยอดินสีหะสุระแม่ทัพใหญ่ยกลงมาถึงเมืองทวาย ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลกำยอ แล้วแบ่งกำลังให้เลตะยาสีหะสิงคยาปลัดทัพ แยกไปตั้งที่ตำบลกะมอกตองข้างด้านเหนือเมืองทวายอีกทัพหนึ่ง

ความในหนังสือพระราชพงศาวดารกับพงศาวดารพม่ายุติต้องกันว่า เมืองทวายครั้งนั้นทั้งกรมการและไพร่พลมีทั้งพม่าและทวายปะปนกัน ถูกเกณฑ์แบ่งกันไปสมทบทำการในกองทัพไทยทุกๆทัพ ครั้นเห็นพม่ายกทัพใหญ่ลงมา พวกชาวเมืองทวายก็พากันครั่นคร้ามไม่เป็นใจจะช่วยไทยสู้รบ ไม่ฟังบังคับบัญชาเรียบร้อยดังแต่ก่อน เป็นเหตุให้แม่ทัพนายกองต้องลงอาญาเฆี่ยนตีมุลนายผู้เป็นหัวหน้าของพวกกระด้างกระเดื่องนั้นเนืองๆ พวกที่มีความเจ็บแค้นไทยจึงคิดเป็นไส้ศึกขึ้นในเมืองทวาย

ความปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อเดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีฉลู พวกกรมการในเมืองทวาย ๗ คนมีหนังสือออกไปถึงแม่ทัพพม่า นัดให้ลอบเข้ามาปล้นเมืองในเวลากลางคืน จะเปิดประตูรับ ครั้นพม่ายกมาซุ่มอยู่ คอยดูแสงโคมซึ่งพวกไส้ศึกนัดว่าจะยกขึ้นให้เป็นสัญญาให้ยกเข้าตีเมือง คอยอยู่จนตลอดคืนไม่เห็นแสงโคมก็กลับไป ครั้นกลับไปถึงค่ายเวลาเช้าขึ้นเห็นแพหยวกใส่ศีรษะคน ๗ คน ลอยน้ำลงไปจากเมือง จึงรู้ว่าไทยจับพวกไส้ศึกได้

ฝ่ายข้างกรุงเทพพระมหานคร ครั้นถึงฤดูแล้งเห็นจะในราวเดือนอ้าย ปีฉลู พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จยกกองทัพจากกรุงเทพฯไปประทับอยู่ที่ค่ายหลวงริมลำน้ำน้อย แขวงเมืองไทรโยค เจ้าพระยารัตนาพิพิธบอกมากราบบังคมทูลฯว่า พม่ายกกองทัพใหญ่ลงมาตั้งล้อมเมืองทวาย และพวกชาวเมืองพากันกระด้างกระเดื่องไม่เรียบร้อยดังแต่ก่อน ได้ทรงทราบก็เสด็จยกกองทัพหลวงตามออกไปเมืองทวายทาง(ด่าน)ขะมองส่วย

เห็นจะเป็นในเวลาเมื่อกองทัพหลวงกำลังเดินทางอยู่นั้น ทางเมืองทวายพม่าก็ยกเข้าตีกองทัพไทย ปรากฏรายการในพงศาวดารพม่าว่า กองทัพเลตะยาสีหะสิงคยาซึ่งตั้งอยู่ข้างด้านเหนือ ยกข้ามแม่น้ำเมืองทวายมาจั้งข้างฟากตะวันออก ได้รบพุ่งกับกองทัพพระยากาญจนบุรีเป็นสามารถ พระยากาญจนบุรีถูกปืนตายในที่รบ กองทัพก็ถอยกลับเข้ามายังชานเมือง

ขณะนั้นเจ้าพระยามหาโยธากับพระยาทวายคุมพล ๑๐,๐๐๐ ยกออกไปตั้งค่ายรับข้าศึกที่ริมน้ำไชยา พม่ายกเข้าตีค่ายเจ้าพระยามหาโยธาแตก พม่าติดตามไปตีค่ายพระยาสีหราชเดโชชัยได้อีกค่ายหนึ่ง

กองทัพพม่าทั้งทัพบกทัพเรือจะเข้าตั้งล้อมประชิดเมืองทวาย แต่กองทัพไทยต่อสู้ป้องกันเมืองโดยสามารถ เอาปืนใหญ่ยิงพม่าล้มตายลง จนเข้าประชิดเมืองข้างตะวันตกไม่ได้ก็ถอยลงไปข้างใต้ เข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรีรบพุ่งกันเป็นสามารถ สู้กองทัพพระยาเพชรบุรีไม่ได้ ต้องกลับลงเรือถอยออกไป

ต่อมาอีก ๓ วัน พม่าจัดพลอาสา ๕,๐๐๐ ยกไปตีค่ายพระยาเพชรบุรีอีก แต่แรกพม่าตีค่ายได้ แล้วไทยได้กำลังหนุนมากลับตีเอาค่ายคืนได้ พม่าก็ต้องถอยไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พม่ายกเข้าตีเม

ศึกคราวตีเมืองพม่า, ศึกคราวตีเมืองพม่า หมายถึง, ศึกคราวตีเมืองพม่า คือ, ศึกคราวตีเมืองพม่า ความหมาย, ศึกคราวตีเมืองพม่า คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu