ที่กรมศิลปากร เมื่อบ่ายวันที่ 17 ม.ค. นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวตราสัญลักษณ์และการ ประดับธง กับตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 ว่า กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการในการจัดงานพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ให้ดำเนินการ ออกแบบ ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลฯ ซึ่งกรมศิลปากรได้มอบหมายให้คณะช่าง จากสำนักงาน ช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร 5 คน ประกอบด้วย นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 ว. นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรม 5 นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ 6 ว. นายอัครพล คล่องบัญชี จิตรกร 5 และนายเจริญ ฮั่นเจริญ จิตรกร 5 ออกแบบตราสัญลักษณ์คนละ 3 แบบ รวม 12 แบบ แล้วรวบรวมแบบ ตราสัญลักษณ์ ทั้ง 12 แบบ เสนอผ่าน สำนักนายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระราชวินิจฉัยกลับมา
นายอารักษ์กล่าวต่อว่า ต่อมากรมศิลปากรได้รับรายงานกลับมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแบบที่ 12 ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของนาย สุเมธ พุฒพวง หลังจากขึ้นนำทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงมีพระราชวินิจฉัย เรื่องลายเส้นที่ผิด ช่องไฟผิด ซึ่งศิลปินได้น้อมรับและนำกลับมาดำเนินการแก้ไข ซึ่งพระองค์ทรงมี พระอัจฉริยภาพ ทางด้าน ศิลปกรรม สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของเส้นสายฉัตรต่าง ๆ มีความกลมกลืน เหมาะสมกับความเป็นจริงรวมทั้งช่องไฟของส่วนประกอบ ในตราสัญลักษณ์ต้องมีความกลมกลืนกันทั้งหมด หลังจากได้มีการปรับแก้ 3 ครั้งจึงแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ ในวโรกาส เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ตนรู้สึกดีใจมากและกล่าวกับนายสุเมธว่า ขอให้ทำให้ดีที่สุด เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ที่ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่าน ส่วน ความหมาย ของตราสัญลักษณ์นั้น สำนักราชเลขาธิการ จะดำเนินการเผยแพร่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่อว่า สำหรับข้อปฏิบัติ การขอใช้ตราสัญลักษณ์และการ ประดับธง กับตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา มีดังนี้
1. กรณีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป มีความประสงค์นำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการจัดทำสิ่งของใดๆ ก็ตาม ให้แจ้ง สำนักราชเลขาธิการ เพื่อพิจารณาคำขออนุญาต
2. โครงการและกิจกรรมที่ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ จากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว สามารถนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในโครงการและกิจกรรมได้เลย โดยให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการทราบ เพื่อรวบรวมบันทึกไว้เป็น ประวัติศาสตร์ ยกเว้นโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดรายได้ จะต้องได้รับการพิจารณาจากสำนักราชเลขาธิการก่อน
3. ให้ ประดับธงชาติ ไทยคู่กับธงผืนผ้าสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์บนผืนผ้า และประดับตราสัญลักษณ์ตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ของหน่วยงาน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการ ทั้งนี้ ให้ประดับในระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550
“หลังจากนี้กรมศิลปากรจะนำ ต้นแบบ ตราสัญลักษณ์ ไปจัดพิมพ์ให้รัฐบาลแจกจ่ายตามหน่วยงานรัฐและเอกชนเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานตราสัญลักษณ์ในโอกาสสำคัญนี้ หากมีกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ขอให้นำตราสัญลักษณ์นี้ไปใช้เท่านั้น ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีบรรดาพ่อค้าประชาชนส่วนหนึ่ง ทำตราสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในกิจการต่างๆ นั้น คิดว่าคงไม่มีเจตนาอย่างอื่น จึงขอความร่วมมือให้นำตราสัญลักษณ์ ที่ถูกต้องนี้นำไปใช้ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลอย่างพร้อมเพรียงโดยทั่วกัน” นาย อารักษ์ กล่าว
ด้านนายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 กลุ่มงาน ศิลปประยุกต์ กรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมศิลปากร ให้เป็นคณะช่างออกแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 ได้ออกแบบตราสัญลักษณ์ฯ แบบที่ 12 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยให้แก้ไขปรับปรุงบางส่วน และทรง มีพระบรมราชานุญาตพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์นี้ใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยองค์ประกอบของตราสัญลักษณ์ ประกอบด้วย
1. พระราชลัญจกร รัชกาลที่ 9 ซึ่งแทนองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. พระมหาพิชัยมงกุฎ อยู่ด้านบน โดยด้านหลังเป็นพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร รวมทั้งพระเศวตฉัตร 7 ชั้นขนาบคู่ทั้ง 2 ด้าน ที่แสดงถึงเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์
3. เลขไทย ๘๐ เพชร 80 เม็ด อันเป็นปีที่เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา
4. แพรแถบสีชมพู ที่บอกชื่อตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งการที่ตนเลือกใช้สีชมพู เพราะเป็นสีที่ตรงกับ หลักโหราศาสตร์ ทักษาพยากรณ์ ซึ่งถือเป็นสีที่เป็นอายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรง พระราชสมภพ ในวันจันทร์ โดยเลือกใช้สีชมพูอ่อนเพื่อให้พื้นสีของ ตราพระราชลัญจกร โดดเด่น และ
5. พระที่นั่งอัฐทิสอุทุมพรราชอาสน์ เป็น พระที่นั่ง ที่มีความสำคัญ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระที่นั่งดังกล่าวใน พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และเสด็จประทับให้ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารถวายพระพรที่ รัฐสภา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้เขียน ดอกพิกุล จำนวน 9 ดอกบริเวณแท่นแปดเหลี่ยมรองรับ พระที่นั่งอัฐทิสอุทุมพรราชอาสน์
“ผมรู้สึกปลาบปลื้มและดีใจที่สุดในชีวิต ที่มีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเกียรติประวัติที่สุดในชีวิตตลอดเวลา 23 ปี ที่รับราชการเป็นช่างของกรมศิลปากร โดยการออกแบบและปรับปรุงแก้ไข ใช้เวลาออกแบบประมาณ 4-5 เดือน ผมพยายามตั้งใจออกแบบอย่างสุดฝีมือ อีกทั้งผมยังเคยมีประสบการณ์การออกแบบตราสัญลักษณ์ ใน งานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และการออกแบบ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมฉลองครบ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาแล้ว” นายสุเมธกล่าว
ภาพและที่มา www.bloggang.com