ป่าประเภทไม่ผลัดใบมีอยู่ประมาณ ๓๐ % ของเนื้อที่ป่าไม้ของประเทศ แยกออกเป็น ๔ ชนิดย่อย ๆ คือ
- ป่าดงดิบ
- ป่าสนเขา
- ป่าพรุ หรือป่าบึง
- ป่าชายหาด
ป่าดงดิบ
ป่าชนิดนี้เกิดขึ้นในภูมิประเทศค่อนข้างชื้น มีฝนชุกและได้รับอิทธิพลลมมรสุมอย่างมาก ป่าชนิดนี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ว่าตามที่ราบหรือแถบภูเขา ป่าดงดิบยังแยกออกไปอีก ๓ ชนิด คือ
ป่าดงดิบชื้น มีอยู่ในภาคใต้ตลอดทั้งภาค และมีในภาคตะวันออกเฉียงใต้บริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด เพราะบริเวณเหล่านี้มีฝนชุกตลอดปี(มากกว่า ๑,๕๐๐ มม.)นอกจากนั้นในบางท้องที่ของจังหวัดหนองคายก็มีป่าที่มีสภาพคล้าย ๆ กันนี้ ป่าชนิดนี้เป็นป่าที่ประกอบด้วยไม้หลายชนิด เป็นสังคมพืชที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน มีพืชพันธุ์อีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่รู้จักชื่อ ไม้ในป่าดงดิบชื้นในคาบสมุทรแหลมทอง ที่รู้จักชื่อแล้วมีประมาณ ๒,๕๐๐ ชนิด (สเปอร์ ๒๕๐๗) ป่าชนิดนี้เป็นป่าทึบ มีเรือนยอดชิดกัน อาจแยกชั้นความสูงของป่าออกเป็น ๓ ชั้น คือ ไม้ชั้นบนสุดหรือไม้ที่สูงที่สุด สูงถึง ๔๐-๕๐ เมตร มีขนาดใหญ่ อยู่กระจัดกระจายเป็นตอน ๆ ส่วนไม้ขนาดกลางที่สูงราว ๒๕-๓๐ เมตร จะมีมากกว่า และติดกันเป็นพืด หากมองจากเครื่องบินจะเห็นเป็นเหมือนกับพื้นอีกชั้นหนึ่งในป่าที่สมบูรณ์ ชั้นล่างสุดคือ ไม้เล็กและลูกไม้ต่าง ๆ ประกอบกันหนาแน่นมาก มีพวกปาล์มและเถาวัลย์ประกอบทำให้แน่นทึบและผ่านเข้าไปได้ลำบาก แสงสว่างที่ส่องลงมาจากเบื้องบน ในบางตอนไม่อาจส่องทะลุถึงพื้นได้ แม้ว่าจะมีความชื้นสูง แต่อากาศสดชื่นดี นอกจากว่ามีสัตว์และพืชที่มีพิษมากมายหลายชนิดแล้ว
ป่ารุ่นสองที่ขึ้นหลังจากป่าเดิมถูกตัดฟันลง จะแน่นทึบ และพืชที่มีหนามมักจะขึ้นอยู่ ยากแก่การบุกเข้าไปได้ เถาวัลย์ในป่าชนิดนี้มีมากมายหลายชนิด มีทั้งชนิดเป็นเกลียวคล้ายสว่าน ชนิดที่เป็นขั้นบันได (บางแห่งเรียกบันไดลิง) บางชนิดขึ้นพันไม้ใหญ่ นอกจากนั้นพืชจำพวกเฟินก็มีมากรวมทั้งพวกกาฝากเกือบทุกชนิด ต้นไม้ส่วนใหญ่มีลำต้นเปลาตรงและสูง ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน เพราะแย่งกันรับแสงสว่างซึ่งทำให้มีคุณภาพในทางการค้าดี อย่างไรก็ดีลักษณะหนึ่งที่สำคัญของไม้ในป่าชนิดนี้คือ ที่โคนต้นมักมีพูพอนส่วนมากเป็นรูปสามเหลี่ยม บางทีแตกพูพอนที่โคนต้นถึง ๕-๑๐ เมตรก็มี แต่บางชนิด ก็ไม่มีพูพอน แต่ที่โคนลำต้นใหญ่เป็นพิเศษ ไม้ในป่าชนิดนี้ส่วนมากมีเปลือกเรียบบ้างหนา บ้างบางแต่เปลือกแตกและขรุขระไม่ค่อยมี พันธุ์ไม้ที่มีความสำคัญทางการค้าในป่าดงดิบชื้นของไทยก็มี ไม้ยาง ไม้ตะเคียน เป็นต้น ความหมายของคำว่าป่าดงดิบหมายถึงว่าป่านั้น ๆ จะมีสีเขียวอยู่เสมอตลอดปี ใบไม้ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตาย เมื่อใบแก่ร่วงใบใหม่ก็จะออกมาแทนที่ แต่ต้นไม้ในป่าชนิดนี้ใบร่วงไม่พร้อมกัน และใบใหม่ก็ออกไม่พร้อมกัน จึงดูเหมือนว่า ใบไม้ในป่าชนิดนี้เขียวอยู่เสมอ
ป่าดงดิบแล้ง ป่าชนิดนี้มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ตามที่ราบลุ่ม ตามหุบเขา ในระดับต่ำซึ่งประมาณ ๕๐๐ เมตร หรือตามแนวลำห้วย และลำธาร ตามบริเวณที่มีน้ำฝนค่อนข้างชุก ขณะนี้มีป่าชนิดนี้เป็นหย่อม ๆ ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากตามบริเวณหุบเขาแล้ว ป่าดงดิบแล้งในปัจจุบันนี้เป็นร่องรอยที่เหลืออยู่ของพื้นที่ ป่าอันกว้างใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ปกคลุมที่ราบภาคกลาง หรือที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และบางส่วนของที่ราบสูง บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันป่าดงดิบแล้งที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ดีได้แก่ ป่าภูหลวง-วังน้ำเขียว ที่ตำบลสะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของชายป่าดงพญาเย็นที่มีชื่อเสียง ป่าดงดิบแล้งนั้นมีลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายป่าดงดิบชื้น แต่โปร่งกว่าเล็กน้อย ไม้ที่มีค่าทางการค้า ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้พยุง ไม้ชิงชัน เป็นต้น
ป่าดงดิบเขา ป่าชนิดนี้พบอยู่ในที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่ราบสูงภาคเหนือ ในป่าชนิดนี้บรรยากาศมีความชื้นสูงมากจะเห็นได้ว่าตามต้นไม้ มีพืชจำพวกมอสปกคลุมอยู่ทั่วไป ป่าตามบริเวณหุบเขามีความอุดมสมบูรณ์มากและประกอบด้วยพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ส่วนบนสันเขาและยอดเขาบางแห่งมักจะมีพืชพันธุ์อยู่น้อยชนิดกว่าตามหุบเขา ป่าชนิดนี้ส่วนมากไม่มีการทำไม้ในอดีต เพราะว่าภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงชัน ไม่มีทางชักลาก เข้าไปถึงได้ลำบาก พันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชนิดนี้ ได้แก่ไม้ก่อต่าง ๆ เช่น ก่อเดือย ก่อตี่ ก่อแป้น เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีไม้ยาง ไม้ตะเคียน เช่นเดียวหรือคล้ายกับป่าดงดิบอื่น ๆ
ป่าสนเขา
ป่าชนิดนี้กระจัดกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ทางภาคเหนือและทางแถบที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความสูง ๒๐๐-๑,๓๐๐ เมตร ดินในที่เหล่านี้เป็นดินไม่ค่อยดี มักเป็นดินปนทรายสีเทาหรือดินปนกรวดสีน้ำตาลและบางแห่งก็เป็นดินลูกรัง มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีต้นไม้เพียง ๒-๓ ชนิดขึ้นอยู่ในป่าชนิดนี้ ส่วนมากเป็นพวกสนเขา ซึ่งมักจะโปร่งหรือโล่งแจ้ง บางท้องที่มีไฟป่าไหม้บ่อย ๆ เพราะไม้สนมีน้ำมันที่ติดไฟได้ง่าย ป่าชนิดนี้มีลักษณะคล้าย ๆ ป่าทุ่ง
ป่าพรุ หรือป่าบึง
ในที่ลุ่มต่ำปากแม่น้ำและชายทะเลที่เป็นโคลนเลน จะมีพืชพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะโดยเฉพาะขึ้นอยู่ ป่าชนิดนี้จะมีน้ำท่วมขัง และลดลงตามช่วงเวลาหนึ่ง ๆ พบมีอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ลุ่มของประเทศ ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนสูง เนื่องจากเป็นดินชุ่มน้ำ ต้นไม้บางชนิดจึงต้องปรับปรุงระบบรากให้เหมาะสมแก่การหายใจ เช่น ปลายรากสุดจะเป็นปุ่มโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน หรือรากอาจโผล่ขึ้นมาแล้วลงดินอีกทีหนึ่ง หรืออาจขึ้น ๆ ลง ๆ เช่นนี้สองครั้งก็ได้ ต้นไม้บางชนิดจะมีรากหยั่งซึ่งงอกออกจากโคนต้นเหนือดิน ปรากฏอยู่ระเกะระกะเพื่อยึดลำต้นให้มั่นคง ต้นไม้บางชนิดก็มีพูพอนตามโคนต้น
ป่าชนิดนี้อาจจำแนกออกได้ตามลักษณะภูมิประเทศ ๒ ชนิด คือ
ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด มักพบป่าชนิดนี้อยู่ตามที่ราบลุ่มต่ำตอนใน ดินมีลักษณะเป็นดินทรายมูลหรือดินทราย ถ้าเป็นดินทรายมูล ผิวพื้นจะเป็นโคลน และมีหล่มลึก ไม้ที่มีค่าเช่น ไม้เสม็ด และไม้ส้านทุ่ง ซึ่งอาจใช้เผาถ่าน หรือใช้ทำเสาเข็มขนาดเล็กได้ ส่วนใหญ่แล้วป่าจะมีลักษณะทึบ ต้นไม้มีขนาดเล็ก และสูงเพียง ๑๐ เมตร ไม้พื้นล่างเป็นพวกหญ้าหลายชนิด ซึ่งหญ้าบางชนิดสูงถึง ๑.๕๐ เมตร
ป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง ป่าชนิดนี้มักพบอยู่ตามบริเวณปากแม่น้ำ และชายฝั่งทะเลที่เป็นโคลน ดินมีลักษณะเป็นดินทรายมูลลึก และมีความเค็มสูง น้ำจะท่วมป่าชนิดนี้ตามช่วงเวลาน้ำขึ้น ป่าชายเลนมีอยู่ตามภาคใต้ของประเทศไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่สตูลขึ้นไปถึงระนอง และที่ก้นอ่าวไทยเป็นบางตอน ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทางทะเลตะวันออกที่บริเวณอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้มีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นบางตอน ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าชนิดนี้เป็นพวกไม้โกงกาง ลำพู ลำแพน เป็นต้น พืชเหล่านี้จะถูกน้ำท่วมเป็นครั้งคราว แม้จะเป็นน้ำทะเล แต่ก็ไม่เป็นผลเสียหายแต่ประการใด ใบมีลักษณะหนาคล้ายหนังสัตว์ และทำหน้าที่เก็บน้ำไว้เลี้ยงลำต้น ไม้ที่ขึ้นชื่อในป่าชนิดนี้คือไม้โกงกาง ซึ่งมีอยู่สองสามชนิด ส่วนมากใช้ทำถ่าน เพราะให้ความร้อนดีและใช้ได้ทน
ป่าชายหาด
ป่าตามชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นทราย มีโขดหิน และฝั่งค่อนข้างชัน และมีป่าอีกชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เรียกกันว่าป่าชายหาด ป่าชนิดนี้พืชพันธุ์ไม้ขึ้นอยู่เป็นแนวแคบ ๆ หรือเป็นหย่อม ๆ มีอยู่มากทางฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย ซึ่งเป็นด้านที่รับลมฝนและคลื่นอย่างเต็มที่
ป่าชนิดนี้ส่วนมากมีไม้ขนาดเล็กขึ้นกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ มีวัชพืช เช่น สาบเสือขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นป่าที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด