ประวัติฟันดาบ
ดาบเป็นอาวุธสมัยโบราณที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และใช้ในชีวิตประจำวัน ในสมัยปัจจุบันก็ยังใช้ดาบเป็นอาวุธในการรบระยะกระชั้นชิด เช่นดาบปลายปืน เป็นต้น ดาบของแต่ละชาติจะผิดแผกแตกต่างกันออกไป เมื่อหมดสมัยที่จะใช้ดาบเพื่อการรบแล้ว ดาบก็กลายมาเป็นกีฬา ชาติที่นิยมใช้ดาบและมีความสามารถในกีฬาดาบคือ ชาติในยุโรป
ในกีฬาโอลิมปิก กติกาของสหพันธ์ฟันดาบระหว่างประเทศ (Federation International d Escrime) ได้รับการยอมรับโดยมติเอกฉันท์ในการประชุมระหว่างประเทศของสมาคมกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติที่มีขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2457 และประกาศให้ใช้เป็นกติกาสำหรับการแข่งขันในปีเดียวกัน
ประวัติฟันดาบในประเทศไทย
การฟันดาบในประเทศไทยเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2478 แต่ไม่ได้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. 2508 กีฬาฟันดาบจึงได้รับความสนใจจากประชาชนแต่เป็นเพียงส่วนน้อย และค่อยๆ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ สมาคมนักฟันดาบสมัครเล่นฯจึงได้เกิดขึ้น และได้แพร่หลายไปในต่างประเทศ
ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2513 กีฬาฟันดาบได้ประสบความสำเร็จและแพร่หลายแต่ก็ยังอยู่ในเมืองหลวง เพราะส่วนในภูมิภาคนั้นประชาชนยังให้ความนิยมกันน้อย
องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย) ได้เริ่มให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านต่างๆ ทำให้เยาวชนเริ่มสนใจในการฟันดาบ ภายหลังที่สมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทยได้ตั้งขึ้นมาและสมาคมฯเริ่มนำกิจกรรมฟันดาบเข้าไปสู่มหาวิทยาลัย รวมทั้งสถาบันการศึกษาของทหาร ด้วยเหตุนี้เองกีฬาฟันดาบจึงเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ในที่สุดการพัฒนากีฬาฟันดาบก็เริ่มเข้าสู้มาตรฐาน การคัดเลือกนักกีฬาเป็นไปอย่างกว้างขวาง แม้จะมีนักกีฬาฟันดาบฝีมือดีเพียงเล็กน้อยก็ตาม ครั้งแรกที่นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันกับนานาชาติคือการเข้าร่วมการแข่งขันในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 7 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ต่อจากนั้นจึงได้เข้าร่วมในการแข่งขันระหว่างประเทศเรื่อยมา และประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
กีฬาฟันดาบถือได้ว่าเป็นกีฬาสมัยใหม่ที่สุด เพราะมีการพัฒนาที่เป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ผู้ที่เล่นกีฬานี้ยังคงพัฒนาตามวิวัฒนาการ เพราะจะยึดถือแบบอย่างเดิมอีกต่อไปไม่ได้ จำเป็นต้องมีแนวความคิดหรือหลักนิยมใหม่ที่เหมาะสมในการที่จะบรรลุความสำเร็จ ฟันดาบเป็นกีฬาที่มีค่านิยมน้อย แต่มีคุณธรรมสูง ซึ่งความนิยมอาจถึงจุดอิ่มตัว แต่คุณธรรมไม่รู้จักอิ่มตัวและย่อมแสวงหาให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
สมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้จดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯและสหพันธ์สมาชิกของโอลิมปิก เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2510 และเป็นสมาชิกของสหพันธ์กีฬาระหว่างชาติ เมื่อ 19 มกราคม พ.ศ. 2511 และเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟันดาบแห่งเอเชีย เมื่อปี พ.ศ. 2516
อุปกรณ์ฟันดาบ
สนามที่ใช้แข่งขัน
สนามที่ใช้แข่งขันจะต้องเป็นพื้นราบ อาจจะอยู่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ พื้นสนามอาจปูด้วยไม้แผ่นยาง พลาสติกหรือแผ่นโลหะ โดยจะต้องมีความกว้างเท่ากันตลอด ความยาวของพื้นแข่งขันจะขึ้นอยู่กับประเภทของการแข่งขัน แต่อย่างน้อยจะต้องยาว 13 เมตร
การแต่งกาย
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสวมชุดที่ทำจากผ้าเนื้อเหนียวสีขาว ซึ่งจะต้องไม่เรียบลื่นจนปลายดาบลื่นไถลเมื่อแตะถูก ต้องสวมเครื่องป้องกันภายใน ( Plastron ) และสวมหน้ากาก ถุงมือ ซึ่งต้องบุตรงฝ่ามือเล็กน้อยและยาวเกินศอก เสื้อคอตั้ง อาจไม่จำเป็นที่จะต้องยาวเต็มตัว แต่ต้องป้องกันส่วนใต้แขนได้ และต้องสวมเสื้อเกราะหรือโลหะในการแข่งขันประเภทดาบฟอยล์และเอเป้ ส่วนในประเถทดาบฟอยล์หญิง จะต้องมีเครื่องป้องกันทรวงอกอยู่ข้างในเสื้อเกราะด้วย
ชนิดของดาบ
กีฬาฟันดาบเป็นกีฬาที่พัฒนามาจากการใช้ดาบในการต่อสู้ของคนสมัยโบราณ ชาติที่มีชื่อเสียงในกีฬาฟันดาบ ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี โรมาเนีย เป็นต้น ดาบที่ใช้ในการแข่งขันแบ่งออกเป็น ชนิดคือ ดาบฟอยล์ ( The Foil ) ดาบเอเป้ ( The Epee ) และดาบซาเบอร์ ( The Sabre )
1. ดาบฟอยล์ ต้องหนักไม่เกิน 200 กรัม ส่วนที่เป็นใบต้องมีความยืดหยุ่นประมาณ 5.5 - 9.5 เซนติเมตร ถ้าแขวนของหนัก 200 กรัม ที่กระบังดาบ และใบดาบจะต้องคงตัวไม่ยืดหยุ่นจากปลายดาบ 70 เซนติเมตร สำหรับดาบฟอยล์ไฟฟ้า แสงไฟจะปรากฎเมื่อมีแรงกดที่ปลายดาบมากกว่า 500 กรัม
2. ดาบเอเป้ หรือดาบดวลต้องหนักไม่เกิน 700 กรัม ใบดาบต้องเหยียดตรงให้มากที่สุด มีความยืดหยุ่นตัวประมาณ 4.5 - 7 เซนติเมตร ( วิธีวัดเช่นเดียวกับดาบฟอยล์ ) สำหรับดาบเอเป้ไฟฟ้า การฟันจะต้องใช้แรงกดที่ปลายดาบมากกว่า 750 กรัมแสงไฟจึงจะปรากฎ
3. ดาบซาเบอร์ ต้องหนักไม่เกิน 500 กรัม ใบดาบต้องไม่ยืดหยุ่นหรือตึงจนเกินไป ถ้ามีรอยโค้งต้องโค้งตลอดแนวน้อยกว่า 4 เซนติเมตร และต้องไม่โค้งในทิศทางเดียวกับสันดาบข้างที่ใช้ฟัน
อุปกรณ์แจ้งคะแนนไฟฟ้า
ในการแข่งขันประเภทดาบฟอยล์และเอเป้ อาจจะใช้อุปกรณ์แจ้งคะแนนไฟฟ้า โดยใช้ผู้เข้าแข่งขันสวมอุปกรณ์ซึ่งเมื่อฟันถูกเป้าหมายจะมีแสงสว่างเกิดขึ้น โดยในประเภทดาบฟอยล์ กรรมการต้องพิจารณาลักษณะการแทงก่อนให้คะแนน แต่ประเภทเอเป้ไม่ต้องใช้แสงไฟเป็นเครื่องตัดสิน และในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ฝ่ายแทงเป้าหมายห่างกันในเวลา 1/25 วินาที จะถือว่าได้คะแนนทั้ง 2 ฝ่าย แต่สำหรับในประเภทฟอยล์และซาเบอร์ การแทงในลักษณะเดียวกันจะถือว่าเป็นโมฆะ หรืออาจถือว่าผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งต่อสู้ไม่เป็นจังหวะ ประธานกรรมการจะต้องพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายโจมตีแล้วให้คะแนนแก่ฝ่ายรับ
กติกาฟันดาบ
การเริ่มต้นการแข่งขัน
ผู้แข่งขันทั้ง 2 ฝ่ายจะยืนหันข้างให้กับประธานการแข่งขัน โดยทั้งคู่จะยืนห่างจากเส้นแบ่งแดน 2 เมตรประธานกรรมการจะขานเตรียมพร้อม เมื่อผู้เข้าแข่งขันเตรียมพร้อมแล้วจะขานเริ่มแข่ง
ประธานการแข่งขันจะขานหยุด เพื่อหยุดชะงักการแข่งขัน เมื่อ
1. มีการใช้ท่าอันตราย
2. ผู้เข้าแข่งขันไม่มีเครื่องป้องกัน
3. ผู้เข้าแข่งขันออกนอกพื้นที่เข้าแข่งขัน
* ถ้าการแทงก่อนการหยุดชะงักเป็นการแทงที่ได้ผล ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ฝ่าย จะมายืนอยู่หลังเส้นป้องกัน แต่ถ้าเป็นการแทงที่ไม่ได้ผล จะเริ่มเล่นตรงจุดที่เกิดการชะงัก
* การฟันก่อนที่ประธานจะกล่าวขานว่าเริ่มเล่น หรือจากขานว่าหยุด จะถือเป็นโมฆะ
* ในการแข่งขันประเภทดาบฟอยล์และซาเบอร์โดยไม่ใช้อุปกรณ์แจ้งไฟฟ้า ผู้เข้าแข่งขันจะเปลี่ยนแดนกันเมื่อฝ่ายหนึ่งได้คะแนนครึ่งหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ประกอบด้วย
1. ประธานการแข่งขันทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน
2. กรรมการให้คะแนน 4 คน ถ้าใช้อุปกรณ์แจ้งคะแนนไฟฟ้า จะใช้กรรมการให้คะแนน 2 คน
3. กรรมการบันทึกคะแนน
4. กรรมรักษาเวลา
ระยะเวลาการแข่งขัน
สำหรับประเภทชายใช้การแข่งขัน 6 นาที ผู้ชนะคือผู้ทำได้ 5 คะแนนก่อน ส่วนดาบฟอยล์หญิงใช้เวลาแข่งขัน 5 นาที ผู้ชนะคือผู้ที่ได้ 4 คะแนนก่อน ถ้าจบการแข่งขันแล้วได้คะแนนเท่ากัน ประเภทดาบฟอยล์และดาบซาเบอร์จะทำการแข่งขันกันต่ออีกหนึ่งรอบ ผู้ที่ได้คะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ส่วนประเภทเอเป้จะปรับแพ้ทั้งคู่
การให้คะแนน
คะแนนที่ได้จากการฟัน ( Hit ) ผู้เข้าแข่งขันจะต้องฟันคู่ต่อสู้ตรงเป้าหมายด้วยปลายดาบ ในประเภทดาบซาเบอร์การฟันถูกริมหรือบนสามส่วนแรกของขอบหลังของเป้าก็ถือว่าได้คะแนน ในขณะที่ฟัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องอยู่ในพื้นที่เข้าแข่งขันเท่านั้นจึงจะได้คะแนน การแทงที่ออกนอกเป้าสำหรับดาบฟอยล์และดาบซาเบอร์จะนับว่าได้คะแนนถ้าผู้เข้าแข่งขันที่ถูกแทงเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อหลบหนีการถูกแทงตรงเป้าหมาย การแทงที่พลาดเป้าหมายจะทำให้จังหวะการแทงยุติลง
การฟันที่ได้คะแนน
ประธานกรรมการจะป็นผู้ตัดสินการได้คะแนนจากการฟัน หรือลงโทษเนื่องจากทำผิดกติกา โดยกรรมการให้คะแนนจะใช้การยกมือเป็นสัญญาณเพื่อแจ้งต่อประธานกรรมการเมื่อมีการฟันที่ได้คะแนน ซึ่งการฟันจะต้องมีความแม่นยำและจังหวะดีจึงจะได้คะแนน
การโจมตีและป้องกัน
ในการแข่งขันประเภทดาบฟอยล์และซาเบอร์ การแทงที่จะได้คะแนนจะเกิดจากการเคลื่อนที่ที่ถูกต้อง และมีจังหวะที่ดีของผู้เข้าแข่งขัน โดยทั่วไปเมื่อถูกโจมตีฝ่ายรับจะต้องก้าวถอยหลังก่อนที่จะแทงตอบ ฝ่ายรุกคือผู้เข้าแข่งขันที่เหยียดแขนข้างที่ถือดาบฟันที่เป้าหมาย และยังเป็นฝ่ายรุกจนเมื่อฝ่ายรับถอยหลังตลอด ในกรณีของการโจมตีหลายจังหวะฝ่ายรับอาจจะฟันเพื่อให้ฝ่ายรุกหยุด โดยฟันตามจังหวะเมื่อถูกโจมตี คอยหันข้างย่อตัว ตั้งหลักก้าวรุก หรือใช้ทักษะผสมในการตอบโต้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเคลื่อนที่ รวมทั้งจังหวะและความยากของการโจมตี ส่วนการแข่งขันประเภทดาบเอเป้ การฟันจะไม่มีจังหวะและไม่มีลำดับของการเคลื่อนที่นอกจากนี้ในการแข่งขันทุกประเภทอนุญาตให้เข้าโจมตีด้วยวิธีการก้าววิ่งได้
การทำผิดกติกาและการกำหนดคะแนนโทษ
1. การต่อสู้ประชิดตัวอนุญาตให้ทำได้ในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันถือและใช้อาวุธได้อย่างถูกต้อง
2. การปะทะตัวกันสำหรับการแข่งขันประเภทฟอยล์และซาเบอร์ จะใช้การเตือนเป็นการลงโทษครั้งแรก หลังจากนั้นถ้ากระทำผิดอีกจะถูกปรับเป็นถูกแทง 1 ครั้ง ส่วนประเภทดาบเอเป้ การปะทะตัวกระทำได้เมื่อไม่เจตนาและไม่รุนแรง
3. อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันก้มตัวต่ำและหมุนตัวได้
4. มือที่ไม่มีอาวุธอาจแตะถูกพื้นสนามได้ แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันแตะถูกตัวกัน ประธานกรรมการอาจสั่งหยุด และให้จัดตำแหน่งใหม่
5. การฟันในจังหวะที่สวนกันถือว่าไม่ผิดกติกา แต่ถ้าหลังจากการที่สวนผ่านไปแล้วจะไม่นับคะแนน
6. การข้ามเขตแดนทำได้โดยประเภทดาบฟอยล์ต้องไม่เกิน 1 เมตรและไม่เกิน 2 เมตร สำหรับประเภทดาบเอเป้และซาเบอร์
7. การฟันนอกพื้นที่แข่งขันไม่นับคะแนน
8. การข้ามเขตแดนด้านข้างเพื่อหลบการฟัน จะถูกลงโทษเป็นการถูกแทง 1 ครั้ง ถ้าถูกเตือนมาก่อนแล้ว รวมทั้งการข้ามเขต หลังด้วย
9. การถ่วงเวลาการแข่งขันจะถูกเตือนและปรับเป็นถูกฟัน 1 ครั้ง
10. การฟันที่ไม่ถูกต้อง รุนแรง และไม่เหมาะสมจะถูกลงโทษโดยการเตือน
11. การไม่เชื่อฟังกรรมการครั้งแรกจะถูกเตือน ครั้งที่สองจะถูกปรับเป็นถูกฟัน 1 ครั้ง และถูกไล่ออกจากการ แข่งขันสำหรับครั้งที่สาม
12. อาวุธต้องถือด้วยมือข้างใดข้างหนึ่ง การเปลี่ยนมือถืออาวุธจะต้องขออนุญาตจากกรรมการก่อน
13. ผู้เข้าแข่งขันจะขว้างอาวุธไม่ได้ และมือจะต้องจับด้ามดาบเสมอ
14. ห้ามไม่ให้ใช้มือข้างที่ไม่ได้ถือดาบ เพื่อเป็นการป้องกันหรือโจมตี
15. การฟันที่ไม่ใช้มือข้างที่ถืออาวุธถือเป็นโมฆะ
16. การจงใจหรือเจตนาทำผิดกติกาอาจถูกคะแนนได้
ที่มา : www.siamsport.co.th