ประตูภาคใต้ ไหว้เสด็จในกรม
ชมไร่กาแฟ แลหาดทรายรี ดีกล้วยเล็บมือ ขึ้นชื่อรังนก
จังหวัดชุมพร มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1098 โดยมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านของนครศรีธรรมราช ใช้รูปแพะเป็นตราเมือง เป็นเมืองใน อาณาจักรฝ่ายใต้ของกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมณฑลชุมพร ต่อมามีการยุบการปกครองระบอบมณฑล ชุมพรจึงมีฐานะเป็นจังหวัด คำว่า “ชุมพร” สันนิษฐานว่ามีที่มาจากคำต่าง ๆ ว่า “ชุมนุมพล” เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่าน การเดินทัพไม่ว่าจะมาจากฝ่ายเหนือหรือว่าฝ่ายใต้ ล้วนเข้ามาตั้งค่ายชุมนุมพลกันที่นี่ จึงเรียกจุดนี้ว่า “ชุมนุมพล” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ชุมพร” อีกความหมายหนึ่งอาจมาจากคำว่า “ ชุมนุมพร” เนื่องจากประการหนึ่งในการเดินทางไปทำศึกสงครามของแม่ทัพนายกอง ตั้งแต่สมัยโบราณมา เมื่อจะเคลื่อนพลจะต้องทำพิธีส่งทัพโดยการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ได้รับชัยชนะในการสู้รบเป็นการบำรุงขวัญทหาร ในสถานที่ชุมนุมเพื่อรับพรเช่นนี้ ตรงกับความหมายชุมนุมพร หรือประชุมพร แต่อีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะได้มาจากชื่อพันธุ์ไม้ธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นมะเดื่อชุมพร เพราะที่ตั้งของเมืองชุมพรนั้นอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา มีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นมากมาย ต้นมะเดื่อชุมพรจึงเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของตราประจำจังหวัดชุมพร
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดระนองและสหภาพพม่า
งานประเพณีแห่พระแข่งเรืออำเภอหลังสวน
เป็นประเพณีเก่าแก่ของอำเภอหลังสวนซึ่งมีมานานกว่า 100 ปี จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี โดยมีความเชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาสู่เมืองสังกัสสะในชมพูทวีป พุทธศาสนิกชนจึงเดินทางไปรับเสด็จเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางที่สะดวกในสมัยนั้นคือทางน้ำ จึงมีโอกาสได้พบปะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน และต่อมาจึงเกิดเป็นประเพณีแห่พระแข่งเรือขึ้น โดยมีระยะเวลาในการจัดงานประมาณ 5 วัน มีกิจกรรมที่สำคัญคือการแห่เรือพระ ประกอบด้วยเรือพระจากวัดต่างๆ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และการแข่งขันเรือพายในแม่น้ำหลังสวน
ที่มา www.tat.or.th