เกร็ดน่ารู้ดนตรีไทย
กรอ
๑. เป็นวิธีบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีตี ๒ มือสลับกันถี่ ๆ เหมือนรัวเสียงเดียว หากแต่วิธีตีที่เรียกว่า "กรอ" นี้ มือทั้งสองมิได้ตีอยูที่ลูกเดียวกัน โดยปรกติมักจะตีเป็นคู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔-๕-๖ และ ๘ ฯลฯ
๒. เป็นคำเรียกทางของการดำเนินทำนองเพลงอย่างหนึ่ง ที่ดำเนินไปโดยใช้เสียงยาว ๆ ช้า ๆ เพลงที่ดำเนินทำนองอย่างนี้เรียกว่า "ทางกรอ" ที่เรียกว่าอย่างนี้ ก็ด้วยเหตุเพลงที่มีเสียงยาว ๆ นั้น เครื่องดนตรีประเภทตีไม่สามารถจะทำเสียงให้ยาวได้ จึงต้องกรอ ให้ได้ความยาวเท่ากับความประสงค์ของทำนองเพลง
ขยี้
เป็นการบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงแทรกแซงให้มีพยางค์ถี่ขึ้นไปจาก “เก็บ” อีก 1 เท่า ถ้าจะเขียนเป็นโน้ตสากลในจังหวะ 2/4ก็จะเป็นจังหวะละ 8 ตัว ห้องละ 16 ตัว (ขะเบ็ด 3 ชั้น ทั้ง 16 ตัว)
อธิบาย : การบรรเลงที่เรียกว่าขยี้นี้ จะบรรเลงตลอดทั้งประโยคของเพลง หรือจะบรรเลงสั้นยาวเพียงใด แล้วแต่ผู้บรรเลงจะเห็นสมควร วิธีบรรเลงอย่างนี้ บางท่านก็เรียกว่า “เก็บ 6 ชั้น” ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงหลักการกำหนดอัตรา (2 ชั้น 3 ชั้น) แล้วคำว่า 6 ชั้นดูจะไม่สู้ถูกต้อง ตัวอย่างโน้ต “ขยี้” รวมบันทึกเปรียบเทียบไว้กับ “สะบัด” (ดูคำว่าสะบัด)
ละเอียด
เป็นคำเรียกการบรรเลงรัวหรือกรอ (ดูคำว่ารัวและกรอ) ที่บรรเลงได้โดยมีพยางค์ของเสียงถี่มาก ซึ่งถือว่าการรัวหรือกรอไม้ละเอียดนั้น เป็นการปฏิบัติที่ดี
สะบัด
ได้แก่การบรรเลงที่แทรกเสียงเข้ามาในเวลาบรรเลงทำนอง “เก็บ” อีก 1 พยางค์ ซึ่งแล้วแต่ผู้บรรเลงจะเห็นสมควรว่าจะแทรกตรงไหน ทำนองตรงที่แทรกนั้นก็เรียกว่า “สะบัด”
อธิบาย : การแทรกเสียงที่จะให้เป็นสะบัด ต้องแทรกเพียงแห่งละพยางค์เดียว ถ้าแทรกเป็นพืดไปก็กลายเป็น “ขยี้” ดังจะได้บันทึกเป็นโน้ตสากลเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างเนื้อเพลง เก็บ สะบัด และขยี้
ที่มา https://www.student.chula.ac.th/~48467620/A6.htm