พวกเราชาวไทยต่างก็รู้จักพระนาม สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันเป็นอย่างดี ทั้งจากหนังสือเรียน ละคร หรือแม้แต่ในภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทยเป็นปึกแผ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้อีกด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็น วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รวมถึงยังเป็นวันกองทัพไทยและวันยุทธหัตถีอีกด้วย ทำไมจึงต้องเป็นที่ 18 ลองมาติดตามเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ วันยุทธหัตถี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 คราวนั้น พระเจ้านันทบุเรง ได้ให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงได้มอบหมายให้ทัพหลวงไปรอตั้งรับที่หนองสาหร่าย โดยในขณะที่การรบกำลังดำเนินไปอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ต้อนศัตรูให้ออกไปจนนอกเขตแดน เป็นเหตุให้ทั้งสองพระองค์เพลี่ยงพล้ำไปตกอยู่ในวงล้อมของศัตรูที่เป็นฝั่งพม่าอย่างไม่รู้ตัว ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ตนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงมีสติ ไม่หวั่นไหว และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างรวดเร็ว พระองค์ได้เชิญให้พระมหาอุปราชาเสด็จมาร่วมทำยุทธหัตถี เพราะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะทำให้รอดจากตรงนี้ไปได้ เมื่อการทำยุทธหัตถีเริ่มขึ้น พระองค์ก็พยายามต่อสู้จนได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ พอจบจากการสงครามในคราวนั้นก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย ทำให้ไทยสามารถขยายอาณาเขตออกไปเพิ่มเติมได้อย่างกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ จึงนับได้ว่าสงครามยุทธหัตถีที่เกิดขึ้นในยุคของพระองค์กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งของชาติไทย ทั้งยังเป็นการสู้รบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย
วันกองทัพไทย
เนื่องด้วยในวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา ทำให้กองทัพยกได้ยกให้วันนี้เป็น วันกองทัพไทย หรือ วันยุทธหัตถี อีกด้วย โดยนับว่าเป็นวันรัฐพิธี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่เดิม วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้นตรงกับวันที่ 25 มกราคม เมื่อเกิดการคำนวณวันใหม่ จึงได้กำหนดให้เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปีแทน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะจัดให้มีการวางพานพุ่มสักการะ และยังไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการเช่นเดิม
เหตุผลบางประการที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวันที่นั้น เปลี่ยนมาเป็นการนับวันแบบสุริยะคติ ซึ่งคนปัจจุบันจะจำได้ง่ายกว่าและมีความเหมาะสมมากกว่า ตลอดจน นาย ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีเดิมตรงกับวันจันทร์ เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ที่กำหนดเป็นวันที่ 25 มกราคมนั้นคลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง