สมุนไพรกวาวเครือ
กวาวเครือขาวสามารถออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
กวาวเครือขาวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Pueraria minifica Airy Shaw and Suvatabandhu" จัดเป็นพืชตระกูลถั่วพบตามป่าเบญจพรรณ มีมากในภาคเหนือออกดอกเป็นช่อ ดอกมีสีม่วง ขนาดเล็ก ออกดอกในช่วงมีนาคม ลักษณะของหัวค่อนข้างกลม เมื่อฝานดูมีสีขาว
จากการวิจัยพบว่า หัวกวาวเครือขาวสามารถออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) และออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ แต่ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระอ่อนที่สุดในบรรดากวาวเครือ 3 ชนิด การใช้กวาวเครือขาวในปริมาณน้อย จะออกฤทธิ์ในเชิงกระตุ้น แต่ถ้าใช้ในปริมาณมากจะออกฤทธิ์ในเชิงยับยั้ง ฤทธิ์ของกวาวเครือขาวเป็นฤทธิ์ที่ไม่ถาวร ถ้าหยุดกินกวาวเครือขาว ฤทธิ์ของกวาวเครือขาวจะหมดไปภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากเก็บกวาวเครือขาวที่นำมาทำให้แห้งและบดเป็นผงไว้นาน 5-10 ปี พบว่าฤทธิ์ของกวาวเครือขาวจะค่อย ๆ เสื่อมลง
จากการศึกษาประโยชน์ของกวาวเครือขาวในสัตว์พบว่า กวาวเครือขาวช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสัตว์ ช่วยบำรุงเส้นขน ช่วยเพิ่มผลผลิตของไข่ ใช้ในการแปลงเพศ ช่วยเสริมขนาดของเต้านม ช่วยเพิ่มจำนวนเต้านมในสัตว์ นอกจากนี้ยังพบว่าการให้กวาวเครือขาวในขนาดสูง ๆ กับสัตว์ทดลองพบผลข้างเคียงในทางลบของกวาวเครือขาวบ้าง เช่น พบการเกิดตุ่มฝี ภูมค้มกันลดลง การแท้ง การระงับการหลั่งน้ำนม ซึ่งย่อมแสดงว่าการรับประทานกวาวเครือขาวในขนาดสูงเกินไป หรือขนาดสูงเป็นเวลานานอาจมีผลอันตรายต่อผู้บริโภค
ดังนั้นจึงแนะนำให้ทานกวาวเครือขาวในแบบของการบำรุงสุขภาพ โดยทานกวาวเครือขาวในขนาดต่ำ ๆ และไม่จำเป็นต้องทานทุกวัน ซึ่งจะให้ร่างกายได้รับคุณประโยชน์จากกวาวเครืออย่างเต็มที่
ที่มา : https://www.tkc.go.th/comunity2.