เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร
การเดินขบวนครั้งใหญ่เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า และนำไปสู่การนองเลือดในเช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม เมื่อเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน กลายเป็นการจราจล เหตุการณ์สงบลงในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อ 3 ทรราช ถนอม-ประภาส-ณรงค์ หนีออกนอกประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 3 ปีก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากการกลับมาประเทศไทยของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งได้หนีออกนอกประเทศไปในครั้งนี้
คณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะสร้างเสร็จนั้น ใช้เวลาถึง 28 ปี