การเสริมจมูก (Rhinoplasty) เป็นการตกแต่งโครงสร้างของจมูก ให้มีรูปร่างที่สวยงาม สูงขึ้น และรับกับใบหน้าหรือทำให้โหงวเฮ้งดียิ่งขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีโครงสร้างจมูกแบนและต้องการเสริมจมูกในแนวกลางจมูก นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาดั้งจมูกคด เบี้ยว จากอุบัติเหตุ หรือพิการแต่กำเนิด หรือสันจมูกงุ้มคล้ายแม่มด ทำให้การหายใจไม่สะดวก ทำให้บุคลิกภาพดีขึ้นได้
การเสริมจมูก (Rhinoplasty)
วัสดุที่ใช้ในการเสริมจมูก
1.กระดูกและกระดูกอ่อน ใช้เสริมจมูกคนไข้ที่มีจมูกผิดรูป เนื่องจากอุบัติเหตุหรือแก้ไขความพิการ
2.วัสดุสังเคราะห์ (Synthetic prosthesis) เช่น ซิลิโคนแท่ง (Silicone) ที่ใช้ในวงการแพทย์ เพราะจะมีปฏิกิริยาต่อร่างกายมนุษย์น้อยมาก ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถรับและห่อหุ้มแท่งซิลิโคนให้ยึดติดอยู่กับเนื้อเยื่อได้ดี การใช้วัสดุสังเคราะห์ ซิลิโคนแท่ง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากเพราะปลอดภัยและมีปัญหาน้อยที่สุด เพราะสามารถแก้ไขได้ง่ายกว่า
3. การเสริมจมูกโดยการฉีดสารเติมเต็ม มักจะใช้ในกรณีที่มีความบกพร่องไม่มาก เช่น สันจมูกเบี้ยวเล็กน้อย การเสริมจมูกโดยการฉีดสารต่างๆ มีข้อดี คือ ทำได้เร็ว, บวมน้อย แต่รูปทรงจมูกจะไม่สวยและไม่มีสันจมูกคมชัด แต่มีโครงสร้างจมูกสูงขึ้นเท่านั้น
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
-โปรดแจ้งประวัติการแพ้ยา ยาหรืออาหารเสริมที่ใช้ในปัจจุบันก่อนเข้ารับการผ่าตัด
-หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบ โรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลและแจ้งแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดด้วย และห้ามงดยาควบคุมความดัน ยาควบคุมเบาหวาน รวมถึงยาเพื่อการรักษาโรคประจำตัวเดิม
-ไม่ต้องอดอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ไม่อิ่มเกินไป
-งดแอสไพริน (aspirin), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen) และวิตามินอี ประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
-งดสูบบุหรี่ก่อน-หลังผ่าตัด 2 อาทิตย์
-เตรียมเสื้อเชิ้ตที่มีกระดุมหน้า เพื่อง่ายต่อการสวมใส่
-ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ และอยู่ในช่วงที่มีภาวะแพ้มาก โดยทั่วไปผู้ที่เป็นภูมิแพ้สามารถเสริมจมูกได้ แต่ระหว่าง 1 - 2 อาทิตย์หลังผ่าตัด อาจต้องการยาแก้ภูมิแพ้ช่วยได้ แต่ในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้รุนแรง มีน้ำมูกไหลตลอด ควรรักษาเรื่องภูมิแพ้ด้วยเลเซอร์ก่อน
-ถ้ามีแผลหรือสิวที่บริเวณจมูก ควรรักษาสิวหรือแผลหายก่อนจึงจะทำการผ่าตัดได้
-ถอดวัสดุโลหะ เช่น แหวน, สร้อยคอ, นาฬิกา ฯลฯ ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
การผ่าตัด และชนิดของยาระงับความรู้สึก
ฉีดยาชารอบจมูกแผลที่ผ่าตัดจะมีความยาวประมาณ 1 ซม. บริเวณขอบรูจมูกทั้ง 2 ข้าง เพื่อแยกให้เห็นกระดูกจมูก และสร้างช่องว่าง (Pocket) ที่สันจมูกใต้เยื่อหุ้มกระดูกจมูก แล้วนำแท่งซิลิโคน ซึ่งตกแต่งและทำรูปร่างตามที่กำหนดไว้มาใส่ที่สันจมูก เย็บปิดแผล ปิดพลาสเตอร์บริเวณดั้งจมูกหรือเฝือกจมูก เพื่อช่วยป้องกันจมูกและลดอาการบวม
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
-จมูกเอียง ถ้าตรวจพบในช่วงสองอาทิตย์แรก ก็อาจดัดให้เข้าที่ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นหลังจากนั้น เป็นเพราะถูกชนหรือกระแทก จะต้องผ่าตัดใหม่
-จมูกอักเสบ อาจเกิดจากการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด และอาจเป็นเพราะเสริมจมูกจนโด่งเกินไป ทำให้ปลายจมูกแดงและเกิดการอักเสบ ตามมาให้รีบติดต่อศัลยแพทย์โดยด่วน
การดูแลหลังการผ่าตัด และการพักฟื้น
-หลังผ่า 24 ชั่วโมงคุณจะรู้สึกปวดศีรษะ ปวดบริเวณจมูก บวมบริเวณใบหน้าให้นอนหนุนหมอนสูง และให้พักมากที่สุด
-งดโดนน้ำที่บริเวณแผลผ่าตัด
-หลังผ่าตัดหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างเช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ การก้ม การมีเพศสัมพันธ์ 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด
-รับประทานยาตามแพทย์สั่งจนหมด ถ้ามีอาการแพ้ยา เช่นคัน มีผื่นแดง คลื่นไส้-อาเจียน แน่นหน้าอก ให้หยุดรับประทานทันทีและมาพบแพทย์
-แพทย์จะนัดให้มาตัดไหม หลังผ่าตัด 5-7 วัน
-งดสุราและบุหรี่ ประมาณ 2 อาทิตย์
-โดยทั่วๆ ไปจะบวมมากใน 3 วันแรก หลังจากนั้นจะบวมน้อยลงเรื่อยๆ จนปกติใน 3 อาทิตย์ อาการบวมเขียวอาจมีที่จมูกและใต้ตาทั้ง 2 ข้าง
-ห้ามสั่งน้ำมูกอย่างแรง ถึงคุณจะมีน้ำมูกอุดตัน ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อจะได้บรรเทาอาการคัดจมูก
-ไม่ควรสวมแว่นโดยวางบนดั้งจมูก ให้ติดขาแว่นไว้กับขมับสักสองอาทิตย์หลังการผ่าตัด หรือถ้าตาไม่บวมแล้ว จะใส่คอนแทคเลนส์แทนก็ได้
ข้อมูลจาก ยศการคลินิก