ราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศไทย ต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ.2325 ยุคของราชวงศ์นี้เรียกว่า "ยุครัตนโกสินทร์"
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ของ เจ้าพระยาจักรีองครักษ์ ขณะนั้นดำรงตำแแหน่งสมุหนายกซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า จักรี พ้องเสียงกับคำว่า จักร และ ตรี ที่เป็นเทพอาวุธของพระวิษณุ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ อีกทั้งกำหนดให้ใช้เทพอาวุธนี้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เครื่องราชกกุธภัณฑ์
กกุธภัณฑ์ หรือ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามรูปศัพท์แปลว่า เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตรฺย์ กกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลี มาจาก กกุธ แปลว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ แปลว่า ของใช้; ระบุไว้ในอภิธานัปปทีปิกา คาถา ที่ ๓๕๘ ว่า พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวีชนีคือ มีฉัตรแทนธารพระกร กกุธภัณฑ์มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย
- พระมหาเศวตฉัตร หรือพระนพปฏลมหาเศวตฉัตร
- พระมหาพิชัยมงกุฏ
- พระแสงขรร๕ชัยศรี
- ธารพระกร
- วาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี)
- ฉลองพระบาท
พระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี
"จะกล่าวถึงเจ้านายจำพวกซึ่งเป็นปฐมเป็นต้นแซ่ต้นสกุลเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์แลเจ้าราชินิกุลที่เรียกนามว่า คุณ ว่า หม่อม มีบรรดาศักดิ์เนื่องในพระบรมราชวงศ์นี้ ซึ่งบัดนี้เป็นจำพวกต่างๆอยู่ จะให้รู้แจ้งว่าเนื่องมาแต่ท่านผู้ใด พระองค์ใด เป็นเดิมแต่แรกตั้งกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยานี้มา พึงรู้โดยสังเขปว่าบุรุษนารีมีบรรดาศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าเป็นจำพวกเจ้า คือเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ทั้งปวงนั้น ล้วนปฏิพัทธ์พัวพันสืบต่อลงมาแต่องค์สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี คือ องค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระเจ้าหลวงของพระบาทสมเด็จพระปรโมรุถชามหาจักรีบรมนาถ ซึ่งปรากฏพระนามในบัดนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเป็นปฐมบรมอัครมหาราชาธิราชในพระบรมมหาราชวัง"
จึงนับได้ว่า สมเด็จพระมหาไปยกาธิบดี หรือ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก เป็นพระมหาชนกพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีพระองค์แรกอย่างแท้จริง มีพระมหาสังข์ เดิมเป็นพระมหาสังข์ที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 ปุัจจุบันใช้รดน้ำในพระราชพิธีมงคลให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น
พระมหากษัตริย์ไทยแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์
- รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชาจักรีบรมนาถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325-2352 ครองราชย์ 27 พรรษา พระชนมายุ 74 พรรษา )
- รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปรมพงษเชษฐ์มเหศวรสุนทรฯ พระพุทธเลิศหล้านนภาลัย (พ.ศ. 2352-2367 ครองราชย์ 15 พรรษา พระชนมายุ 58 พรรษา)
- รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสษฐ์มหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 26 ปี พ.ศ. 2367-2394 พระชนมายุ 64 พรรษา )
- รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 16 ปี พ.ศ. 2394-2411 พระชมมายุ 66 พรรษา )
- รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 42 ปี พ.ศ. 2411-2453 พระชนมายุ 58 พรรษา )
- รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 16 ปี พ.ศ. 2453-2468 พระชนมายุ 46 พรรษา )
- รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 9 ปี พ.ศ. 2468-2477 พระชนมายุ 48 พรรษา)
- รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร์ (ครองราชย์ 12 ปี พ.ศ.2477- 2489 พระชนมายุ 21 พรรษา)
- รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ (ครองราชย์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน)
พระบรมวงศานุวงศ์
พระบรมวงศานุวงศ์ไทยแห่ง ราชวงศ์จักรี ในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจาก สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นราชสกุลมหิดล กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี (สังวาลย์ ตะละภัฏ) โดยสมเด็จพระบรมราชชนกนั้นเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ซึ่งถือเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทำให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกัน อีกทั้งภายหลังได้อภิเษกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตมงคล กรมหมื่นจันทรบุรีสุรนาท (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร (สนิทวงศ์)
ข้อมูลเพิ่มเติม th.wikipedia.org, ลำดับพระบรมวงศานุวงศ์ปัจจุบัน