รู้หรือเปล่า ที่มาของคำว่า "ตุ๊ด" มาจากไหน ???
เข้าใจว่าสังคมไทยคงจะมีผู้ชายตุ้งติ้งมานานแสนนานแล้ว ดังคำว่า กระเทย แต่ในทศวรรษที่แปดสิบ ซึ่งสังคมเริ่มเปิดใจกว้างมากขึ้น บุคคลเหล่านี้เริ่มเปิดเผยตนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีคำเรียกคำใหม่ให้กับเขาเหล่านั้นว่า "ตุ๊ด" ซึ่งเป็นคำฝรั่ง แต่ไปตรวจดูในคำแสลงที่ฝรั่งเรียกผู้ชายตุ้งติ้ง เช่นคำว่า Fag หรือ Queer หรือ Drag Queen หาได้มีคำ ๆนี้รวมอยู่ด้วยไม่
ถ้าจะให้เดาคำว่า "ตุ๊ด" น่าจะมาจากหนังฝรั่งที่ชื่อ ทุดซี่ หรือTootsie (1982) ที่มีตัวเอกแสดงเป็นชายปลอมตัวเป็นหญิงมากกว่า ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการของคำแสลงที่น่าสนใจเพราะมันยังทรงพลังอยู่กับสังคมไทยจนมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามในบทความนี้ผมตั้งใจจะวิเคราะห์วิจารณ์หนังเรื่อง Tootsie มากกว่าเรื่องของเพศที่สาม (ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิและรสนิยมส่วนบุคคลที่เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน) ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่าโดนหลอกหรือสนใจเพียงแค่นี้ก็คลิ๊กออกได้เลยครับ
Tootsie เป็นหนังที่กำกับโดย Sydney Pollock ผู้กำกับที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักของแฟนหนังชาวไทยเป็นอย่างดี เช่น
1. Out of Africa (1985) เป็นเรื่องที่ย้อนเวลาไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นางเอก (แสดงโดย Meryl Steep)เป็นชาวเดนมาร์ก เดินทางพร้อมกับสามี (ที่ไม่ได้รักกันจริง)ไปทำสวนกาแฟที่เคนย่า และได้พบรักกับหนุ่มที่ไม่ต้องการพันธะ (แสดงโดย Robert Redford) เพลงประกอบอันไพเราะแต่งโดย John Barry เจ้าของเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Somewhere in Time และ Dances with Wolf
2.The Firm (1933) - ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ John Grisham เป็นเรื่องของทนายหนุ่ม (แสดงโดย Tom Cruise) ที่ไปค้นพบความลับอันแสนชั่วร้ายของบริษัทที่ตัวเองทำงาน แถมยังเจอการบีบคั้นของ FBI ให้กลายเป็น Spy มาสืบในบริษัทแห่งนี้ จนเขาต้องหาทางออกสำหรับตัวเอง เพลงScore ถือว่าไพเราะมากแต่งโดย Dave Grusin นักเปียโนและเจ้าพ่อ Fusion Jazz
3. Sabrina (1995) หนังที่รีเม็คมาจากเวอร์ชั่นเก่าในปี 1954ที่มี Andrey Hepburn แสดง แต่ในเวอร์ชั่นของPollock ให้ Julia Osmond แสดงเป็นซินเดอร์ลีล่ายุคใหม่ที่เป็นลูกสาวคนขับรถและได้พบรักแท้กับลูกชายหัวโบราณ จริงจังกับชีวิต (แสดงโดย Harrison Ford จากเดิมเป็น Humphrey Boldgart)
4. The interpreter (2005) - หนัง Political Thriller ชั้นดีเรื่องหนึ่งแต่ ผมไม่ได้ดูจึงไม่ขอพูดถึง
(มี Spoiler อยู่แน่ ๆ)
ภาพยนตร์เรื่อง Tootsie ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพวกรักร่วมเพศแม้แต่น้อย หากแต่เป็นหนัง Comedy ที่มีความ Romantic เข้ามามีส่วนด้วย (แต่ไม่ถึงระดับ Romantic Comedy)เป็นเรื่องของหนุ่มนามว่า Michael Dorothy นักแสดงที่ประสบความล้มเหลว ไม่ได้รับเข้าแสดงในหนังหรือละครเรื่องไหนเลย จวบจนเขาปลอมตัวเป็นผู้หญิงภายใต้ชื่อ Dorothy Michaels จึงได้รับการเข้าแสดงในละครโทรทัศน์ เรื่องหนึ่งจนประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด แต่แล้วเขาก็ได้สนิทสนมและตกหลุมรักกับ Julie Nichols ดาราสาวเพื่อนร่วมแสดง (แสดงโดย Jessica Lange) ในขณะที่ฝ่ายหลังกลับรักใคร่ชอบพอเขาในฐานะเพื่อนหญิง ที่แสนดี !!!! เพื่อการดำรงไว้ทั้งสถานะการงานและความรักที่ขัดแย้งกันเอง เขาจะทำอย่างไรต่อไป ? (หากนึกภาพถึงความชุลมุนของการเปลี่ยนเพศไปเปลี่ยนเพศมา ให้ไปดูเรื่อง Mrs. Doubtfire แสดงโดย Robin William ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังเรื่องนี้ และหนังเรื่อง เจนี่ กลางคืนครับกลางวันคะ หนังของ RS Film ที่ลอก Tootsie มาเกือบทั้งดุ้นเลย)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ให้คนดูแค่ความตลกเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของคนอเมริกันในยุคทศวรรษที่แปดสิบเกี่ยวกับเรื่องเพศ นั่นคือ ความเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง ทศวรรษที่แปดสิบเป็นช่วงที่แนวคิดของพวกสตรีนิยม (Feminism) เริ่มออกดอกออกผล หลังจากอุบัติขึ้นในทศวรรษที่หกสิบ
หนังได้สะท้อนภาพรวมให้เห็นถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Male Dominace Society) ดังสาเหตุที่ Michael ไม่ได้งานทำเพราะเขาเป็นผู้ชายในขณะที่ผู้ผลิตหรือผู้กำกับที่เป็นชายต้องการได้ดาราที่เป็นผู้หญิง เพราะสามารถควบคุมได้ง่ายดี และหนังยังสะท้อนให้เห็นถึงผู้หญิงในสภาวะที่ถูกชักใยหรือควบคุมโดยชายนั่นคือ Nichols ซึ่งตกเป็นภรรยาน้อยของ ผู้กำกับละคร โดยที่เธอไม่ได้รักเขาจริง แต่ต้องทนน้ำตาเช็ดหัวเข่า และอีกฉากหนึ่งที่ตลกแต่สะท้อนความไม่เท่าเทียมกันทางเพศได้อย่างดีคือตอนที่ Michael ในคราบของ Dorothy กำลังโบกแท็กซี่ แต่แท็กซี่ไม่ยอมจอด (สัญลักษณ์แสดงถึงความเกลียดผู้หญิงหรือ Misogynyของผู้ชาย) จนเขาต้องตะโกนเป็นเสียงผู้ชาย รถเลยต้องจอดให้
การปลอมเป็นผู้หญิงของ Michael (ซึ่งเป็นเรื่องของความจำเป็นทางอาชีพหาใช่รสนิยมแบบ Travestism แบบ Ed Wood ไม่ )เป็นการทำให้เขาสามารถเข้าถึง "ความเป็นหญิง" ซึ่งอยู่ในร่างชายได้ นั่นคือเขาสามารถผลักดันให้ตัวเองกลายเป็น "ผู้หญิง" ของ "ผู้หญิง" เขา (ในคราบของ Dorothy แต่เขาก็ไม่ได้เป็นพวกรักร่วมเพศ) กลายเป็น Idol หรือนักแสดงขวัญใจของผู้หญิงอเมริกันหลายสิบล้านคน พฤติกรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับนักแสดงผู้ชายในละครของโดโรธีทำให้คนดูที่เป็นหญิง เกิดความภาคภูมิใจต่อความเป็นหญิง และเลียนแบบพฤติกรรมของโดโรธีโดยเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมระหว่างพวกเธอและผู้ชายรอบข้างเช่นสามี (ทำให้ผู้ชายเอามือกุมขมับ)
หนังเรื่องนี้จึงเข้าทางแนวคิดแบบ Feminism ที่ว่า
1.เพศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ดังจะดูได้ตอนที่ไมเคิ้ลปลอมตัวเป็น Dorothy เขาก็เป็นที่นิยมและความชื่นชมจากคนรอบข้างมาก ในขณะเมื่อเขากลับมาเป็นตัวเขาเอง ก็เป็น Nobody ดีๆ นี่เอง (ตอนจบของเรื่องที่เขาตกงาน เดินเซื่องซึมไปเจอคนแสดงละครใบ้ พร้อมกับเพลงคลอไปช้าๆ บอกตรงจุดนี้ได้ดีมาก)
2.มนุษย์มีความเป็นเพศคู่แฝงอยู่ในตัวเอง ความไม่เข้าใจกันหรือช่องว่างระหว่างเพศ คือการที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยเรียนรู้ถึงความเป็นเพศตรงกันข้ามซึ่งแฝงอยู่ในตัวเอง (เคยได้ยินเพลงประกอบโฆษณาที่ว่า You can be a mother while you are a man ไหมครับ ? ) ไมเคิ้ลได้เรียนรู้ถึง"ความเป็นหญิง"ในตัวเขาเอง" เขาจึงเข้าใจผู้หญิง ดีพอใช้ (ความจริงก็ไม่เชิงนัก เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งที่นางเอกพูดกับพระเอกในคราบโดโรธีว่า "ฉันอยากจะให้มีผู้ชายสักคนมาพูดตรงๆ ว่าอยากจะพาฉันขึ้นเตียง" คือเธอคงรำคาญกับเล่ห์กระเท่ห์ของผู้ชายกระมัง ไมเคิ้ลเลยไปหาเธอตอนเป็นผู้ชายแล้วชวนเธอขึ้นเตียงด้วยคำพูดที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ปรากฏว่าโดนเธอสาดน้ำใส่หน้า อย่างว่าแหละหนังอาจต้องการบอกว่า ผู้หญิงเข้าใจยาก) ในขณะเดียวกันไมเคิ้ลในฐานะ Idol ก็กระตุ้น "ความเป็นชาย" ของผู้หญิงอเมริกันให้รู้จักพึ่งตัวเอง และกล้าที่จะปฏิเสธการกดขี่จากผู้ชาย (คล้ายๆ กับเรื่อง Down with Love นั่นแหละ)
สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองที่แยบยลของหนังตลกที่ได้รับการยกให้เป็นหนังที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 62 ในรอบหนึ่งร้อยปีของสมาคมภาพยนตร์อเมริกัน และเป็นหนังตลกยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเรื่อง Some like It Hot ที่แสดงโดย Marilyn Monroe
Trivia - เพลงประกอบภาพยนตร์ก็เป็นฝีมือของ Dave Grusin (ชื่อ Theme ว่า An Actor's life) นอกจากนี้ยังมีเพลงประกอบที่โด่งดังคือ It might be you ของ Steven Bishop (ซึ่งทำนองบางส่วนก็ถูกเขียนโดย Dave Grusin อีกเช่นกัน)
ที่มา : https://www.bloggang.com