ประวัติ
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๖๓ ที่ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ กับคุณหญิง วิบูลย์ลักษม์ ชุณหะวัณ สมรสกับคนผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ (โสพจน์)
พลเอก ชาติชาย เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายทหารม้า และโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก (อาร์เมอร์ สคูล) มลรัฐเคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา พลเอก ชาติชายรับราชการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ ประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นผู้บังคับบัญชากองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ รองผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ และผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ ๒ และผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้ถูกเหตุการณ์ทางการเมืองผันแปรชีวิตไปเป็นอุปทูตอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศอาเจนติน่า และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศออสเตรเลีย ตุรกี สำนักวาติกัน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตามลำดับ
ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ พลเอก ชาติชาย ได้กลับมายังประเทศไทย และเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการเมืองกระทรวงการต่างประเทศ
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ พลเอก ชาติชาย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และต่อมาได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมารวม ๕ สมัย
พลเอก ชาติชาย เริ่มบทบาททางการเมืองในรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้เข้าร่วมรัฐบาลอีกหลายสมัยในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๗ ของประเทศไทยในปี ๒๕๓๑ เมื่อพรรคชาติไทยที่พลเอก ชาติชาย เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ในขณะนั้นเข้าจัดตั้งรัฐบาล
ผลงานสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่พลเอก ชาติชายเข้าบริหารประเทศได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอินโดจีนโดยการเปลี่ยนแปลงสนามรบให้เป็นสนามการค้า รวมทั้งดำเนินการประสานงานให้มีการเจรจาร่วมระหว่างเขมร ๔ ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของสีหนุขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจได้อนุมัติโครงการเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ได้แก่ โครงการขยายบริการโทรศัพท์ ๓ ล้านเลขหมายโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครโครงการทางด่วนยกระดับ และโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ภายใต้การนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ พลเอก สุจินดา คราประยูร พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล และพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลเอก ชาติชาย ได้เดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง และได้เดินทางกลับมาพำนักอยู่ในประเทศไทย
ต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนครราชสีมา ในการเลือกตั้งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๕ โดยสังกัด พรรคชาติพัฒนา ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค และบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ณ โรงพยาบาลคอมเวลล์ ประเทศอังกฤษ รวมอายุได้ ๗๘ ปี
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
สมัยที่ ๑
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๕: ๔ สิงหาคม ๒๕๓๑ - ๙ ธันวาคม ๒๕๓๓
สมัยที่ ๒
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๖ : ๙ ธันวาคม ๒๕๓๓ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔