ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การครองเรือน, การครองเรือน หมายถึง, การครองเรือน คือ, การครองเรือน ความหมาย, การครองเรือน คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
การครองเรือน

          การครองเรือน หรือ ชีวิตสมรส คือการที่ชายและหญิงมีความพอใจในรสสัมผัสซึ่งกันและกัน ตกลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน จะเผชิญกับปัญหาร่วมกัน และมีความพยายามที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันเพื่อความสุขในการครองเรือน การที่บุคคล 2 คน ซึ่งต่างก็มีพื้นฐานจากครอบครัวเดิมต่างกัน มีความคิด ค่านิยม รสนิยมต่างกัน มาอยู่ร่วมกัน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวจะมีสุขได้ เพราะด้วยเหตุจากการประพฤติตนของสามีและภรรยา บุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่มีความสามารถดลบันดาลให้ครอบครัวนั้น ๆ เป็นสวรรค์ที่น่าอยู่หรือเป็นนรกก็ได้ 
          ดังนั้นการเลือกใครมาเป็นคู่ครองของตนนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงสมชีวิกถา 4 ข้อ คือเหตุที่ทำให้คู่สมรสครองเรือนได้ยืดยาว
          1. สมศรัทธา ให้เลือกบุคคลที่มีความเชื่อเลื่อมใสในศาสนาหรือสิ่งเคารพบูชาต่าง ๆ เหมือนกัน มีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน มีจุดมุ่งหมายในชีวิตเหมือนกัน ตลอดจนมีรสนิยมตรงกัน 
          2. สมศีลา ให้เลือกบุคคลที่มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยามารยาท มีพื้นฐานการอบรมพอเหมาะสอดคล้องกัน ไปกันได้ หรืออยู่ในระดับเดียวกัน จะได้ไม่เป็นเหตุให้เกิดความรังเกียจิซึ่งกันและกัน 
          3. สมจาคา ให้เลือกบุคคลที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีใจกว้าง มีความเสียสละ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น บุคคลที่เสมอกันด้วยจาคะนี้จะทำให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เพราะเมื่อคนเราอยู่ด้วยกันก็ต้องเสียสละทั้งทรัพย์สินเสียสละความสุขของตน เพื่อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 
          4. สมปัญญา ให้เลือกบุคคลที่มีปัญญาเสมอกัน คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ มีการใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหา 

          นอกเหนือจากการเลือกคู่โดยใช้หลักสมชีวิกถา 4 แล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลือกคนที่มีลักษณะ 4 อย่างดังต่อไปนี้มาเป็นคู่ครอง เพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันชาติ (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) 
          1. เลือกบุคคลที่มีความขยันในการประกอบอาชีพ 
          2. เลือกบุคคลที่เป็นคนประหยัด รู้จักออมทรัพย์ 
          3. เลือกบุคคลที่รู้จักคบคนดีเป็นเพื่อน 
          4. เลือกบุคคลที่มีการเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อนัก

หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันของสามี-ภรรยา

เมื่อผ่านขั้นตอนการเลือกคู่แล้ว การอยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยา ทั้งคู่จะต้องมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ดังนี้

สามีมีหน้าที่ 5 ประการ
          1. ให้ความนับถือ ยอมรับฐานะแห่งภรรยา 
          2. ยกย่องให้เกียรติ ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
          3. มีความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจ 
          4. มอบความเป็นใหญ่ 
          5. หาเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายมามอบให้

ภรรยามีหน้าที่ 5 ประการ 
          1. จัดดูแลงานบ้านให้เรียบร้อย 
          2. ใส่ใจสงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี 
          3. ซื่อสัตย์ ไม่ประพฤติผิดนอกใจ 
          4. ช่วยประหยัดดูแลรักษาทรัพย์ที่หามาได้ 
          5. ขยัน ไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

         สามีภรรยาเป็นบุคคลที่พึ่งเป็นพึ่งตายซึ่งกันและกัน ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ประพฤตินอกใจกันและกัน เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการทำร้ายจิตใจของกันและกัน ท่านทรงสอนให้คู่สมรสมีสัจจะคือจริงใจ หรือซื่อสัตย์ต่อกัน สอนให้มีจาคะ เสียสละให้ปันกัน ได้ทรัพย์มาก็จัดสรรทรัพย์ที่หาได้ร่วมกัน ใช้ร่วมกัน ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ท่านทรงสอนให้มีทมะ คือรู้จักข่มใจ รู้จักควบคุมอารมณ์ ระงับอารมณ์ หรือความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน และเมื่ออยู่ร่วมกันบางช่วงของชีวิตคู่ คนใดคนหนึ่งอาจจะเจ็บป่วยประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ คู่สมรสก็ต้องมีความอดทน (ขันติ) ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ อดทนต่อกัน คุณธรรมทั้ง 5 นี่คือ ฆราวาสธรรม ซึ่งถ้าสามีภรรยาปฏิบัติตามแล้ว ครอบครัวก็จะมีความสุข และความสุขของคู่ครองไม่มีอะไรมากไปกว่า 
         1. สุขที่เกิดจากการมีทรัพย์ 
         2. สุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ 
         3. สุขที่เกิดจากความไม่เป็นหนี้ 
         4. สุขที่เกิดจากการทำงานไม่เป็นโทษ 

         เมื่อปรารถนาที่จะครองชีวิตคู่ให้มีความสุขแล้ว ทั้งสามีและภรรยาคงต้องหมั่นหาทรัพย์โดยทางสุจริต เพราะการทำงานสุจริต และการมีทรัพย์เป็นความสุข จากนั้นคงต้องอดทนต่อกิเลส ความอยากได้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่เกินความจำเป็น ความอยากได้นี้ผ่านมาทางการโฆษณาทางทีวี จากเพื่อนฝูง และระบบการขายของเงินผ่อน มิฉะนั้นจะทำให้มีการจ่ายทรัพย์ที่เกินต่อฐานะของครับครัว ก่อความเป็นหนี้ ทำให้ไม่มีความสุข คอยแต่จะคิดหมุนเงิน จัดสรรเงิน ผ่อนนั่น ผ่อนนี่ จนเงินเดือนไม่พอใช้ ก่อให้เกิดทุกข์ 

         เมื่อมนุษย์ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ ความสุขจากการครองเรือนเป็นความสุขที่มนุษย์แสวงหา และแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตทุกชีวิต ที่ปรารถนาจะได้คู่ครองที่ดีมีความสุขจากการครองเรือน เมื่อมีความปรารถนาเช่นนี้อยู่ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัย เพราะความสุขของครอบครัวอยู่ที่การกระทำ หรือความประพฤติของสามีและภรรยาเป็นหลัก บุคคลทั้งสองต้องมีคุณธรรมดังกล่าวแล้วข้างต้น จึงจะเป็นเหตุซึ่งนำผลมาให้คือความสุขในการครองเรือน


การครองเรือน, การครองเรือน หมายถึง, การครองเรือน คือ, การครองเรือน ความหมาย, การครองเรือน คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu