ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หมายถึง, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คือ, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความหมาย, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 3
เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

        ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า ศาลเจ้าเล่งจูเกียง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.ปัตตานีมาตั้งแต่โบราณ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรู อำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งเป็นปูชนียสถานอันทรงความศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี เดิมศาลเจ้านี้มีชื่อเรียกว่า "ศาลเจ้าซูก๋ง" ตามหลักฐานที่จารึกอยู่ในศาลเจ้า ปรากฏว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันชัยมงคล ปีบวนเละที่ ๒ ศักราชราชวงศ์เหม็ง ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๑๑๗ ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้ศาลเจ้านี้จะตั้งมาเก่าแก่นับได้หลายศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหารของเจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว ศาลเจ้านี้จึงมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่ศรัทธาของสาธุชนเสมอมามิได้ขาด 

          ส่วน ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นั้นมีบันทึกไว้ในหลายๆแหล่ง มีเรื่องราวที่เหมือนๆกันแต่อาจมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันไปบ้าง  ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน ระบุว่า เจ้าแม่เกิดในตระกูล “ลิ้ม” มีชื่อว่า “กอเหนี่ยว” พำนักอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน เป็นน้องสาวของ “ลิ้มเต้าเคียน” หรือ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” 

          เมื่อยังเป็นเด็ก สองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะแขนงต่างๆ จนแตกฉาน ฝ่ายพี่ชายเมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ารับราชการ สร้างผลงานปราบโจรสลัดญี่ปุ่นจนได้รับการแต่งตั้งเป็น “ขุนพลเซ็กกีกวง” คุมกองทัพเรือ แต่ต่อมาเขาถูกใส่ร้ายว่าสบคบกับโจรสลัด จนทางการออกประกาศจับ จึงได้ตีฝ่าวงล้อมของทหารหลวง หนีออกทะเลไปยังเกาะไต้หวัน

         ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เห็นว่าทัพหลวงยังคงติดตามโจมตี ประกอบกับถูกโจรสลัดรังควาญอยู่ตลอด จึงเดินทางต่อไปทางเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน) แล้วเข้าไปยังเวียดนาม แต่บางตำนานเล่าว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเข้าไปอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และภายหลังจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี ที่ปัตตานี ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ได้ภรรยาเป็นชาวปัตตานีและเข้ารีตเป็นมุสลิมตามภรรยา    

        ฝ่าย ลิ้มกอเหนี่ยว ผู้เป็นน้องสาว เมื่อเห็นว่าพี่ชายขาดการติดต่อ ไม่ได้ส่งข่าวคราวเป็นเวลานาน จนมารดาซึ่งอยู่ในวัยชราล้มป่วยเป็นประจำ ด้วยความกตัญญูจึงอาสาออกเดินทางไปตามพี่ชายให้กลับมาเยี่ยมบ้าน

        ในวันเดินทาง ลิ้มกอเหนี่ยวได้เข้าไปร่ำลามารดา และลั่นสัจจวาจาไว้ว่า “หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับมาหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”

        ลิ้มกอเหนี่ยว กับญาตินำเรือออกทะเลเป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งเข้าเขตเมืองปัตตานี ก็ได้จอดทอดสมอไว้ริมฝั่ง ลิ้มกอเหนี่ยว เดินเข้าไปในเมืองและพูดคุยกับชาวบ้านจนได้ความว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม พี่ชายยังมีชีวิตอยู่ และได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ จึงได้เข้าไปหาและชวนพี่ชายให้กลับไปยังบ้านเกิด  แต่ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าหากกลับไปตอนนี้จะสร้างความลำบากให้แก่ตน เนื่องจากยังติดประกาศจับของทางการ ขณะที่ความเป็นอยู่ทางนี้ก็มีความสมบูรณ์ดีอยู่ จึงตัดสินใจกล่าวกับน้องสาวว่า

     “ตนหาใช่เนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาวไม่ แต่เหตุที่ทางการจีนกล่าวโทษว่าสบคบกับโจรสลัด สร้างความอัปยศจนต้องพลัดพรากมาอยู่ที่นี่ ตนอยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย  อีกทั้งได้รับปากกับเจ้าเมืองว่าจะก่อสร้างมัสยิดให้ (มัสยิดกรือเซะ) จึงไม่สามารถกลับไปในขณะนี้ได้”

      ลิ้มกอเหนี่ยวเมื่อได้ยินดังนั้น ก็คิดว่าจะหาโอกาสอ้วนวอนพี่ชายให้กลับไปให้จงได้ จึงขอพำนักอยู่ในปัตตานีต่อ

         ในขณะนั้นเจ้าเมืองตานีกำลังก่อสร้างมัสยิดเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจโดยมอบให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นนายช่างออกแบบและก่อสร้าง ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้อุทิศกายและใจให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย ยิ่งทำให้ลิ้มกอเหนี่ยวเกิดความโกรธและน้อยใจในตัวพี่ชาย พยายามอ้อนวอนพี่ชายให้เห็นแก่มารดาก็ไม่สำเร็จ จึงได้สาบแช่งไว้ว่า “แม้พี่ชายจะมีความสามารถในการก่อสร้างเพียงใดก็ตาม แต่ขอให้สร้างมัสยิดนี้ไม่สำเร็จ” และแอบไปผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ด้านข้างมัสยิดที่กำลังก่อสร้าง

        ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเมื่อสูญเสียน้องสาวก็เสียใจมาก จึงจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่ “หมู่บ้านกรือเซะ” แล้วทำการก่อสร้างมัสยิดต่อไปจนเกือบเสร็จอยู่ในขั้นก่อสร้างโดมหลังคา วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ฟ้าผ่าลงมายังโดมที่กำลังสร้างจนเสียหายหมดทั้งๆที่ไม่มีวี่แววพายุฝนแต่อย่างใด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงทำการก่อสร้างโดมหลังคาใหม่ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นอีก คือเกิดฟ้าผ่าลงมายังยอดโดมอีกครั้ง ทำให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมนึกถึงคำสาบแช่งของลิ้มกอเหนี่ยวขึ้นได้ จึงเกิดความท้อใจเลิกล้มการก่อสร้างมัสยิดเพราะคิดว่าคำสาบแช่งของน้องสาวมีความศักดิ์สิทธิ์

           เล่ากันว่า ลิ้มก่อเหนี่ยว ได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะและสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา พร้อมกับขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”

        ปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ  แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ 

         ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” มากระทั่งทุกวันนี้



งานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

         งานสมโภชฉลองเจ้าแม่จัดขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติจีนทุกปี คือหลังจากวันตรุษจีน 15 วัน ตรงกับจันทรคติของไทยราววันเพ็ญ เดือน 3 พิธีสมโภชจะเริ่มแต่เช้าตรู่ประมาณ 6 นาฬิกา โดยจะมีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่หลิมกอเหนี่ยว องค์ประธานพระหมอ พร้อมด้วยพระหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า โดยแห่ไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง พร้อมกับมีการเชิดสิงโต แห่ธงทิว คณะดนตรีบรรเลงตลอดทาง ส่วนประชาชนก็จะเดินตามขบวนเป็นทิวแถว ส่วนผู้ที่หามเกี้ยวที่ประทับของเจ้าแม่และองค์อื่นๆ ปรากฏว่ามีผู้แย่งกันหาม ถือว่าได้บุญเป็นพิเศษ

         เมื่อขบวนแห่ไปเชิงสะพานเดชานุชิต(สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) ก็จะมีพิธีลุยน้ำข้ามคลอง เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความลำบาก ตามหาพี่ชายถึงเมืองปัตตานี เมื่อแห่รอบเมืองแล้ว ก็จะย้อนกลับไปทำพิธีลุยไฟที่ลานกว้างหน้าศาลเจ้า ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอัฒจันทร์ให้ผู้ชมนั่งชมได้สะดวก พิธีลุยไฟนี้ได้สร้างความตื่นเต้นต่อผู้ชมมาก กลางคืนก็มีมหรสพฉลองตลอดงาน เช่น งิ้ว รำวง มโนห์รา และภาพยนตร์ เป็นต้น

         ในสมัยก่อนนั้น ยังมีพิธีอย่างหนึ่งคือ คนทรงจะทำพิธีเอามีดเฉือนลิ้นตัวเอง แล้วเอาเลือดเขียนยันต์ที่หน้าผากของคนที่หามเกี้ยวเจ้าแม่ แล้วให้คนหามเกี้ยวเดินไปบนมีดดาบอันคมกริบขนาดโกนขนอ่อนขาดกระจุยไป โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่ภายหลังได้ถูกทางราชการบ้านเมืองฝ่ายปกครองออกคำสั่งห้ามพิธีอันหวาดเสียวนี้เสีย คงมีแต่พิธีลุยไฟเท่านั้นที่ยังคงกระทำมาจนทุกวันนี้

 อ้างอิง www.kananurak.com



มัสยิดกรือเซะกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

          มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดประมาณ 15x30 เมตร  สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลมเลียนรูปแบบเสากอธิคของยุโรป ช่วงประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และมีที่คล้ายกับอิฐสมัยทวาราวดีปะปนอยู่บ้าง ที่บริเวณฐานของมัสยิด จากหลักฐานที่ประมวลไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างมัสยิดแห่งนี้ มีอยู่หลายกระแส  บางกระแสกล่าวว่า สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ. 2265  เหตุที่สร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่าง สุลต่านกับอนุชา และต่อมาเมื่ออนุชาได้รับตำแหน่งสุลต่าน ก็ได้ย้ายเมืองปัตตานีไปอยู่ ณ บ้านบูยุด จึงไม่ได้สร้างต่อ 

       อีกกระแสหนึ่ง มาจากตำนานเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว  ซึ่งมีอยู่ว่าพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ในสมัยรายาบีรู (พ.ศ. 2159-2167) แต่สร้างไม่สำเร็จ  เมื่อสร้างถึงยอดโดมครั้งใด ก็พังทลายลงมาทุกครั้ง เนื่องจากน้องสาวมาตามพี่ชาย ขอให้กลับเมืองจีน แต่พี่ชายไม่ยอม จึงอธิษฐานขอให้สร้างมัสยิดกรือเซะไม่สำเร็จ และตนเองได้ผูกคอตายอยู่ใกล้มัสยิดนั้น


เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หมายถึง, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คือ, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ความหมาย, เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu