ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สมเด็จพระนเรศวร, สมเด็จพระนเรศวร หมายถึง, สมเด็จพระนเรศวร คือ, สมเด็จพระนเรศวร ความหมาย, สมเด็จพระนเรศวร คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สมเด็จพระนเรศวร

          สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๘- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ พระนามเดิมว่า พระองค์ดำ พระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2098 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระสุริโยทัย) ทรงมีพระเชษฐภคิณี คือ พระสุพรรณกัลยาทรง มีพระอนุชา คือ สมเด็จพระเอกาทศรถ และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระสุริโยทัย

          จนพระชนมายุประมาณ 8-9 พรรษา จึงถูกนำตัวไปยังกรุงหงสาวดี เพื่อเป็นหลักประกันว่า อยุธยาจะไม่แข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดี เหมือนดังเช่นโอรส ของเจ้าเมืองต่างๆในอาณาจักรพระเจ้าบุเรงนอง และในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี ก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษาทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีเดินเส้นใน พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ เอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด

          เมื่อเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาโปรดเกล้าฯสถาปนาให้พระองค์เป็น มหาอุปราช ปกครองเมืองพิษณุโลก จนกระทั่ง พ.ศ.๒๑๓๓ พระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ ในขณะพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

          หลังทรงครองราชย์ได้เพียง ๒ ปี ในพ.ศ. ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่คิดจะกำจัดพระองค์ จึงให้พระราชโอรส ซึ่งดำรงฐานะพระมหาอุปราชจัดทัพเข้าตีกรุงศรีฯ ครั้งนั้นคือ "ศึกยุทธหัตถี" พระองค์ทรงใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์จากสภาพเบี้ยล่างที่ตกอยู่ในท่ามกลางวงล้อมของข้าศึก มาเป็นเบี้ยบน โดยทูลเชิญพระมหาอุปราชากระทำยุทธหัตถีแบบ "ตัวต่อตัว" และพระมหาอุปราชา แม่ทัพกรุงหงสาฯ ได้เข้าต่อสู้บนหลังช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯอย่างดุเดือดทุกกระบวนยุทธ์ และในที่สุดถูกพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรฯฟันพระอังสาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

          ส่วนในราชสำนักพระองค์ทรงมีพระมเหสี ๓ พระองค์ คือ พระมณีรัตนาอัครมเหสี หรือเจ้าขรัวมณีจันทร์, พระเอกกษัตรีและพระราชธิดาในพระเจ้าเชียงใหม่ ทรงถวายเมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยุติข้อพิพาทในดินแดนล้านนา ในปี พ.ศ.๒๑๔๔

          ศึกครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ.๒๑๔๗ ทรงยกทัพไปตี "เมืองนาย" "เมืองอังวะ" ผ่านทางเมืองเชียงใหม่ เมื่อเสด็จไปถึง "เมืองหลวง" ตำบล"ทุ่งดอนแก้ว" หรือ "เมืองแหน" ในภาษาพม่าซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเชียงใหม่ ระหว่างเชียงใหม่กับแม่น้ำสาสะวิน ทรงพระประชวรโดยเร็วพลันเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ และเสด็จสวรรคต ณ ที่เมืองนั้น เมื่อวันจันทร์เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๑๔๘  ขณะพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี 



พระราชกรณียกิจ

          พุทธศักราช ๒๑๐๗  พระชนมายุ ๙ พรรษา สมเด็จพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยา ทรงถูกนำไปเป็นตัวประกัน ณ กรุงหงสาวดี ประทับ ๖ ปี 
          พุทธศักราช ๒๑๑๓ พระชนมายุ ๑๕ พรรษา เสด็จฯ กลับจากกรุงหงสาวดี 
          พุทธศักราช ๒๑๑๔ พระชนมายุ ๑๖ พรรษา เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง 
          พุทธศักราช ๒๑๑๗ พระชนมายุ ๑๙ พรรษา ทรงยกทัพไปพร้อมกับสมเด็จพระราชบิดา เพื่อสมทบกับทัพหลวงตีเมืองเวียงจันทน์ 
          พุทธศักราช ๒๑๒๑ พระชนมายุ ๒๓ พรรษา ทรงเรือพระที่นั่งไล่กวดจับพระยาจีนจันตุที่ลงเรือหนีไปปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในการสู้รบครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงความกล้าหาญอย่างยอดเยี่ยม 
          พุทธศักราช ๒๑๒๒ พระชนมายุ ๒๔ พรรษา ทรงเป็นแม่ทัพต่อสู้กับพระทศราชาซึ่งคุมกองทัพเขมรเข้ามาตีโคราชและหัวเมืองชั้นใน และทรงได้รับชัยชนะทั้งที่ทรงมีกำลังทหารน้อยกว่า 
          พุทธศักราช ๒๑๒๔ พระชนมายุ ๒๖ พรรษา พระเจ้ากรุงหงสาวดีสวรรคตได้เสด็จฯ ไปกรุงหงสาวดีในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ องค์ใหม่แทนพระราชบิดา 
          พุทธศักราช ๒๑๒๖ พระชนมายุ ๒๘ พรรษา ได้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองหงสาวดีไปตีเมืองลุม เมืองคัง ในรัฐไทยใหญ่ ตามคำสั่งของพม่า 
          พุทธศักราช ๒๑๒๗ พระชนมายุ ๒๙ พรรษา ทรงประกาศอิสรภาพของไทย ณ เมืองแครง พระเจ้ากรุงหงสาวดีให้สุระกำมายกกองทัพตามมาไล่จับสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุระกำมา แม่ทัพพม่าตาย และทรงได้รับมอบอำนาจให้บัญชาการบ้านเมืองสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว สงครามไทยกับพม่า พระยาพะสิมยกกำลัง ๑๓๐,๐๐๐ คนมาทางเมืองสุพรรณบุรี พระเจ้าเชียงใหม่มาทางเหนือตีพม่าแตกกลับไป 
          พุทธศักราช ๒๑๒๘ สงครามไทยกับพม่า ทรงสู้รบกับพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ พม่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ไทย ๘๐,๐๐๐ คน ไทยตีทัพพม่าแตกกลับไป 
          พุทธศักราช ๒๑๒๙ สงครามไทยกับพม่า พระเจ้าหงสาวดียกกำลังทหาร ๒๕๐,๐๐๐ คน มาล้อมกรุงอยู่ ๖ เดือน ไทยมีกำลัง ๘๐,๐๐๐ คน ตีขับไล่พม่าจนต้องถอยทัพกลับไป ไม่สามารถเข้าถึงกำแพงพระนครได้ 
          พุทธศักราช ๒๑๓๓ พระชนมายุ ๓๕ พรรษา สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาสวรรคต พระองค์เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราชา และมีพระเกียรติยศสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง สงครามไทยกับพม่า พระมหาอุปราชายกมาครั้งแรกที่สุพรรณบุรี พม่า ๓๐๐,๐๐๐ คน ไทยมีกำลัง ๘๐,๐๐๐ คน ตีพม่าแตกพ่ายไป จับพระยาพะสิมแม่ทับพม่าที่จระเข้สามพันธุ์ 
          พุทธศักราช ๒๑๓๕ พระชนมายุ ๓๗ พรรษา สงครามยุทธหัตถี พม่า ๒๔๐,๐๐๐ คน ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน รบกันที่เมืองสุพรรณบุรี ทรงมีชัยชนะฟันพระมหาอุปราชามังกะยอชวาแห่งกรุงหงสาวดี ด้วยพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ สงครามเมืองทะวาย ตะนาวศรี ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน ตีได้เมือง
          พุทธศักราช ๒๑๓๖ สงครามเมืองเขมร ไทย ๑๓๐,๐๐๐ คน เขมร ๗๕,๐๐๐ คน ไทยตีได้เมืองเขมร 
          พุทธศักราช ๒๑๓๗ ส"ครามไทยกับพม่า ไทยตีได้หัวเมืองมอญ 
          พุทธศักราช ๒๑๓๘ สงครามไทยกับพม่า ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ ๑ ไม่สำเร็จ ไทยมีกำลัง ๑๒๐,๐๐๐ คน 
          พุทธศักราช ๒๑๔๒ สงครามไทยกับพม่า ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ ไทย ๑๐๐,๐๐๐ คน แล้วไปล้อมเมืองตองอูอยู่ ๒ เดือน เสบียงอาหารหมดต้องยกทัพกลับ 
          พุทธศักราช ๒๑๔๖ สงครามเมืองเขมร ได้เมือง
          พุทธศักราช ๒๑๔๗ สงครามครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยกทัพไปตีกรุงอังวะ ไทย จำนวน ๒๐๐,๐๐ คน แต่ทรงประชวร และเสด็จสวรรคตเสียก่อน

การประกาศอิสรภาพ

          เมื่อปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการ จึงแข็งเมือง พร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วย ทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแคลงใจว่า ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชา คุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับ และหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยาราม คุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยาราม เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่อง ผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวร เคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน
  
          กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้า ฯ สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสาร จึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม กราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า การเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยาราม และทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง และพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า 
  
          "ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"
  
          จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า แล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จ ก็ทรงยกทัพจากเมืองแครง ไปยังเมืองหงสาวดี เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6
  
          ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติ พระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีมัชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทย ที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อน ให้อพยพกลับบ้านเมือง ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษ ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง
  
          ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับ จึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง ยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมา แม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตาย ก็พากันเลิกทัพกลับไป เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี 
  
          พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฎต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง" นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
  
          เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยารามได้มีอุปการะมาก สมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญ ที้งสองก็มีความยินดี พาพรรคพวกสเด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก ในการยกกำลังกลับครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีก ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้ มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์
  
          เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชา ที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศ ได้พระราชทานพานทอง ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น และวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึก ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา


สมเด็จพระนเรศวร, สมเด็จพระนเรศวร หมายถึง, สมเด็จพระนเรศวร คือ, สมเด็จพระนเรศวร ความหมาย, สมเด็จพระนเรศวร คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu