ประวัติความเป็นมา
ในปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ ถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครู และเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูทั่วไป
จุดเริ่มต้นของการมีวันครูนั้น เกิดจากการปรารภและการเรียกร้องของครูจำนวนมากซึ่งมีปรากฏทั้งในหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆ ความเห็นของครูที่แสดงออกมานั้นพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก จึงควรที่จะมีวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู เพื่อเปิดโอกาสให้ครูได้พักผ่อน ตลอดจนถึงการกระทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของครูและการศึกษาของชาติตามสมควร
ดังนั้น ในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครู
วันครูได้จัดให้มีในครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า "คุรุสภา" เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ในทุก ๆ ปี คุรุสภาได้ให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย
มีการจัดงานวันครูครั้งแรกขึ้น ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 ในส่วนกลาง (จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีในสมัยนั้น)ใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ปัจจุบันในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภา โดยคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน
กิจกรรมวันครู
วันที่ 12 กันยายาน 2499 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้มีมติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาการจัดกิจกรรมวันครู โดยคณะอนุกรรมการได้เห็นว่า ควรมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และในตอนบ่ายจะทำพิธีระลึกพระคุณบูรพาจารย์และปฏิญาณตน นอกนั้นให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครูด้วยกันและระหว่างครูกับประชาชน สำหรับคำปฏิญาณตนนั้นให้ใช้ถ้อยคำดังนี้
“ข้าขอปฏิญาณตนว่า
ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับได้ชื่อว่าเป็นครู
ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม”
บัตรคารวะครู
คณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ.2535 ในสมัยที่ นายสมชัย วุฑฒิปรีชา เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานจัดงานวันครู พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันครูในปัจจุบัน จะจัดเฉพาะในหมู่ครูและผู้ที่อยู่ในวงการการศึกษาเท่านั้น ข้าราชการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ไม่มีส่วนในกิจกรรมงานวันครูเท่าที่ควร คณะกรรมการการจัดงานจึงมีมติให้มีกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการคารวะครูขึ้น โดยการจัดทำบัตรคารวะครูจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อส่งไปคารวะครูของตนในโอกาสวันครู ซึ่งบัตรคารวะครูนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจึงมีการจัดจำหน่ายเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
อ้างอิง www.ksp.or.th
บทสวดเคารพครูอาจารย์
(สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ (สวดทำนองสรภัญญะ)
(สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์
โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ่ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ่ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม (กราบ)