ในบรรดาผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการจารึกสรรพวิชาลงในจารึกวัดพระเชตุพน นั้นก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นรัตนกวีแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์ในพระองค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ ไพเราะด้วยภาษาที่ถูกต้องตามแบบแผน อีกทั้งฉันทลักษณ์ที่ใช้ก็เป็นแบบฉบับที่เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้หมวดอักษรศาสตร์ และหมวดวรรณคดีนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงรับเป็นธุระในการเลือกสรรเรื่องที่จะจารึก ซึ่งได้แก่ ตำราฉันท์วรรณพฤติ ๕๐ แบบ และกลบท การที่ทรงเลือกฉันท์และกลบทมาเป็นแบบอย่างนั้น ก็เพื่อที่จะได้ทะนุบำรุงความรู้ทางอักษรศาสตร์ให้เฟื่องฟู มิให้มีสภาพถดถอย ดังความที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภไว้ว่า
"ด้วยก่อนเก่าเหล่าลูกตระกูลปราชญ์
ทั้งเชื้อชาติชนผู้ดีมียศศักดิ์
ย่อมหัดฝึกสึกสาข้างอาลักษณ์
ล้วนรู้หลักพากย์พจน์กลบทกลอน
ทุกวันนี้มีแต่พาลสันดานหยาบ
ประพฤทบาปไปเสียสิ้นแผ่นดินกระฉ่อน
จะหาปราชญ์เจียนจะขาดพระนคร
จึงขอพรพุทธาไตรญาคุณ" (คัดลอกตามต้นฉบับ)
ตัวอย่างกลบทพระราชนิพนธ์ชื่อฉัตรสามชั้น
๏ หวรสวาดิ์โหยถวิลโหยสวาดิ์หวร
ครวญคนึงนึกคะเนนึกคะนึงครวญ ใจเศร้าโศกแสนกำศรวญโศกเศร้าใจ
เอ๋ยอกโอ้หวังวิตกโอ้อกเอ๋ย ไฉนฤานี้จึ่งเฉยนี้ฤาไฉน
ไกลสถานที่สถิตย์ที่สถานไกล แค้นใจเจบด้วยอาไลยเจบใจแค้น
นอกจากเพลงยาวกลบทและกลอักษรแล้ว ที่เสาข้างประตูพระระเบียงพระอุโบสถชั้นนอก ก็มีโคลงกลบท ๓๘ บท ผู้นิพนธ์ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับที่แต่งเพลงยาว
ถอนออกดั่งนี้
จำไปไกลเสน่หน้อง นอนเหงา จ่อนอ
จำแม่เจียมจิตรเนา แต่ห้อง
สมรแม่พี่ห่างเยาว์ แต่จิตร์
สมรมิ่งพี่จากน้อง จากนี้เวรหลัง