วิวัฒนาการทางด้านความเร็วและสมรรถภาพของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์นั้น จะควบคู่โดยตรงกับวิวัฒนาการของไมโครโพรเซสเซอร์ ปัจจุบันเรายังถือว่าไมโครคอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ แต่เนื่องจากเราสนในวิวัฒนาการทางด้านความเร็วและสมรรถภาพของไมโครคอมพิวเตอร์ ไมโครคอมพิวเตอร์จึงถูกแบ่งออกเป็น ๓ ยุค ดังต่อไปนี้
- ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓)
- ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต (พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๘)
- ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต (พ.ศ. ๒๕๒๙ - ปัจจุบัน)
ไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต จะใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาดของข้อมูล ๘ บิตเป็นหน่วยควบคุมข้อมูลกลาง และเช่นเดียวกันกับไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๑๖ บิต และ ๓๒ บิตก็จะใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาดของข้อมูล ๑๖ บิต และ ๓๒ บิต เป็นหน่วยควบคุมข้อมูลกลาง
ความจริงแล้ว ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีขนาด ๘ บิต ไม่ได้เป็นไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นแรกที่ถูกผลิตขึ้น หากแต่เป็นไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นแรกที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างไมโครคอมพิวเตอร์ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นแรกที่ถูกผลิตขึ้นคือ อินเทล ๔๐๐๔ ได้ถูกผลิตขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ มีขนาดความยาวของข้อมูล ๔ บิต และไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ได้ถูกออกแบบขึ้น เพื่อให้ใช้เป็นหน่วยประมวลผลในเครื่องคิดเลขเท่านั้นการที่ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแรก มีเหตุผลดังต่อไปนี้
- ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ไม่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาที่มีขนาดใหญ่ หรือยุ่งยากได้เนื่องจากสามารถรับคำสั่งได้เพียง ๖๔๐ คำสั่งหรือใช้ขนาดข้อมูลได้เพียง ๖๔๐ ตัวอักษรเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยเกินไปสำหรับการใช้งานอเนกประสงค์แบบไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้หน่วยความจำมากกว่านี้ เพื่อที่จะใช้เก็บระบบคำสั่งควบคุมเครื่อง (operationg system) และชุดคำสั่งทั่วไป ฉะนั้น ไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีสมรรถภาพขนาดนี้จึงเหมาะที่จะใช้งานเฉพาะกิจเท่านั้น เช่น การใช้เครื่องคิดเลข
- ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้มีขนาดของข้อมูลเพียง ๔ บิต ข้อมูลขนาดนี้สามารถเก็บสภาวะที่แตกต่างได้เพียง ๑๖ ชนิดเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะเก็บข้อมูลประเภทตัวอักษรภาษาอังกฤษ ถ้าหากต้องการเก็บเฉพาะข้อมูลของตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งแบบใหญ่ (A ถึง Z ซึ่งมีข้อมูล ๒๖ ชนิด) แบบเล็ก (a ถึง z ซึ่งมีข้อมูล ๑๐ ชนิด) เท่านั้น เรายังต้องมีขนาดของข้อมูลที่ สามารถเก็บสภาวะที่แตกต่างกันได้ถึง ๖๒ ชนิดเป็นอย่างน้อย ซึ่งก็ยังมีขนาดมากกว่า ๔ บิตฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราสามารถใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ในการประมวลข้อมูลประเภทตัวอักษรได้ในระบบ ๔ บิต โดยการแบ่งข้อมูลเป็น ๒ ส่วน ซึ่งรวมกันแล้วได้ ๘ บิต (ซึ่งเก็บสภาวะที่แตกต่างกันได้ถึง ๒๕๖ ชนิด) แต่การประมวลข้อมูลแบบนี้จะทำได้อย่างไมมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทุกๆ ครั้งจะต้องทำการประมวลอย่างน้อย ๒ รอบอย่างไรก็ตาม ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ก็ถือได้ว่า มีส่วนในการจุดประกายความคิดริเริ่มในการสร้างคอมพิวเตอร์แบบบกะทัดรัดขนาดตั้งโต๊ะขึ้นมา ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ภายในได้ถึง ๒,๓๐๐ ตัวใช้ความถี่ของสัญญาณนาฬิการที่มีความเร็วถึง ๑๐๘,๐๐๐ ครั้งต่อวินาที และสามารถประมวลคำสั่งได้รวดเร็วถึง ๖๐,๐๐๐ คำสั่งต่อวินาที