การจำแนกประเภทของท่าอากาศยาน อาจจำแนกได้หลายกรณีด้วยกัน เช่น จำแนกตามชนิดของอากาศยานที่มาขึ้นลง เช่น ท่าอากาศยานที่ใช้สำหรับเป็นที่ขึ้นลงของเฮลิคอปเตอร์ เรียกว่า สนามบินเฮลิคอปเตอร์ (HELIPORT) หรือจำแนกตามการดำเนินงาน ท่าอากาศยานบางแห่งใช้ในกิจการพาณิชย์ บางแห่งใช้ในกิจการทหารหรือบางแห่งเป็นท่าอากาศยานสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล นอกจากนั้น ยังมีการจำแนกตามบทบาทหรือการให้บริการของท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL AIRPORT) และท่าอากาศยานภายในประเทศ (DOMESTIC AIRPORT) ในประเทศไทย คนทั่วไปมักรู้จักท่าอากาศยาน ๓ ประเภท ได้แก่ ท่าอากาศยานทหารท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานภายในประเทศ เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานที่มีบทบาทสำคัญต่อกิจการขนส่งทางอากาศของประเทศ
ท่าอากาศยานภายในประเทศ คือ ท่าอากาศยานที่อนุญาตให้เป็นจุดเข้าออกของการจราจรทางอากาศภายในประเทศ หรือเป็นท่าอากาศยานสำหรับเครื่องบิน ผู้โดยสาร สินค้าที่เดินทางภายในประเทศเท่านั้น จึงมีขนาดเล็กกว่าท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีท่าอากาศยานภายในประเทศที่ใช้ในกิจการพาณิชย์ ๒๑ แห่ง อยู่ภายใต้การบริหารงานของกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมท่าอากาศยานภายในประเทศเหล่านี้จะตั้งอยู่ในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคคือ
ภาคเหนือ มี ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานน่าน ท่าอากาศยานแพร่ ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา
ภาคใต้ มี ท่าอากาศยานหัวหิน ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานปัตตานีท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีท่าอากาศยานนราธิวาส และท่าอากาศยานระนอง