ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การผลิตยางออกจำหน่าย, การผลิตยางออกจำหน่าย หมายถึง, การผลิตยางออกจำหน่าย คือ, การผลิตยางออกจำหน่าย ความหมาย, การผลิตยางออกจำหน่าย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การผลิตยางออกจำหน่าย

          น้ำยางที่ไหลออกมาทีละหยดจากต้นยางทั่วโลกประมาณ  ๒,๐๐๐ ล้านต้น ในเนื้อที่ประมาณ ๔๐ ล้านไร่นั้น สามารถผลิตยางชนิดต่าง ๆ   ออกมาได้ปีละประมาณ ๔ ล้านเมตริกตัน และถ้าได้ปรับปรุงเปลี่ยนเป็นยางพันธุ์ดี ในเนื้อที่เท่าเดิมอาจจะผลิตเพิ่มขึ้นเป็น  ๘ ล้านเมตริกตัน แต่คงจะใช้เวลานานเป็นสิบ ๆ   ปี  แม้แต่ของประเทศไทยเอง ก็เพิ่งมีสวนยางพันธุ์ดี ทั้งที่เจ้าของสวนยางปลูกเอง และทางราชการช่วยเงินสงเคราะห์ ให้โค่นต้นยางเก่าแล้วปลูกใหม่มากกว่า  ๑๐  ปีแล้ว รวมเนื้อที่ได้ประมาณ ร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ของเนื้อที่ทั้งหมดเท่านั้น ส่วนสวนยางของประเทศอื่น ๆ  ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพันธุ์ดีอยู่แล้ว เพราะเขาปรับปรุงสวนของเขาอยู่เรื่อย ๆ   แต่ต้นยางพันธุ์ดีเหล่านั้นก็กำลังมีอายุมากและจะต้องโค่นทิ้ง แล้วปลูกแทนใหม่ด้วยเช่นกัน
          น้ำยางสดที่ได้มาจากสวนยาง มีลักษณะคล้ายน้ำนม มีเนื้อยางแห้งประมาณร้อยละ ๓๐-๓๕ นอกนั้นเป็นน้ำ น้ำยางดังกล่าวนี้เมื่อผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ  จะได้ยางชนิดต่าง ๆ  กัน เช่น
          (๑) น้ำยางข้น ทำจากน้ำยางสด โดยมีเครื่องแยกที่จะไล่น้ำออกไป ให้เหลือส่วนที่จะเป็นยางประมาณร้อยละ ๖๐ น้ำยางจะข้นขึ้น และเอาไปใช้ทำเบาะนั่ง  เบาะอิง  ที่นอน ตุ๊กตา ถุงมือ ลูกโป่ง ฯลฯ วัสดุสำเร็จรูปเหล่านี้ทำได้ในประเทศไทย  น้ำยางชนิดนี้ผลิตจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ประมาณว่าปีหนึ่ง ๆ   ต้องใช้ถึง ๗๐๐,๐๐๐ - ๑,๐๐๐,๐๐๐   ลิตร 
          (๒) ยางแผ่นรมควัน ทำจากน้ำยางสด  โดยแยกส่วนน้ำออกให้หมด ใช้กรดฟอร์มิกเป็นตัวแยก แล้วรีดเป็นแผ่นและรมควัน ยางชนิดนี้ประเทศไทยผลิตได้เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณร้อยละ ๗๐ ของจำนวนยางที่ผลิตได้ทั้งหมด
          (๓) ยางผึ่งแห้ง ทำจากน้ำยางสด ทำอย่างเดียวกันกับยางแผ่นรมควัน เพียงแต่ไม่รมควันเท่านั้น  เพื่อให้ยางขาวไม่มีควันจับ จะได้เอาไปทำยางชนิดที่ต้องการผสมสี ให้สีสดหรือให้มีสีค่อนข้างขาว เช่น ใช้ทำพื้นรองเท้ายางบาสเกตบอล ยางชนิดนี้มิใช่ยางที่ซื้อขายในตลาด เจ้าของสวนยางจะทำเมื่อมีผู้สั่งซื้อเท่านั้น
          (๔) ยางเครพขาว  ทำจากน้ำยางสด  โดยใช้ยากัดสีให้ยางขาวให้มากที่สุด และแยกส่วนน้ำออกให้หมด โดยใช้กรดฟอร์มิก แล้วรีดให้บางเหมือนกับแผ่นกระดาษ ยางชนิดนี้มีราคาแพงกว่ายางดิบชนิดอื่นใช้สำหรับทำยางที่ผสมสีขาวหรือสีอื่น ๆ  ให้สีสดและใช้ทำพื้นยางดิบสำหรับรองเท้าด้วย
          (๕) ยางเครพชั้นเลว ทำจากยางที่จับเป็นก้อนแล้ว  เช่น ยางที่ติดอยู่ที่รอยกรีด ยางติดก้นถ้วย ยางที่รีดเสีย  ยางรมควันเสีย หรือบางทีปล่อยให้เป็นก้อนเอง  โดยไม่ได้ใส่น้ำกรด หรือไม่ได้รีดภายในกำหนดเวลา ยางเหล่านี้ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ได้ จะต้องปรุงแต่งเปลี่ยนสภาพให้เป็นแผ่นเสียก่อน  ยางเหล่านี้จะต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่บดบี้ขยี้ยางผสมให้เข้ากัน แล้วอัดรีดให้เป็นแผ่นเสียใหม่  ฉะนั้น ยางเหล่านี้เจ้าของสวนยางจะขายให้แก่โรงรีดยางเครพ แม้ว่าจะทำเป็นแผ่นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็นยางชั้นต่ำอยู่นั่นเอง ประเทศไทยมียางชนิดที่กล่าวนี้ค่อนข้างมาก ปัจจุบันนี้ได้ส่งยางชนิดนี้ออกจำหน่ายประมาณร้อยละ ๒๕ - ๓๐ ของจำนวนยางที่ส่งออกทั้งหมด
          (๖) ยางแท่ง เป็นยางที่ทำจากน้ำยางหรือทำจากยางที่จับตัวเป็นก้อนแล้วก็ได้ เป็นการปฏิรูปกรรมวิธีเก่า ๆ   เพื่อให้สะดวกแก่การใช้ในสมัยวิทยาศาสตร์  ยางที่เจ้าของสวนยางทำอยู่ทุกวันนี้มีสภาพเป็น    "ยางป่า"   หรือ "ของป่า" อย่างเดียวกับที่พวกอินเดียนแดง   ทำจำหน่ายที่เมืองพารา เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เพียงแต่รูปร่างเปลี่ยนไปบ้างเท่านั้น ที่ว่าเป็น ยางป่า ก็เพราะแจ้งคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้  เช่น มีผงหรือสิ่งเจือปนอยู่เท่าใด เป็นเถ้าถ่านเท่าใด มีความชื้นที่จะระเหยได้เท่าใด  มีไนโตรเจนเท่าใด ฯลฯ แต่ในปัจจุบันนี้  ด้วยกรรมวิธีการผลิต  "ยางแท่ง" สามารถแจ้งคุณสมบัติดังกล่าวนี้ได้ ต่อไปในไม่ช้านี้ "ยางป่า" จะจำหน่ายได้ยากกว่ายางแท่ง
          (๗) ยางมีคุณสมบัติพิเศษ   การทำยางออกจำหน่าย  นอกจากจะใช้น้ำยางและยางที่แข็งตัว มาจัดทำให้มีสภาพและลักษณะต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้แล้ว  เจ้าของสวนยางยังพยายามปรับปรุงให้มีคุณสมบัติพิเศษยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติอีกด้วย เช่น  การทำยางกระด้าง เพื่อใช้ในการทำวัตถุสำเร็จรูปบางอย่าง  เช่น  ท่อน้ำยาง คิ้วประตูหน้าต่างรถยนต์ ซึ่งต้องการให้ทรงรูปตามความกลม นูน หรือเป็นร่อง มีมุมหักขึ้นลงได้โดยไม่เบี้ยวบิด การทำยางผสมน้ำมัน  เพื่อเพิ่มปริมาณยางให้มากขึ้น และถ้าทำยางรถยนต์จะช่วยให้ยางจับถนนดีขึ้น การทำยางผสมพลาสติก  เพื่อช่วยให้ทนทานไม่แตกง่าย และยังพยายามคิดค้นที่จะทำยางวัตถุดิบให้มีคุณสมบัติพิเศษต่อไปอีก ซึ่งเจ้าของสวนยางทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน เพื่อมิให้ล้าหลังยางเทียม

การผลิตยางออกจำหน่าย, การผลิตยางออกจำหน่าย หมายถึง, การผลิตยางออกจำหน่าย คือ, การผลิตยางออกจำหน่าย ความหมาย, การผลิตยางออกจำหน่าย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 3

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu