มีสูตรง่ายๆทางเศรษฐศาสตร์ในการอธิบายการคลี่คลายลงของปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า Stagflation (เงินเฟ้อ+ลงทุนลด) ว่าจะตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า Deflation โลกในยามนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วยก็กำลังเผชิญกับกับชะตากรรมทางการเงินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่เกิดวิกฤติการทางการเงินของโรคที่เรียกว่า Hamburger Crisis ในอเมริกาที่ได้ลุกลามไปทั่วโลกแล้ว
หลายเดือนก่อน มีเสียงเรียกร้องของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนนโยบายทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับความน่าเป็นห่วงของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นปรากฏการณ์ที่แก้ไขได้ยากมาก เข้าขายที่เรียกว่าเป็นการไขแบบไม่มีทางชนะ แต่วิกฤติการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในขณะนี้กลับกลายเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าวได้เร็วเกินคาด เพราะทำให้ปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นอดีตไปแล้ว เหลือปัญหาด้านเดียวที่ต้องแก้ไขก็คือภาวะเงินฝืด นั่นเอง ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ง่ายกว่า เพียงแต่ว่าที่ง่ายนั้น ไม่ได้เป็นการง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะถ้าแก้ไขไม่เป็นหรือไม่มีฝีมือในการแก้ไขแล้ว อาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่าเดิมได้อย่างไม่ยาก
ตำราทางเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าที่ไหนจะบอกว่าปัญหาเงินฝืดหมายถึงการชะลอตัวลงของการลงทุนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการจ้างงานที่ถดถอย ซึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดน้อยถอยลง ซึ่งก็จะทำให้ อัตราดอกเบี้ยลดลงตามไปด้วย วิธีการแก้ไขพื้นฐานตามสูตรของ John Maynard Keynes ก็คือการสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมา ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมผ่านการใช้เงินภาครัฐด้วยการยอดขาดดุลงบประมาณ เพื่อให้การว่าจ้างงานดำรงอยู่ต่อไป วิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นการฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด เพราะเป็นการส่งเสริมให้ใช้จ่ายเหมือนเดิมหรือมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหวไปด้วยแรงเฉื่อย ซึ่งจุดอ่อนของสูตร Keynes อยู่ที่ว่าเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปด้วยการบริโภค โดยภาครัฐมีภาระหนี้มากขึ้นและยังส่งเสริมให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้มากขึ้น ก็จะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนในอนาคต ถ้าหากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่เกิดขึ้นหรือเกิดช้ากว่าที่คาดเอาไว้
ปรากฏการณ์ทั่วไปของเงินฝืดที่เรามักจะพบเห็นได้บ่อยๆก็คือ ราคาของทรัพย์สินตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกหนี้มีปัญหากับธนาคาร ธุรกิจล้มเลิกกิจการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าปกติ ถือเป็นการขาดทุนที่ไม่ได้บันทึก ส่วนหนึ่งมาจาการที่ธนาคารเรียกสินทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น เพราะสินทรัพย์ที่จำนองไว้กับธนาคารเสื่อมค่าลง ธนาคารมีปัญหาสภาพคล่องหรือเกิดภาวะเงินตึงตัวและลดการปล่อยสินเชื่อลง หุ้นกู้ พันธบัตร หรือทองคำจะได้รับความนิยมเพิ่มากขึ้นจากผู้มีเงินออมในการถือเอาไว้แทนเงิน เพราะให้ความปลอดภัยสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ จำนวนคนว่างงานจะสูงขึ้น เพราะการปลดพนักงานเป็นภาวะปกติ และค่าจ้างโดยเฉลี่ยจะไม่สูงขึ้น ราคาสินค้าโดยทั่วไปมีแนวโน้มจะต่ำลง เพราะกำลังซื้อถดถอย อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะลดต่ำลง เพราะไม่มีการลงทุนใหม่ๆ
ภายใต้สภาพที่กลไกเศรษฐกิจขาดแรงจูงใจให้บริโภคเพิ่มขึ้นหรือลงทุนเพิ่มอย่างนี้ หากมีความพยายามใดๆที่จะโหมประโคมให้เกิดการประหบัดมากขึ้น ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเงินฝืดรุนแรงยิ่งขึ้นตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะทางออกจากภาวะเงินฝืดมีอย่างเดียวก็คือ การสร้างอุปสงค์เทียมเพื่อให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้นชั่วคราวโดยการกระตุ้นการบริโภคอย่างจริงจัง วิธีการที่เชื่อว่าได้ผลชะงัดที่สุดอยู่ที่ภาครัฐบาลต้องอัดฉีดเงินภาครัฐ โดยอาจจะเป็นการอัดฉีดโดยตรงโดยการทุ่มงบประมาณ หรือโดยอ้อมผ่านการยกเว้นหรือลดภาษีเป็นการชั่วคราว เพื่อทำให้ชนชั้นรากหญ้าของสังคมมีรายได้มากขึ้น แล้วนำไปสู่ความต้องการบริโภคสินค้าทุน หรือสินค้าที่ท้องถิ่นผลิตขึ้นมาเองได้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจ
ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญกับความผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาเงินฝืดในประเทศ จนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจเสียหายยาวนานกว่า 10 ปี ในช่วงคริสต์วรรษ 1991-2003 เนื่องจากธนาคารกลางของญี่ปุ่นมองปัญหาผิดด้วยการใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์มากเกินความจำเป็น ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้ทบทวนเรื่องนี้ไปแล้วและจะไม่หวนกลับไปทำความผิดพลาดอีก หากเกิดปัญหาเงินฝืดรอบใหม่ บทเรียนจากญี่ปุ่นดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใคร่ครวญกันอย่างจริงจังเพื่อกำหนดกระบวนการถอยเชิงยุทธศาสตร์ รับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารเครดิต สวิส ของสวิส ได้เคยคำนวณด้วยการวิเคราะห์เชิงถดถอยเอาไว้ว่า การตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติในเอเชียต่ำลงกันถ้วนหน้า โดยประเทศไทยจะเติบโตลดลงประมาณ 0.5 % แค่ธนาคาร UBS ของสวิส เช่นเดียวกัน กลับประเมินต่างกันออกไป โดยประมาณว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากที่ได้เคยคาดเอาไว้ 4.7 % เหลือ 4.0 % ซึ่งใกล้เคียงกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณเอาไว้
โดย คุณวีระชาติ ชุตินันท์วโรดม
ที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/