โรคอัลไซเมอร์ เป็นอาการสมองเสื่อม (DEMENTIA ) ชนิดหนึ่ง ที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ในช่วง 8-10 ปี หลังจากเริ่มมีอาการและไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการสมองเสื่อมรุนแรงยิ่งขึ้น จนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติ แม้กระทั่งการแปรงฟัน โรคนี้ต่างจากอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ตรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ เป็นความผิดปกติที่มีผลโดยตรงต่อสมอง ซึ่งเป็นศูนย์การสื่อสารที่น่ามหัศจรรย์ ในการควบคุมความ ความรู้สึก และการตอบสนองของเรา การสื่อสารที่สำคัญต่าง ๆ ในร่างกายจะถูกส่งผ่านสมอง โดยมีสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (NEURO-
TRANSMITTER) เป็นตัวสื่อสาร สารนี้จะช่วยนำคำสั่งจากสมองไปยังอวัยวะเป้าหมายเพื่อให้เกิดการทำงานขึ้น สำหรับสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจำของเราคือ สารอะเซติลโคลีน (ACETYLCHOLINE) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารนี้ช่วยทำให้มนุษย์มีความสามารถในการจำ
ดังนั้นปัญหาที่รุนแรงอาจเกิดขึ้น หากในสมองมีสารนี้ลดน้อยลงมาก จะทำให้เซลล์สมอง มีปัญหาในการสื่อสาร และพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีระดับของสารอะเซติลโคลีนลดลงอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่า เป็นเหตุทำให้ความสามารถในการจำ และการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลงตามไปด้วย
ปริมาณสารอะเซติลโคลีนนี้ ส่วนหนึ่งถูกควบคุมโดยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า อะเซติล-โคลีนเอสเทอเรส ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยอะเซติลโคลีน ทำให้สารสื่อประสาทนี้ มีปริมาณน้อยลงในสมอง
ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ อะเซติลโคลีนเอสเทอเรส และการเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท
ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์
มีปัจจัยที่ไม่อาจจะควบคุมได้หลายประการที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือ อายุ ในคนอายุ 80 ปี มีโอกาสเป็นโรคนี้ สูงกว่าคนมีอายุ 65-69 ปี ถึง 10 เท่า
ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งประชากรมีอายุยาวนานขึ้น จึงทำให้พบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นด้วย ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากกว่า 4 ล้านคน ภายในปี 2040 คาดว่าจะมีจำนวนสูงขึ้นเป็น 7-10 ล้านคน
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือ กรรมพันธุ์ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีโอกาสเป็นโรคนี้มาก
กว่าคนทั่วไป
การตรวจวินิจฉัย
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีลักษณะอาการและพฤติกรรมที่เป็นรูปแบบเด่นชัด ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่า ผู้ป่วยรายใดตกเป็นเหยื่อของโรคนี้โดยดูจากลักษณะอาการและพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะใช้วิธีการตรวจสอบหลายวิธีในการประเมินอาการของผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือwbr โดยการตรวจสอบความสามารถในการรับรู้ของผู้ป่วย เช่น ความจำ ความใส่ใจ การใช้ภาษา การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา รวมถึงการทดสอบทางห้องปฎิบัติการ และการเอ็กซเรย์สมอง (BRAIN SCAN) เพื่อให้การวินิจฉัยโรคถูกต้องมากขึ้น
แพทย์จะถามถึงความสามารถของผู้ป่วย ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
- การกิน
- การอาบน้ำ
- การเดิน
- การแต่งตัว
- การซื้อของ
- การทำอาหาร
- การใช้โทรศัพท์
การวินิจฉัยโรคทางคลินิกด้วยวิธีดังกล่าว ให้ความถูกต้องสูงถึง 80-90% ในการบ่งชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ มีเพียงวิธีเดียวที่จะให้แน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ ก็คือการตรวจชิ้นเนื้อสมอง
โรคอัลไซเมอร์ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?
พบว่าในปัจจุบัน โรคอัลไซเมอร์ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น ให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีความจำเสื่อม เนื่องจากมีระดับของสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีน จึงมีการพัฒนายา ซึ่งสามารถยับยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเทอเรส ซึ่งน่าจะให้สารอะเซติลโคลีนคงเหลืออยู่มากขึ้น
ปัจจุบันมียาที่เรียกว่า สารยับยั้งอะเซติลโคลีนเอสเทอเรส ซึ่งช่วยลดการย่อยสารอะเซติลโคลีน และเป็นการรักษาระดับของอะเซติลโคลีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้น และระยะปานกลาง ในการรักษาอาการความจำเสื่อม
สารยับยั้งอะเซติลโคลีนเอสเทอเรสหลายตัว อาจมีอาการข้างเคียงในคนไข้บางคน เช่น ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์
ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะต้นๆ มักมีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ซึมเศร้านอนไม่หลับ ตื่นตกใจง่าย ก้าวร้าว ไม่สนใจทำกิจวัตรประจำวัน การให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ พร้อมทั้งการให้ยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ให้คำปรึกษา และวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์
แบบทดสอบเบื้องต้น เพื่อประเมินว่าคนที่คุณรัก อาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทำเครื่องหมายลงในช่องว่าง ที่คุณพบว่าเป็นปัญหาซึ่งเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในครอบครัวของคุณ
...... อาการหลงลืม เช่น ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
...... หลงลืมสิ่งของ จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหนและคิดว่ามีคนขโมยไป
...... สับสนเรื่องเวลา สถานที่ กลับบ้านไม่ถูก
...... ปัญหาเรื่องการพูด ลืมหรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
...... ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
...... จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
...... ปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์
...... พฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
...... ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
หากพบว่า ผู้สูงอายุในครอบครัวมีปัญหาดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่ง หรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่าผู้สูงอายุท่านนั้น กำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอ ร์หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ
การดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่ของสมองส่วนต่างๆ แสดงออกเป็นกลุ่มอาการ ในเรื่องความจำบกพร่อง สติปัญญา ความสามารถลดลง การตัดสินใจไม่เหมาะสม ปัญหาทางบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง อารมณ์ผิดปกติ พฤติกรรมบกพร่อง การเคลื่อนไหวผิดปกติ จนถึงอาการของโรคจิตที่มีประสาทหลอน หลงผิดได้
โรคอัลไซเมอร์ มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจไ ม่เฉพาะต่อผู้ป่วยเอง ยังมีผลกระทบต่อญาติหรือผู้ดูแล ที่ต้องรับภาระที่มีปัญหาทั้งร่างกายและจิตใจ อาจก่อให้เกิดความเครียดเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย กังวล ผิดหวัง เศร้า ว้าเหว่เหมือนถูกทอดทิ้ง บางครั้งผู้ดูแลหรือญาติ อาจเกิดปัญหา หรือมีคำถามต่าง ๆ อยากปรึกษาแต่
….. ไม่รู้จะถามใครดี…..
...... ถามอะไรบ้าง
...... สิ่งที่ทำไปถูกต้องดีหรือยัง
...... รู้สึกผิดคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอารมณ์ในผู้ป่วย
บทบาทของผู้ดูแลหรือญาติ
1. ยอมรับว่า โรคนี้รักษาไม่หาย แต่การช่วยดูแลจะทำให้ผลกระทบด้านต่าง ๆ ลดลง
2. เข้าใจว่าโรคนี้ ก่อให้เกิดอาการได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด สติปัญญา ความจำที่ บกพร่องและถดถอย ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมทั้งอาการทางอารมณ์ ไม่ว่าจะซึมเศร้า หรือก้าวร้าว รวมทั้งอาการทางกาย เพื่อการช่วยเหลือดูแลได้อย่างถูกต้อง
3. ดูแลเอาใจใส่ สังเกตุว่าอาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ เช่น นอนไม่หลับ แยกตัว เครียด อาจมีสิ่งกระตุ้น ช่วยแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น ช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย
4. ให้ความอบอุ่น ดูแลใกล้ชิด ด้วยการติดต่อสื่อสารที่ถูกต้อง อย่าเผชิญหน้า โต้เถียง หรือต่อว่าลงโทษ อาจแสดงได้โดยการติดต่อ สื่อสาร นอกจากคำพูด เช่นการแสดงสีหน้า ท่าทาง สายตารวมทั้งการสัมผัส
5. สนับสนุนให้กำลังใจและช่วยเหลือ กระตุ้น ให้ผู้ป่วยทำในสิ่งที่ทำได้ และช่วยเหลือตามความเหมาะสมกับระยะของอาการของโรค
6. มีส่วนช่วยในการรักษา สังเกตุถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ ก้าวร้าวมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึมเศร้า ฯลฯ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
ตัวอย่างการแก้ปัญหาและแนวทางแก้ไข
1. เมื่อผู้ป่วยมีความบกพร่องในเรื่องของความทรงจำ การถามคำถาม เดิมซ้ำ ๆ ไม่ทำกิจกรรมตามที่เคยบอกไว้ พูดแต่เรื่องเก่า ๆ จำวันเวลาสถานที่ไม่ได้ หรือจำคนใกล้ชิดไม่ได้ ตอบคำถามช้า ๆ ชัด ๆ ด้วยคำพูดง่าย ๆให้ความมั่นใจในคำตอบ เบนความสนใจไปเรื่องอื่น ใช้เหตุการณ์ในอดีตที่ผู้ป่วยมีส่วนร่วมนำสู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าผู้อื่นเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยขายหน้า อาย ลดความภูมิใจ และคุณค่าของตัวเองใช้สัญลักษณ์หรือสิ่งทดแทน โดยการใช้สิ่งของ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่าโต้แย้ง โกรธหรือดุว่าผู้ป่วยในเรื่องของความจำบกพร่อง
2. เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาทางอารมณ์ ก้าวร้าว หงุดหงิด ฉุนเฉียว อย่าโต้เถียง หรือต่อว่าผู้ป่วยโดยตรง อย่ากระตุ้นอารมณ์โกรธ หาว่าอะไรเป็นสาเหตุ บางครั้งผู้ป่วยไม่ได้โกรธผู้ดูแล แต่เกิดจากความคิดของผู้ป่วย และอาการที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เอง
3. เมื่อผู้ป่วยพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมช่วยเหลือตัวเอง ไม่อาบน้ำ เร่ร่อน มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์เพื่ออาจใช้ยาควบคุมพฤติกรรม
การดูแลที่ถูกต้อง
1. มีเวลาพักสลับสับเปลี่ยน ไม่ใช่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาไม่มีเวลาพักเลย จะก่อให้เกิดความเครียดและปัญหาอารมณ์ง่ายขึ้น
2. หากำลังใจ แรงสนับสนุนจากผู้รู้ เช่น ผู้มีประสบการณ์ แพทย์ บุคลากร สาธารณสุข เพื่อการปรับตัว และแก้ปัญหา เพื่อการดูแลได้ถูกต้อง
3. ปรึกษาหารือ ข้อแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ระหว่างผู้ดูแลด้วยกัน ให้เกิดประสบการณ์ในการดูแลมากขึ้น และเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4. ขอความช่วยเหลือ หรือรับการดูแลรักษา เมื่อรู้ว่าตัวเองมีความเครียด หรือปัญหาอารมณ์ เกิดขึ้น