ในประเทศเมืองหนาว เช่น ประเทศแถบยุโรป พอย่างเข้าสู่ฤดูร้อนจะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง หรือที่เราเรียกว่า Daylight Saving Time (DST) หรือบางครั้งอาจจะเรียกได้ว่าเป็น Summer Time และเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวทุกคนก็จะปรับเวลากลับมาเป็นเหมือนเดิม ซึ่งจุดประสงค์หลักของการปรับเวลา Daylight Saving Time นั่นก็คือ การใช้ประโยชน์จากแสงดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด
การปรับเวลายังช่วยประหยัดพลังงานจากการลดการใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เพราะถ้าร่นเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง คนก็จะตื่นเร็วขึ้นมีเวลาทำอะไรระหว่างที่มีแสงสว่างอยู่มากขึ้น
เบนจามิน แฟรงกลิน นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันเป็นคนแรกที่เกิดความคิดเรื่องการปรับเวลานี้ขึ้นมา โดยเขียนไปเสนอแนวคิดนี้กับบรรณาธิการของวารสาร The Journal of Paris ในปี 1784 แต่ไอเดียของเขากลับถูกมองว่าน่าขัน
แนวคิดนี้ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังมากขึ้น เมื่อวิลเลียม วิลเล็ตต์ สถาปนิกชาวอังกฤษนำเสนอแนวทางดังกล่าวในหนังสือเรื่อง Waste of Daylight ในปี 1907 เนื่องจากเขาพบว่าหน้าร้อนพระอาทิตย์ขึ้นเร็ว แต่ก็มีคนน้อยมากที่ตื่นมารับแสงอรุณ ทำให้เกิดความรู้สึกเสียดายแสงแดดขึ้นมา วิลเล็ตต์ต่อสู้เป็นเวลาหลายปีเพื่อจะให้มีการปรับเวลาในอังกฤษ แต่เขาก็ตายก่อนที่ความคิดเขาจะถูกนำไปปฏิบัติ
การปรับเวลาถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยรัฐบาลเยอรมนีในปี 1916 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามติดมาด้วยอังกฤษ (1916) และสหรัฐอเมริกา (1918) แสงของช่วงกลางวันถูกใช้แทนแสงจากดวงไฟและช่วยประหยัดเชื้อเพลิงซึ่งมีค่ายิ่งในช่วงสงคราม
หลังสงครามสหรัฐฯ ได้ยกเลิกการปรับเวลา แต่พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศที่เข้าร่วมสงครามต่างก็หันมาใช้ DST โดยทันทีเพื่อประหยัดพลังงานไว้ใช้ในยามสงคราม สหรัฐฯ เองก็ออกกฎหมายให้ปรับเวลาทั้งปีหลังการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เพียง 40 วัน และหลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในการปรับเวลาอีกหลายครั้ง
ตอนนี้ช่วงเวลาของการใช้ Daylight Saving Time ในสหรัฐฯ กินเวลาทั้งสิ้นเกือบ 7 เดือน คือเริ่มตั้งแต่ 2 นาฬิกาของวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน จนกระทั่งถึง 2 นาฬิกาของวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคม โดยการปรับเวลาก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละเขตเวลา (time zone)
ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าดินแดนที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรส่วนใหญ่ไม่ค่อยวุ่นวายเรื่องปรับเวลากัน เพราะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก หรือความยาวของช่วงกลางวันเท่าใดนัก อย่างบางส่วนของสหรัฐฯ เช่น รัฐแอริโซนา ฮาวาย เขตเวลาทางตะวันออกของอินเดียนา และบริเวณเกาะที่เป็นของสหรัฐฯ อย่าง เปอร์โตริโก ยูเอสเวอร์จินไอส์แลนด์ อเมริกันซามัว และกวม ที่เลือกใช้เวลามาตรฐานตลอดทั้งปีโดยไม่มีการปรับเวลา
แต่มีบ้างเหมือนกันที่เลือกปรับเวลาเพื่อประหยัดพลังงาน หรือด้วยเหตุผลอื่น เช่น เม็กซิโกซึ่งเป็นประเทศเขตร้อน แต่ขอใช้ DST ทั่วประเทศกับเขาด้วย เนื่องจากว่ามีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ มาก เลยขอปรับเวลาตาม ยกเว้นรัฐเดียวคือรัฐโซโนราซึ่งมีพรมแดนติดกันรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ ที่ขอไม่ปรับเวลาตามแบบแอริโซนา
ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 70 ประเทศที่มีการปรับเวลา อย่างประเทศในสหภาพยุโรป (กลุ่มอียู) จะเริ่มปรับเวลาในเวลา 1 นาฬิกาของวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมีนาคม และปรับคืนในเวลา 1 นาฬิกาของวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาคมโดยไม่มีการแบ่งเขตเวลา
สำหรับชาวรัสเซีย ช่วงฤดูร้อนจะหมุนเวลาให้เร็วขึ้นกว่าเวลาปกติ 2 ชั่วโมง และในช่วงฤดูหนาว เวลาของเขตเวลาทั้ง 11 เขตของรัสเซียจะยังคงเร็วกว่าเวลาปกติอยู่ 1 ชั่วโมง
ด้านประเทศในซีกโลกใต้ที่ฤดูร้อนจะมาเยือนในเดือนธันวาคมนั้น จะใช้ Daylight Saving Time ในเดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคม
ส่วนกำหนดการที่จะให้คนปรับนาฬิกาของตัวเองนั้น มักจะกำหนดไว้เป็นช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าต้องการหลีกเลี่ยงความสับสนอลหม่านที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ กับคนขี้ลืม ซึ่งจะทำให้ชีวิตวุ่นวายมากถ้าปรับเวลาในวันธรรมดา
ที่มา sweetjunior