ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย หมายถึง, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย คือ, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย ความหมาย, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย

        ประเทศไทยจะคิดกรรมวิธีทำเครื่องถมขึ้นเอง หรือได้มาจากทางใดและเมื่อใดนั้น หนังสือเรื่องประวัติศิลปกรรมไทยของ นายตรี   อมาตยกุล (พิมพ์ที่โรงพิมพ์สมผล พ.ศ. ๒๔๙๓) กล่าวไว้ว่า "...ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งตราขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  มีแห่งหนึ่งกล่าวว่าขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม ดังนี้เป็นต้น จึงทำให้คิดว่า เครื่องถมดำนี้เป็นของไทย  เราคิดทำได้ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีก็คือ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ส่งเครื่องถมไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องถมดำลายอรหัน* ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่งว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้ออกแบบ..." ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๘  เรื่องจดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑)  มีในเรื่องทูตานุทูตของสมเด็จพรนารายณ์มหาราช  ออกไปกรุงฝรั่งเศสครั้งสุดท้าย  กล่าวไว้ว่า ทูตานุทูตสยามไปถวายพระราชสาส์นต่อพระสันตปาปา  กรุงโรมด้วยและในการที่ราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระสันตปาปา ณ กรุงโรมนั้น "...ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชศาส์น ราชศาส์น... ม้วนบรรจุไว้ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่ ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ อุปทูตเชิญเครื่องมงคลราชบรรณการ...ตรีทูตเชิญของถวายของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์... มีถุงเข้มขาบพื้นเขียวหุ้ม ๑ ถุง ตั้งบนพานถมตะทองสำหรับถวายโป๊ป..."

          นอกจากนี้หมอชาวเยอรมันชื่อ เอนเยลเบิร์ตแกมป์เฟอร์ ซึ่งได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระเพทราชาในพ.ศ. ๒๒๓๓  เป็นเวลา ๒๓ วัน  ก็ได้เขียนบรรยายสภาพของกรุงศรีอยุธยาไว้ตอนหนึ่ง มีว่า "...ถนนสายกลางซึ่งแล่นเหนือขึ้นไปยังพระราชวังนั้นมีผู้คนอยู่คับคั่งที่สุด แน่นขนัดไปด้วยร้านค้า ร้านช่างศิลปะและหัตถกรรมต่างๆ..." ดังนี้ก็อาจจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า  อย่างน้อยในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑-๒๐๓๑) นั้น ไทยก็มีเครื่องถมแล้ว และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ก็รุ่งโรจน์จนกระทั่งใช้เครื่องถมเป็นของกำนัลไปถวายเจ้านายต่างประเทศ  "แม้ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาก็ยังทำกันอยู่หนาแน่นในกรุงศรีอยุธยา..."

          เครื่องถมที่เรารู้จักกันแพร่หลายในเมืองไทยและแม้ในปัจจุบันเรารู้จักกันในนามถมเมืองนคร"ถมนคร" ที่เรียกกันเช่นนี้ เพราะแม้ในปัจจุบันที่นครศรีธรรมราชก็ยังมีการผลิตเครื่องถมอย่างมากมาย เป็นการสืบต่อมาหลายชั่วอายุ และเป็นสินค้าที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งของนครศรีธรรมราช  ประวัติของเครื่องถมในเมืองไทย มีผู้เชื่อกันว่า  ถมนคร  นั้นมีมานานแล้วในแหลมมลายู ไทยจะคิดขึ้นเองหรือได้มาจากทางใดก็ยังหาข้อยุติไม่ได้เชื่อกันว่า  เครื่องถมทำขึ้นที่นครศรีธรรมราชก่อนแล้วแพร่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาอีกทีหนึ่ง ได้มีท่านผู้รู้หลายท่านให้ข้อสันนิษฐานกันไปตามหลักฐานหรือข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะขอรวบรวมนำมากล่าวไว้ให้เป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เกิดแนวความคิดกว้างขวาง จนสามารถที่จะวิเคราะห์จากเหตุผลหรือเกิดแนวความคิดใหม่ๆอันจะเป็นประโยชน์ต่อไป ดังนี้

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสนพระทัยสืบค้นและกล่าวถึงเรื่องเครื่องถมไว้หลายคราวด้วยกัน ในสาส์นสมเด็จฉบับคุรุสภา ตีพิมพ์ครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๕๑๕  เล่ม ๑๘, ๒๖  และฉบับตีพิมพ์  พ.ศ. ๒๕๐๔  เล่ม ๖  ทรงเป็นต้นแบบของนักการศึกษาเรื่องอดีตอย่างแท้จริง  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

          "เมื่อวันที่ ๑๓ นายห้างบารเกรตต์มาเฝ้าจะเอาตำนานการทำเครื่อถม เกล้ากระหม่อมก็ทราบน้อยเต็มที แต่แน่ใจว่าเป็นของมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว  ทราบโดยสังเกตเห็นกระบวนลายและรูปภาพมีชั้นฝีมือช่างกรุงเก่า แต่เรื่องราวในชั้นกรุงเก่าไม่เคยได้ฟังที่ไหนเลย มาทราบเอาชั้นกรุงเทพฯ  มีช่างตั้งทำอยู่ที่บ้านพานถม  ตำบลบางขุนพรหม แล้วก็ไปเกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง" (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๖  หน้า๑๘๓)

          "...หม่อมฉันเกิดอยากรู้ว่าไทยเราจะได้วิชาทำเครื่องถมมาแต่ไหน เพียรค้นดูหนังสือเก่า พบกล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรกเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏอยู่ในบัญชีเครื่องบรรณาการซึ่งแปลเป็นภาษาฝรั่งว่า  เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ให้ทำไม้กางเขนด้วยเครื่องถมส่งไปถวายโป๊ปอันหนึ่ง ส่อให้เห็นว่าไทยเห็นจะเพิ่งทำเครื่องถมได้ในสมัยนั้น นับถือกันว่า...เป็นของแปลก" (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘  หน้า ๒๑๕)

          "เรื่องชั้นต้นของเครื่องถมไทยมีมาดังนี้ เครื่องถมไทยของเก่าที่เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑  เช่น พานพระศรีอยู่ในตู้เครื่องถมของหลวง เป็นต้น  หรือแม้เครื่องถมที่ทำครั้งกรุงศรีอยุธยา  ก็ยังมีตัวอย่างอยู่ สังเกตได้ด้วยชอบทำลายกนกไทยและมีพื้นถมมากเครื่องถมที่ทำในกรุงเทพฯ  ครั้งรัชกาลที่ ๑  ยังทำดีมาก  ฝีมือน่าจะมาทรามลงเมื่อรัชกาลที่ ๒  เป็นหัวต่อที่เครื่องถมเมืองนครฯ จะเฟื่องฟู เข้าใจว่า เรื่องประวัติเครื่องถมชั้นหลังจะมิมาดังนี้" (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘  หน้า ๒๑๖)

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ลายเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราชชอบทำลายอย่างรัชกาลที่ ๒  คือ เป็นกนกเทศและมีรูปอรหัน ส่อให้เห็นว่าการทำเครื่องถมที่เมืองนคร เฟื่องฟูขึ้นครั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๒ มาจนในรัชกาลที่ ๓

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวว่า "เครื่องถมนั้นชอบกลเป็นของที่ทำนานมาแล้ว ของเก่าเรียกกันว่า "ถมดำ" เพราะลายห่างเห็นพื้นดำมากเกล้ากระหม่อมได้สังเกตเห็นของเก่าทีเดียว เป็นพื้นดำลายเงิน ถัดมามีตะทองสลับกับเงิน ถัดมาอีกเป็นลายตะทองล้วน ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นทำพื้นแคบเข้า ลายถี่แน่นเข้า ตกมาถึงถมบางขุนพรหมมีพื้นน้อยเต็มที มีลายเป็นทองอร่ามไปทั่วนั้น เข้าใจว่าเป็นด้วยคนสมัยหลังต้องการให้มีทองมากถือกันว่าเป็นของดี  ถมละคร*  ก็เป็นอย่างเดียวกับถมบางขุนพรหม..."

          "เมื่อไปนครศรีธรรมราชคราวแรก (ครั้ง"โกบีโฮป") ได้เห็นฝาบาตรที่หอพระสิหิงค์เป็นถมชนิดที่เรียกกันว่า "ถมดำ" ในลายเต็มไปด้วยรูปอรหัน (ไม่มี ต การันต์) เข้าใจว่าเอาอย่างเทวดาฝรั่งซึ่งมีปีกมาทำ ถ้าความคิดคาดเช่นนั้นเป็นถูก  ก็จะต้องเป็นของทำในรัชกาลที่ ๒  เป็นอย่างสูง  ถ้าถูก  ดังนั้นการทำ "ถมดำ" ก็ได้ทำมาจนถึงในรัชกาลที่ ๒"  (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘ หน้า ๒๒๐-๒๒๑)

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวินิจฉัยในเรื่องเครื่องถมว่า "ที่ว่าถมดำต้องทำพื้นมากนั้นตรงกับความเป็นจริง ถมที่พระองค์ทรงเรียกว่า ถมบางขุนพรหม นั้นเกือบไม่มีพื้น จะเรียกว่า ถมทองคู่กับถมดำก็ควรจะได้ ฝาบาตรพระสิหิงค์ที่เมืองนครนั้นเป็นถมละครทำอย่างถมดำ..."

          "ถมนคร" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงการทำเครื่องถมในเมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ว่า "ทำแต่ในกรุงเทพฯ กับที่เมืองนครศรีธรรมราช ๒ แห่งเท่านั้น คนนับถือกันว่า ฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ จนเครื่องถมที่ทำดีมักเรียกกันว่า "ถมนคร" เลยมีคำกล่าวกันว่า ช่างถมเดิมมีแต่ที่เมืองนครฯ ชาวกรุงเทพฯ ไปเอาอย่างมาทำสู้ฝีมือครูไม่ได้"

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราชสมัยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕-พ.ศ. ๒๔๖๕)  มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทำเครื่องถม ทรงพบว่า พวกช่างถมก็ทำตามบ้านเรือนของตนอย่างเดียวกับที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ พระองค์สังเกตดูช่างถมแต่งตัวเป็นแขกมลายูทั้งนั้น ที่เป็นคนไทยไม่มีเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เมื่อยังเป็นพระยานครฯ เล่าความหลังให้ฟังจึงรู้เรื่องตำนานว่า "เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานคร (น้อย) ยังเป็นพระยานครลงไปตีเมืองไทร*  ได้เชลยมลายูมามาก จึงเลือกพวกเชลยให้หัดทำการช่างต่างๆ บรรพบุรุษของพวกนี้ได้หัดเป็นช่างถมสืบมาจนทุกวันนี้..."  (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘  หน้า ๑๘๓-๑๘๔)

          "...ตามที่ตรัสเล่าถึงช่างถมที่นครศรีธรรมราชทอดพระเนตรเห็นเป็นมลายูนั้น เกล้ากระหม่อมก็เคยไปดูมิวเซียมในประเทศมลายูมาหลายแห่งพบเครื่องถมที่ทำในมลายูก็มีเหมือนกัน เป็นอันว่ากระทำพ้องกัน กลัวจะเป็นต่างเอาอย่างเครื่อง
บั้งกาหลีของอินเดียมาทำด้วยกันเพราะฉะนั้นที่ว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) เอาครูในกรุงเทพฯ ออกไปสอนนั้นฟังยาก กลัวจะเป็นการสันนิษฐานไปตามความคิดเห็น..."  (สาสน์สมเด็จ เล่ม ๑๘  หน้า ๒๐๗)

          มูลเหตุที่คนนับถือกันว่า ฝีมือช่างถมเมืองนครฯ ทำดีกว่าในกรุงเทพฯ นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีข้อสังเกตไว้สองประการดังนี้
         ประการที่ ๑ เป็นเพราะช่างถมเมืองนครฯเจ้าพระยานคร (น้อย) กวดขันให้ทำให้ได้ดังใจแต่ช่างถมในกรุงเทพฯ ไม่มีใครบังคับกวดขันทำตามใจตนเอง
         ประการที่ ๒  "ถมนคร" มีชิ้นใหญ่ๆ ก็เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้มีเงินทุนให้ทำพวกร้านย่อยบ้านพานถมมีแต่ของเล็กๆ เพราะ ไม่มีเงินทุนและไม่มีโอกาส
        
         "ถมนคร" ชิ้นใหญ่ๆ ที่พระองค์ทรงกล่าวถึง เป็นเครื่องราชูปโภคทำด้วยถมมีของสำคัญ ๕ สิ่ง คือ
         ๑. พระราชยาน ซึ่งมีกระจังพระราชยานถมทำด้วยทอง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) อธิบายว่าการที่ทำราชยานถมถวายครั้งนี้ เอาช่างทองไปจากพระยาเพชรพิชัย เพราะเมืองนครศรีธรรมราชมีแต่ช่างถม มีหลักฐานว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
         ๒. พระแท่นเสด็จออกขุนนาง ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
         ๓. พนักเรือพระที่นั่งกราบ
         ๔. พระเก้าอี้ที่ใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐสองสิ่ง (ในข้อ ๓,๔) นี้พระองค์ทรงสันนิษฐานว่าเป็นของเจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะอนุโลมเป็นราชยานสิ่ง ๑ เป็นราชอาสน์สิ่ง ๑ ตามเค้าของที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้บิดา ได้ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
         ๕. พระแท่นพุดตาน ที่ตั้งในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ทำขึ้น ดำรัสว่า "จะได้เป็นเกียรติสืบสกุล..." (พระที่นั่งพุดตาน ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งจักรีฯ ในพระบรมมหาราชวัง ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสเสด็จออกมหาสมาคมวันเฉลิมพระชนมพรรษาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะบุคคลถวายพระพรชัยมงคล)

         พระราชยานถม และพระที่นั่งพุดตานถมนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานตรงกันว่า "กระจัง พระราชยานถม และกระจังพระที่นั่งพุดตาน ทำด้วยทอง แต่ถึงกระจังเป็นทองก็คงเป็นของเจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวาย จะผิดกันแต่ถ่ายแบบไปทำที่เมืองนครศรีธรรมราชหรือเข้ามาทำในกรุงเทพฯ เท่านั้น..."

         พระราชยานถมทำด้วยเงินเปรียบเหมือนบายศรีเงิน การสร้างพระราชยานด้วยของวิเศษเป็นการเฉลิมพระเกียรติประจำรัชกาล ข้อความข้างต้นเป็นประวัติความเป็นมาของเครื่องถมสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแน่พระทัยว่า เครื่องถมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา)  ทราบโดยเห็นกระบวนลายและรูปภาพมีชั้นฝีมือช่างกรุงเก่า คือ ชอบทำลายกนกไทยและมีพื้นถมมาก

         ในสาส์นสมเด็จวันที่ ๓๐ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๔๘๓  ฉบับพิมพ์ในนิตยสารศิลปากรปีที่ ๑๓ เล่ม ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๒ หน้า ๒๐ ข้อ ๖ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสืบค้นหลักฐานเอกสารมีข้อความตอนหนึ่งว่า

          "เรื่องเครื่องถม หม่อมฉันพบหลักฐานใหม่อีกแห่งหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลว่า ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมือง "กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม"  ดูตรงกับเจียดรัชกาลที่ ๑  ถ้าเป็นแบบมาแต่ตั้งกฎมณเฑียรบาลครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๐๐  ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ตำนานที่หม่อมฉันคาดดังได้ทูลไปก็ผิด แต่นึกว่าจะเพิ่มลงในกฎมณเฑียรบาลเมื่อภายหลังก็ได้..."

          เครื่องถมสมัยอยุธยา หลักฐานเอกสารดังกล่าวน่าจะเชื่อได้ว่ามีการทำเครื่องถมทั้งสองแห่ง คือ ในราชธานีศรีอยุธยาแห่งหนึ่งและที่เมืองนครศรีธรรมราชอีกแห่งหนึ่ง

         เครื่องถมของนครศรีธรรมราช ได้ก้าวหน้ามีชื่อเสียงเรียกกันว่า "ถมนคร" ทำสืบเนื่องกันมาจนในปัจจุบันนี้ ในสมัยที่มีเจ้านครเครื่องถมนี้ก็ได้รับการทำนุบำรุงเอาใจใส่จากเจ้านครทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง ส่วนทางกรุงศรีอยุธยาหลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  และ สมเด็จพระเพทราชา ลงมาถึงธนบุรี ไม่ปรากฏความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมเครื่องถม ในสมัยรัตนโกสินทร์มีปรากฏอยู่แต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับเจ้าพระยานคร (น้อย) แล้วก็ปรากฏการฟื้นฟูในสมัยปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย หมายถึง, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย คือ, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย ความหมาย, ประวัติความเป็นมาของเครื่องถมในประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 21

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu