ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536

พระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม  2536

          ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาในวันนี้ เพื่อให้พรโดยผ่านท่านนายกรัฐมนตรี.  เป็นการให้กำลังใจในการงานทั้งปวง ทำให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป.  ตามที่นายกฯ ได้กล่าว ก็กล่าวในทางที่ดีว่า ทำงานมาเป็นเวลากว่า ๔๗ ปี เป็นผลให้ประเทศชาติมีความเจริญ.  ข้อนี้ก็เป็นการยกย่องและเป็นการให้กำลังใจ. แต่กลับทำให้เกิดความหนักใจอยู่เหมือนกัน. ว่าทำงานมาเป็นเวลาถึง ๔๗ ปีกว่าแล้วสภาพหรือสถานการณ์ของประเทศก็ยังมีความยุ่งยากมิใช่น้อยในทุกด้าน.  ในด้านการทำมาหากินก็ตาม ในด้านความเป็นอยู่ก็ตาม หรือในด้านระเบียบในการปกครองหรือในการอาชีพ แม้สถานะทางความมั่นคงก็ยังไม่ดีตามที่ควรจะเป็น. ข้อนี้ก็เป็นความหนักใจ เพราะหมายความว่า งานที่ทำมานั้น แม้มีผลก็ตาม แต่ยังไม่พอ.  จะต้องให้มีผลดียิ่งขึ้นเพื่อที่จะให้ประเทศมีความมั่นคง มีความผาสุก ราบรื่นอย่างเต็มที่.  แต่ถ้าดูอีกทางหนึ่ง ชีวิตของคนเราก็ตาม ชีวิตของหมู่คณะ หรือประเทศชาติก็ตาม ก็ย่อมต้องประสบความเจริญ และความเสื่อมสลับกันไปเป็นธรรมดา.  ทุกคนก็ทราบดีว่าในชีวิตของแต่ละคน ก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์.  อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง.  แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน.  แต่ว่าถ้าทุกข์มาก ความเป็นอยู่ของคนเรา อยู่ไม่ได้ มันตรอมใจ ไม่มีกำลังใจ ลงท้ายก็ล่มจม.

          ในระยะนี้ดูจะเป็นระยะที่อยู่ในห้วงเวลาที่จะเสื่อม. คนก็บ่นกันมาก บ่นว่าการจราจรคับคั่งติดขัด.  ท่านทั้งหลายมาที่นี่ จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะมาถึง.  บางคนก็ต้องมาตั้งแต่เช้า ทำให้เหน็ดเหนื่อย.  เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข.  ความจริงได้แก้ไขมาเป็นเวลาช้านานแล้ว.  แต่ข้อที่ทำให้หนักใจ คือการแก้ไขนั้น ไม่ทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น.  คือการแก้ไขถ้าทำไป ๕๐ ปัญหาเกิดขึ้นเป็น ๖๐ ก็หมายความว่า ขาดทุนไป ๑๐. อย่างนี้ก็คงเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้หมายความว่าแพ้.  ๑๐ ที่ขาดทุนไปก็จะต้องพยายามแก้ไข.  ถ้าไม่แก้ไข ก็จะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไม่มีทางที่จะแก้.  ถ้าเราแก้ไปเรื่อย แม้จะแก้เต็มที่ไม่ได้ ก็ต้องแก้ไป.  ฉะนั้นก็เกิดความคิดว่า จะต้องแก้ไขในเหตุการณ์เฉพาะหน้าก่อน เพื่อที่จะทำให้สามารถแก้ไขในการดำเนินงานในอนาคต.  เพราะเหตุว่าถ้าการแก้ไขเฉพาะหน้าดำเนินไปไม่ได้ ก็จะทำให้การแก้ไขในอนาคตดำเนินไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็หยุดชะงัก.  อันนี้เป็นตัวอย่าง.  ตอนนี้ยังไม่อยากที่จะมาบรรยายเกี่ยวกับโครงการจราจร.  ถ้าเกิดความคิดขึ้นมาภายหลัง ก็อาจจะพูดถึงเรื่องการจราจร.

          อีกข้อหนึ่งที่หนักใจกันมากก็คือเรื่องภัยแล้งที่ท่านนายกฯ ได้กล่าวถึง.  ภัยแล้งนี้ก็เช่นเดียวกับภัยของการชะงักของจราจร ต้องแก้ไข. และแก้ไขมาตลอด มาเรื่อย แต่ไม่ทันกับเหตุการณ์ ถึงทำให้เดี๋ยวนี้ทุกคนชักจะวิตกอย่างมาก แล้วก็นึกว่าเราแย่แน่ เราตายแน่ๆ.  แต่ว่าถ้าหากไม่แก้ไขเฉพาะหน้าก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขในระยะยาว.  ฉะนั้นก็ต้องแก้ไขในระยะสั้นก่อน.  การที่ทางราชการได้วางแผนการแก้ไขระยะสั้นนี้ ก็เข้าใจว่าจะพอที่จะประทังและพอที่จะผ่านพ้นไป เป็นวันๆ หรือเป็นปีๆ.  แต่ว่าโครงการระยะยาวที่ได้วางเอาไว้มานานแล้ว และที่จะวางต่อไปนั้น ก็จะต้องดำเนิน.

          วันนี้ก็ขอพูด ขออนุญาตที่จะพูดเพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว  เคยพูดมาหลายปีแล้ว. ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำพอเพียงและเหมาะสม.  คำว่าพอเพียงก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้บริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม.  ต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ.  ข้อนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องน้ำโดยตรง เคยพูดกับผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ แล้วก็ไปพูดในทางที่เรียกว่า เห็นทางไม่ดีมากไปหน่อย.  ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยนี่เราก้าวหน้าดี การเงิน การอุตสาหกรรม การค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป. 

          เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้พูดต่อหน้าผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาว่าประเทศไทยค่อนข้างจะแย่ ผ่านในระยะที่เสื่อม ทำให้ความเป็นอยู่ หรือแม้การพัฒนาค่อยๆ ถอยลง.  เขา คนที่เป็นนักพัฒนานั้น บอก: “ไม่จริง อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟู คนมาลงทุนในประเทศมาก แล้วอุตสาหกรรมก็ก้าวหน้า.” เลยต้องบอกว่า จริง มีทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินมากๆ มีการกู้มาลงทุนมากๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ. แต่ก็ต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนก็จะไม่มีทาง เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติอุตสาหกรรมก็ตาม เศรษฐกิจก็ตาม ก็เป็นมนุษย์ทั้งนั้น แล้วเป็นชาวบ้านทั้งนั้น. ท่านนายกก็เป็นชาวบ้าน คือไม่ใช่คนที่มาจากไหน เป็นคนที่มาจากบ้าน.  แล้วก็เป็นคนที่มีชีวิต ทั้งความสุขความทุกข์เช่นเดียวกับทุกคน.  ฉะนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั้งนั้น.

          ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้.  หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสีย ว่าอีกหน่อยจะต้องปันส่วนน้ำ หรือแม้จะต้องตัดน้ำประปา.  อันนี้สำหรับกรุงเทพ ฯ.  ฉะนั้นต้องหาทางแก้ไข.  เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้วางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว.  ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติตามแผนนั้นๆ แล้ว วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ.  โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี.  แล้วโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่ออยู่ที่นราธิวาส.  ได้วางโครงการที่แม้จะยังไม่แก้ปัญหาปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดี ในประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง. อาจจะนึกว่า ๕-๖ ปีนี้มันนาน.  ความจริงไม่นาน.  แล้วระหว่างนี้ เราก็ต้องพยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ.  แต่ถ้ามีความหวังว่า ๕-๖ ปี ปัญหานี้หมดไป ก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าชีวิตต่อไป.

          ที่ว่า ๕-๖ ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มามากกว่า ๕-๖ ปีแล้ว.  โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้ว่าไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้ว เพราะเกรงว่าจะมีการคัดค้านจาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้งเหล่านักต่อต้านการทำโครงการ.  แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย.  แต่ก็ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้ อีก ๕-๖ ปีข้างหน้า เราสบาย. และถ้าไม่ทำ อีก ๕-๖ ปีข้างหน้า ราคาค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป ๒ เท่า ๓ เท่า.  ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปก็จะไม่ได้ทำ.  เราก็จะต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย.  แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้.

          โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ ๒ แห่ง.  แห่งหนึ่งคือที่ แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งที่แม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำ เหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ ในเขตของกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงในที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้.  สำหรับการใช้น้ำนั้น ต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ย คนหนึ่งใช้วันละ ๒๐๐ ลิตร.  ถ้าคำนวณดูว่า วันละ ๒๐๐ ลิตรนี้ ๕ คนก็ใช้ ๑,๐๐๐ ลิตร คือ หนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน.  ถ้าปีหนึ่งก็คูณ ๓๖๕.  ก็หมายความว่า ๕ คนใช้ในปีหนึ่ง ๓๖๕ ลูกบาศก์เมตร.  ในกรุงเทพฯ และในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าวๆ ว่ามี ๑๐ ล้านคน.  ๑๐ ล้านก็คูณเข้าไป ก็เป็น ๗๓๐ ล้าน ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร. ฉะนั้นถ้าเราเก็บกัก ๗๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในเขื่อน เราก็จะสามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลาง ใกล้กรุงเทพฯ นี้ ได้ตลอดปี แล้วก็ไม่มีความขาดแคลน.

          เขื่อนป่าสัก ที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ ๑,๓๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร.  แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ ๗๕๐ ล้านกว่าๆ.  ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้ แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียว ก็พอ พอสำหรับการบริโภค แน่นอน ไม่แห้ง.  ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายก จะได้อีก ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ. คนจะต้องเริ่มเอะอะเมื่อได้ยินชื่อ แม่น้ำนครนายก เพราะเอะอะว่าเดี๋ยวจะไปสร้างที่ ที่ต้องบุกป่า ต้องบุกอุทยานแห่งชาติ อะไรอย่างนั้น. ไม่ใช่.  ตอนนี้ ระยะนี้ จะไม่สร้างในป่าสงวน ในป่าอุทยาน.  หรือถ้าเข้าไปหน่อยก็จะไม่มีต้นไม้ มีแต่ต้นกล้วยป่า.  โครงการนี้จะสร้าง ใกล้บ้านท่าด่าน.  ที่บ้านท่าด่านนี้ จะมีคนคัดค้านว่า มีโครงการพระราชดำริอยู่.  มีฝายท่าด่านซึ่งสร้างมาเป็นเวลาเกิน ๑๐ ปีแล้ว บริการเกษตรกรในเขตของนครนายก ทำให้ได้น้ำสำหรับการเกษตรกรรมประมาณหมื่นไร่.  ฝายลูกนั้นเป็นฝายที่ใหญ่.  ฝายลูกนั้นจะต้องถูกอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างใหม่ครอบ.  แล้วน้ำจะท่วมฝายลูกนั้น.

          มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้.  ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก.  เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ.  พระราชดำรินั้น ก็เป็นความคิดของพระราชา.  ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้.  ฝายตามพระราชดำริลูกนั้น ได้บริการประชาชนมาเป็นเวลานานแล้ว.  และก็ได้ผลคุ้มค่ามาแล้ว. ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะสร้างโครงการใหม่แทนโครงการพระราชดำริเดิมนี้ก็ต้องอนุญาต.  ฉะนั้นได้บอกกับทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนใหม่ว่าอนุญาตให้รื้อโครงการพระราชดำริเดิมจะได้สบายใจกัน.  มิฉะนั้นเดี๋ยวจะหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรืออะไรในทำนองนั้น ถ้า เป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เกิดเดือดร้อนกันทั่วประเทศ.  จึงต้องบอกว่า อนุญาต แม้ไม่มีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้รื้อฝายนั้น และสร้างเขื่อนอันใหญ่โตสูงและจุน้ำถึง ๒๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร.  เขื่อนนี้จะช่วยให้สามารถทำการเพาะปลูกเป็นจำนวนแสนไร่.  และไม่ต้องสร้างระบบเพราะระบบมีอยู่แล้ว.

          ฉะนั้นการสร้างเขื่อน เฉพาะตัวเขื่อนและอาคารประกอบ จะทำให้แก้ปัญหาไปได้มาก.  และจะไม่ท่วมที่ของประชาชนมากนัก.  มีที่ตรงนั้นประมาณ ๕๐๐ ไร่ที่เป็นของกรมชลประทานอยู่แล้ว ไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเดือดร้อน.  และก็ยังเหลือที่ทำมาหากินเล็กน้อยของประชาชนในหมู่บ้านท่าด่านนั้น.  หมู่บ้านเองก็จะไม่ถูกแตะต้อง.  ฉะนั้นถ้าหากว่าทำโครงการนี้ ก็จะเป็นการช่วยขจัดภัยแล้งได้.  สำหรับเฉพาะเขื่อนนี้ ถ้าหากว่าทำโดยเร่งด่วนจริงๆ เข้าใจว่า ๔ ปีก็ทำเสร็จ ไม่ใช่ ๖ ปี.  แต่ต้องเอาจริงแล้ว ก็ต้องยอมลงทุน เพราะว่าเขื่อนนี้สูงถึง ๗๐ เมตร ซึ่งไม่ใช่น้อย เพื่อให้จุน้ำได้เต็มที่. ในลุ่มน้ำนั้นมีน้ำลงมาโดยเฉลี่ย ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี. ฉะนั้นก็รู้สึกว่าจะแน่นอนพอสมควรว่าอ่างน้ำอันนี้จะมีประสิทธิภาพ.

          ปัญหาปัจจุบันนี้ คือภัยแล้ง หมายความว่าฝนไม่ลง.  แต่ในละแวกนี้ มีฝนลงจนน้ำท่วมมาเนืองๆ ไม่เหมือนภาคเหนือ.  ที่นี่จึงเชื่อว่า น้ำจะมีพอ.  และถ้าหากว่าปีไหนฝนดื้อ ไม่ลง ก็สามารถทำฝนเทียมให้ลงมาได้สะดวกง่ายกว่าที่ภาคเหนือ.  เข้าใจว่า ในบริเวณเขื่อนอันนี้ แม้สภาพอากาศจะมีความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปบ้าง ก็เชื่อว่าน้ำจะมีจำนวนพอเพียง.  มิหนำซ้ำถ้าหากบางปีมีมากผิดปกติ อย่างเคยมีมากจนกระทั่งทำให้น้ำท่วม เขื่อนอันนี้จะช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้.  มีน้ำมากหรือน้อย ก็สามารถที่จะบริการประชาชนให้ได้น้ำสม่ำเสมอทุกปี. เรื่องของน้ำท่วมนั้น ปีนี้นึกว่าไม่ต้องพูด แต่ลงท้ายเทวดาก็เตือนว่าต้องพูด เพราะว่าภาคใต้ก็ท่วม. เป็นอย่างนี้ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้ บางทีก็มากบางทีก็น้อย.  แต่ถ้าสร้างเขื่อน อ้าย “บางทีก็มาก บางทีก็น้อย” นั้น เขื่อนนั้นจะเป็นเครื่องมือสำหรับเฉลี่ย.  ปีไหนมีน้ำมากก็เก็บเอาไว้ ไม่ต้องใช้ เพราะว่าน้ำฝนที่ลงมา พอใช้แล้ว.  ก็เก็บเอาไว้.  ปีไหนที่น้ำน้อย ก็เอาออกมาใช้.  ทำให้ภัยแล้งบรรเทาลง ภัยของอุทกภัยก็บรรเทาลงด้วย. ข้อนี้ได้พูดมาหลายปีแล้ว แล้วก็ในที่ประชุมเช่นนี้เหมือนกัน.  ฉะนั้นการที่มาเล่าให้ฟังว่าคิดจะสร้างเขื่อนนครนายกนี้ ก็เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต.  เพื่อที่จะไม่ต้องเสียใจว่าทำไมเมื่อ ๖ ปีก่อนนั้นไม่ได้ทำ.

          ความจริงเรื่องแม่น้ำนครนายกก็ตาม แม่น้ำป่าสักก็ตาม ได้มีการศึกษามาเป็นเวลาแรมปีแล้ว แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ เพราะกลัวว่าคนจะโจมตี.  ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราเสียใจ เสียใจว่าไม่ได้ทำ จนต้องมาเผชิญกับภัยแล้ง.  ถ้าไม่ได้กลัว กล้าทำเมื่อ ๖ ปี ก็น่าจะสร้างมาได้มากแล้ว.  ที่จริง วางโครงการนี้มาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว.  แต่ว่าที่บอกว่า ๖ ปี เพราะพรุ่งนี้ก็อายุ ๖๖.  เมื่อ ๖ ปี ก่อนนี้ วันรุ่งขึ้นของวันที่พูดเป็นวันที่อายุครบ ๖๐. อายุ ๖๐ นั้น เขาฉลองกันมาก เพราะถือกันว่าเป็นโอกาสสำคัญที่คนเราอายุ ๖๐ ต้องฉลองกัน.  ปีนี้ ๖๖ ก็น่าจะฉลองเหมือนกัน เพราะว่าอีก ๖ ปีก็ ๗๒.  ก็ครึ่งทาง ครึ่งทางจาก ๖๐ ถึง ๗๒เมื่อ ๖๐ นั้นพูดกับเพื่อนๆ ว่า ๗๒ เราจะต้องสร้างเขื่อนป่าสัก และเขื่อนอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ.  ๗๒ ก็จะครึกครื้น ไปเปิดหรือไปเยี่ยมโครงการเหล่านั้น แล้วก็ไปปฏิเวธ ไปรู้สึกพอใจภูมิใจว่า ได้มีการสร้างโครงการที่เราคิดเอาไว้.  แต่ตอนนี้เมื่อถึง ๖๖ แล้ว ก็ต้องเร่งรัด.  พูดง่ายๆ ว่าคราวแซยิด ๖๐ เราทำโครงการนี้ โครงการโน้น แล้วก็มาฉลองกัน ดีใจกัน ไปดูโครงการที่สร้างเฉลิมพระเกียรติ ๖๐.  ตอนนี้ ก็นึกว่า เมื่อมีโครงการเฉลิมพระเกียรติอายุ ๖๐ ก็ต้องมีเฉลิมพระเกียรติ ฉลอง ๗๒ ด้วย.

          ตอนนี้อายุ ๖๖ แล้ว ครึ่งทางแล้ว ยังไม่ได้สร้าง.  ฉะนั้นต้องเร่งรัด ต้องเร่งรัดการสร้างเพื่อให้ได้ฉลอง อย่างช้าที่สุด เวลาอายุ ๗๒ จะได้ไปเยี่ยมโครงการที่วางในวันนี้.  ถ้าทำไม่ได้ ก็จะต้องเสียใจอีก.  แล้วถ้ามีการประชุมอย่างเช่นในวันนี้อีกที ก็จะต้องบอกว่า “เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ได้วางโครงการเอาไว้ ได้มาแถลงโครงการให้ทราบว่า น่าจะทำอย่างนั้นๆ แล้วไม่ได้ทำ.” คราวนี้เราก็แห้งแน่ แห้งแล้งแน่. จะไม่มีทาง ลงท้ายเราก็จะต้องไม่ใช่ใช้น้ำคนละ ๒๐๐ ลิตร แต่เหลือสักวันละประมาณ ๒๐ ลิตร. บางคนก็ทำได้ บางคนเขาใช้น้ำวันละ ๒๐ ลิตรก็มี.  แต่ว่าเป็นคนพิเศษ.  คนเราโดยมากก็ต้องใช้มากกว่า.  ฉะนั้นถ้าถึงแซยิด ๗๒ ไม่ใช่ครึ่งแซยิด ๖๖ นี้ ก็จะต้องมาบ่น บ่น บ่นกับท่าน หรือบ่นกับที่ประชุมที่จะมานั่งอย่างนี้ อย่างมาก. แล้วก็อาจจะบ่นมากไม่ไหว เพราะรู้สึกว่าจะเดือดร้อน เพราะว่าไม่มีน้ำใช้.  ฉะนั้นที่แจ้งอย่างนี้ ก็นึกว่าภายใน ๖ ปีนี้ เราพอที่จะก็อกแก็กๆ ทำได้.  แล้วก็จะมีความสุขได้.  เมืองไทย หรือประชาชนคนไทย ชาติไทยจะอยู่ดีกินดีได้จริงๆ เป็นเมืองที่เจริญจริงๆ ได้ ถ้าเราขบคิดปัญหาของปัจจัยน้ำได้ เพียงปัจจัยเดียว.

          เรื่องปัจจัยน้ำนี้ก็จะต้องแจ้งอีกอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า น้ำที่ใช้ในกรุงเทพฯ นี้มาจากเขื่อน ๒ เขื่อนเท่านั้น.  คนเข้าใจว่าน้ำในเขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อนในภาคเหนือมีน้อยตามคำแถลง.  มีน้อยจริงๆ. เขื่อน ๒ เขื่อนนี้คือ เขื่อนภูมิพลกับเขื่อนสิริกิติ์.  ดูเหมือนคนเข้าใจว่า นอกจาก ๒ เขื่อนนี่ไม่มีแหล่งน้ำอื่นเลย.  ความจริงน้ำที่ใช้ก็มาจากแหล่งนั้นส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันมาจากที่อื่นด้วย.  ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำ และต้นน้ำอื่นๆ ที่ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลได้.  คือถ้าไม่มี ทุกวันนี้น้ำจะไม่ไหล จะไม่ไหลเลย เพราะเหตุว่า ระหว่างเดือนสิงหาฯ กันยาฯ มีหลายวันที่เขื่อนใหญ่ไม่ได้ปล่อยน้ำลงมาสักหยดเดียว.  เวลานั้นทางเจ้าหน้าที่พยายามที่จะบริหารให้น้ำเข้าในเขื่อนให้มากที่สุด เพื่อเก็บน้ำไว้ได้ แล้วปล่อยน้ำน้อยที่สุด.  บางวันรายงานมาว่าน้ำเข้าเขื่อน ๔๕ ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำออกจากเขื่อน ๐ ลูกบาศก์เมตร.  แม้กระนั้นน้ำก็ไม่แห้ง น้ำก็ยังมา เพราะว่าตามทางน้ำยังมีอยู่ ท่านทั้งหลายคงไม่เคยเห็น วันไหนก็ตามว่าน้ำเจ้าพระยาแห้ง  น้ำยังไหลอยู่ตลอด.  ไม่ว่าจะสังเกตหรือไม่ว่าน้ำไหลหรือไม่ไหล แต่น้ำไหล. ฉะนั้นแม้ปิดน้ำจากเขื่อนใหญ่นั้น น้ำก็ยังไหลได้.  ฉะนั้นก็บอกได้ ว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานี้มาจากแหล่งอื่นด้วย.

          พูดถึงเขื่อน ปีนี้ก็พยายามที่จะส่งเสริมให้น้ำลงในเขื่อนนั้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ลำบาก เพราะว่าลุ่มน้ำเหนือเขื่อนนั้นๆ ความจริงก็ไม่ใหญ่นัก.  ที่เรียกว่าลุ่มรับน้ำ คือเขตที่น้ำจะลงไปในเขื่อน. แต่ก่อนนี้ ที่เชียงใหม่ฝนลง ๑,๓๐๐ มิลลิเมตร.  หมายความว่าฝนตลอดปีลงมา วัดเป็นมิลลิเมตร ได้ประมาณ ๑,๓๐๐.  ปีนี้ที่ลงมา มีประมาณ ๗๕๐ เท่านั้น.  ประมาณครึ่งเดียวของจำนวนปกติ.  แต่เขื่อนนี้มิได้มีน้ำครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพราะว่าแม้จะลง ๑,๓๐๐ มิลลิเมตร เขื่อนก็จะไม่เต็ม ต้องหลายปีกว่าจะเต็ม.  ฉะนั้นทรัพยากรน้ำจริงๆ ของลุ่มน้ำเหนือเขื่อนนั้น. ไม่ใช่ ๑๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร  ตามความจุที่กำหนดไว้ของเขื่อนนั้น แต่ที่สร้างให้จุมากในขณะนั้น ก็เพราะว่าบางปีฝนก็มาก บางปีฝนก็น้อย.  ดังนี้จะสามารถเก็บน้ำสำรองเอาไว้ได้ เพราะบางปีก็อาจจะมีน้ำมากเหลือเฟือ.  แต่ในปีหลังๆ นี้น้ำมีน้อยลงด้วยเหตุต่างๆ นานา ซึ่งนักวิชาการเองบางทีก็ไม่ทราบแน่ว่าทำไม.  ก็พูดกันว่า เพราะไปตัดต้นไม้.  ตัดต้นไม้นั้นเป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นปัจจัยเดียว.  แต่ว่าปัจจัยอื่นๆ ก็มีเหมือนกันที่จะทำให้น้ำน้อยลง.

          แต่มีวิธีที่จะทำได้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ทำฝนเทียม .  หมายความว่า ความชื้นที่ผ่านเหนือเขต เราดักเอาไว้ให้ลงได้.  ปีนี้ได้ทำมากพอใช้ ทำเป็นเวลาต่อเนื่องกันไปประมาณเกือบ ๓ เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำนั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะว่าเครื่องบินก็มีน้อย. อุปกรณ์มีน้อย  เจ้าหน้าที่ที่ทำฝนเทียมนั้น ต้องเสี่ยงอันตรายมาก เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ก็เก่าแล้ว และชำรุดบ่อย.  ทางกองทัพก็ได้เอื้อเฟื้อเครื่องบิน แต่เครื่องบินเหล่านั้นก็เก่า อย่างเช่น เครื่องบิน ซี ๑๒๓ ซึ่งเหมาะสมกับการทำฝนเทียม เพราะระวางบรรทุกมากพอใช้ และมีสมรรถนะดี.  แต่ ๒ ลำนั้นต้องใช้ผลัดกัน บางวันอาจจะใช้ได้หนึ่งลำ บางวันก็ศูนย์ลำ เพราะต้องแก้เครื่องยนต์.  เจ้าหน้าที่จะต้องเสี่ยงอันตราย เพราะว่าขึ้นไปแล้ว ถ้าเครื่องยนต์เสีย จะมาลงที่ไหน มันไม่มีที่ลง ลงลำบาก ก็เลยทำให้เป็นอันตรายได้.  ฉะนั้นเขาได้ปฏิบัติด้วยความเสียสละ. ใช้คำว่าเสียสละได้ เพราะว่าอันตราย ฝ่าอันตราย.

          ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ นั้น ก็มีเครื่องบิน ๒ ลำ ซึ่งจะต้องผลัดกันซ่อม.  ฉะนั้น จำนวนเครื่องบินที่มีใช้อาจจะไม่พอ.  ถ้าไม่พอ ผลมันไม่ได้.  และเพื่อให้ฝนเทียมนี้ได้ผล จะต้องมีอุปกรณ์ให้พอสมควร.  ซึ่งยากที่จะหามา เพราะว่าราคาก็แพง เครื่องบินลำหนึ่งราคาเป็น สองร้อย สามร้อยล้าน.  แล้วก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ด้วย เจ้าหน้าที่ก็ต้องฝึก.  การทำฝนเทียมนี้ บางทีก็เป็นสิ่งที่น่าท้อใจ เพราะว่าอย่างเช่นตอนหลังๆ นี้ ความชื้นในอากาศน้อย.  ความจริงก็พอทำได้ แต่ไม่เป็นล่ำเป็นสัน.  บางทีทำแล้วแทนที่จะลงในลุ่มแม่น้ำปิง คือแถวเชียงใหม่ ลำพูน กลับไปลงเชียงราย ซึ่งเป็นลุ่มที่น้ำลงแม่น้ำโขง.  แต่ก็ไม่เสียหลาย เพราะว่าปีนี้ตามรายงาน การทำนาในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีผลดีประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์.  ก็หมายความว่า ไม่ใช่ว่าประเทศไทยแห้งแล้ง แล้วไม่มีผลิตผล. อย่างจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผลิตข้าวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ก็ได้ผลได้ทำการผลิตข้าวอย่างน่าพอใจทีเดียว.  ฉะนั้นการทำฝนเทียมก็ได้ผล เพราะว่าน้ำไปลงที่เชียงราย.  แล้วก็เป็นผลผลิตของประเทศชาติ ทำให้เมืองไทยนี้ก็มีรายได้ต่อไป และไม่อดข้าว.  การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนี้ ก็ต้องทำกิจการหลายด้าน ทั้งระยะใกล้และระยะไกล. อย่างเช่นฝนเทียมนี้ เป็นระยะใกล้  ซึ่งก็ทำให้น้ำในเขื่อนไม่แห้งทีเดียว ยังพอมีใช้ ถ้าระมัดระวัง.

          ภาคใต้ ปัจจุบันนี้ไม่มีภัยแล้ง แต่มีอุทกภัย.  อุทกภัยนั้นทำให้เกิดความเดือดร้อนมากพอสมควร.  แต่นับว่าไม่รุนแรงเท่าเมื่อคราวก่อนๆ.  ปัญหาอยู่ที่ว่า เวลาฝนลงแล้ว น้ำก็ท่วม ก็จะต้องรีบทำให้น้ำนั้นออกไป.  น้ำออกไปแล้ว อีกหน่อย น้ำก็จะน้อยเกินไป. แม้แต่ภาคใต้น้ำก็น้อยเกินไป.  ฉะนั้นการเก็บน้ำก็สำคัญ.  อันนี้ก็ให้ไปคิดว่าเก็บที่ไหน ให้ท่านทั้งหลายคิดเอาเองว่าเก็บที่ไหน เพราะว่าถ้าเราทำที่ไหนแล้วก็จะมีการคัดค้าน.  เราก็ไม่อยากเผชิญการคัดค้าน มันเหนื่อยเปล่าๆ.  แต่ว่าความจริง ถ้าหากเก็บน้ำเอาไว้ การที่มีน้ำท่วมอย่างที่เกิดขึ้นจะน้อยลง และหน้าแล้งคือหมายความว่าอีก ๒-๓ เดือนข้างหน้านี่ ซึ่งฝนจะลงน้อย เราปล่อยน้ำที่เก็บกักเอาไว้ได้มาทำการเพาะปลูก แม้ข้าวก็ได้.  ฉะนั้นถ้าหากว่าคิดถึงการบริหารทรัพยากรน้ำในระยะปลายปี ก็ต้องคิดให้ดีๆ. ถ้าไม่คิดอย่างนี้ คิดแต่ใกล้ๆ เราก็จะต้องเผชิญภัย ทั้งอุทกภัย ทั้งภัยแล้ง ซึ่งเรากำลังเผชิญอยู่เดี๋ยวนี้. ฉะนั้นก็จะต้องช่วยกันคิดให้ดีๆ.

          ส่วนหนึ่งที่จะแจ้งให้ทราบได้ว่ากำลังทำอยู่ คือ โครงการที่ปากพนัง. เมื่อ ๒-๓ ปีนี่ทางราชการ ทั้งทหารและพลเรือน ต้องไปช่วยปากพนัง.  แม้น้ำบริโภคของอำเภอปากพนังนั้น ก็ต้องบรรทุกรถไปให้. การบรรทุกน้ำด้วยรถไปให้นี่ ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ย่อมต้องทราบดีว่ามันขาดทุนแค่ไหน.  การสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ จะสิ้นเงินเป็นสิบๆ ล้าน หรือร้อยๆ ล้าน แต่ถ้าสร้างแล้ว จะสามารถที่จะบริการประชาชนได้โดยไม่ต้องใช้รถบรรทุก.  การบรรทุกด้วยรถ จะต้องใช้เงินงบประมาณเป็นร้อยๆ ล้าน. ไม่มีใครได้คิด เมื่อครั้งที่มีผู้อพยพเขมรที่ เขาอีด่าง ครั้งนั้นต้องบรรทุกน้ำมาจากห้วยชัน ใช้รถบรรทุกมาทุกวันหลายๆ คันรถ.  ซึ่งคำนวณดูแล้ว ค่าน้ำมัน ค่าบริการ ค่าสึกหรอนั้นเป็นล้านๆ บาท จึงได้ขอให้สร้างอ่างเก็บน้ำใกล้ๆ กับเขาอีด่าง แล้วก็ให้ขอทางสหประชาชาติช่วยด้วย.  เขาก็ช่วย. ลงท้ายสร้าง เท่ากับได้น้ำฟรีเลย ไม่ต้องบรรทุก.  ต่อท่อมาแล้วก็อยู่สบาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากมายเป็นล้านๆ บาท. เช่นเดียวกัน ที่ภาคใต้ ที่ปากพนังทำโครงการ.  เดี๋ยวนี้กำลังดำเนินอยู่ แล้วก็หวังว่าจะเสร็จภายในสามปี.

          ปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งใครต่อใครเริ่มคิดจะทำการฉลองจะเริ่มในปี ๒๕๓๘.  พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกฤษฎีกา จะเขียนไว้ว่า ให้ไว้ใน วันที่เท่านั้นๆ ปีเท่านั้นๆ เป็นปีที่เท่านั้นๆ ในรัชกาลปัจจุบัน.  เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๘ จะเป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน.  ที่จริง ครบ ๕๐ ปี จะต้องเป็น ปี ๒๕๓๙.  อยากให้โครงการปากพนังนี้สำเร็จสำหรับเฉลิมฉลอง ๕๐ ปี ของรัชกาลปัจจุบัน.  มีความหมายดี แล้วก็ทำให้ครึกครื้นดี ทำให้ปลื้มใจทั่วทั้งประเทศ. โครงการนั้นก็คือ ควบคุมไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาในคลองชะอวด.  และก็จะสามารถทำนาในเขตอำเภอเชียรใหญ่อย่างดีด้วย.  แม้ถูกน้ำท่วม ก็จะเก็บน้ำไว้ได้ เพื่อที่จะทำนาชดเชยต่อไปได้.  หรือถ้าหากว่าทำโครงการดีๆ แม้เมื่อฝนลงมามาก น้ำท่วมบ้างเล็กน้อย แต่ข้าวในเขตอำเภอเชียรใหญ่ก็จะไม่เสีย. ปัจจุบันอำเภอเชียรใหญ่ซึ่งเป็นอำเภอใหญ่ รวมทั้ง หัวไทรและปากพนัง มีพื้นที่ทำนาเป็นแสนไร่ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ทำข้าวไม่ค่อยมากเพราะเสีย ด้วยน้ำมากเกินไป หรือน้ำน้อยเกินไป ทั้งสองอย่าง. ถ้าเราลงทุนสักพันล้านก็จะคุ้ม จะสามารถควบคุมน้ำนั้นได้ ให้เป็นน้ำจืด น้ำใช้ได้.

          บางคนอาจจะเอะอะว่านากุ้งล่ะ. นากุ้งก็จะทำได้เพราะว่า ทางอำเภอหัวไทรอยู่ใกล้ทะเล.  และมีคลองที่เรียกว่าคลองปากพนัง ขนานกับฝั่งทะเล.  คลองนั้นยอมให้เป็นน้ำกร่อย จะทำนากุ้งได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งประเทศไทยสามารถจะส่งนอก.  เรื่องกุ้งนี่ ส่งนอกไปจำนวนมากที่สุดในโลก ขายไปประเทศญี่ปุ่นและถึงประเทศอเมริกา. และนอกจากกุ้ง ก็มีปลาที่เลี้ยงได้ในนากุ้งนั้น.  ก็จะสามารถเป็นรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย.  ประชาชนที่จะทำกิจการเหล่านั้นก็จะร่ำรวย. ไม่เสียเพราะแยกน้ำกร่อยจากน้ำจืดได้.  โครงการนี้เล็งเอาไว้ให้ได้ผลภายใน ๓ ปี.  ทางกรมชลประทานและทางเจ้าหน้าที่ ทั้งทหาร และพลเรือนอื่นๆ กำลังร่วมมือกันทำอยู่เดี๋ยวนี้.  ซึ่งก็จะเป็นผล เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับน้ำเหมือนกัน.  การสู้ภัยแล้งนี่เราดำเนินไปเรื่อย ต่อสู้ไปเรื่อย.

          ที่พูดวันนี้ก็เป็นโครงการอย่างสั้นที่สุด ๓ ปี.  เป็นโครงการ ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ๖ ปี.  แต่ถ้าไม่เริ่มทำเดี๋ยวนี้ มันก็จะกลายเป็นสิบปี.  ถ้าไม่ทำไป ปีก็เพิ่มไปอีกปี.  ฉะนั้นต้องทำแล้วก็เข้าใจว่า เงินที่จะมาลงทุนในโครงการเหล่านี้ ก็ควรจะมีพอ.  เพราะเหตุว่าเงินเหล่านี้ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจก็จะต้องทราบดีว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า.  การลงทุนนี้อาจจะไม่เหมือนการลงทุนบริษัท.  ลงทุนบริษัทนั้น มีการคำนวณว่าจะได้กำไรเท่านั้นๆ กลับคืนมา เพื่อสามารถใช้หนี้เท่านั้นๆ.  หรือบางทีก็ใช้หนี้ได้ แต่ไม่ใช้ เพราะว่ากิจการทางเศรษฐกิจ ถ้าบริษัทไหน หรือกิจการไหนไม่เป็นหนี้บริษัทนั้นไม่ดี เพราะว่า ต้องเป็นหนี้สำหรับให้บริษัทนั้นก้าวหน้า.  นี่ตามทฤษฎีของเศรษฐกิจ.

          และสำหรับโครงการ เช่น โครงการปากพนัง หรือโครงการนครนายก โครงการป่าสัก เหล่านี้ กำไรนั้นมาที่ประชาชน.  ประชาชนจะอยู่ดีกินดี.  เมื่อประชาชนอยู่ดีกินดีก็สามารถที่จะเสียภาษีให้กับรัฐบาล.  รัฐบาลก็เก็บเงินภาษีอากรได้อย่างดี.  ประชาชนมีความสุขความสบายก็ไม่เลี่ยงภาษี ทั้งประชาชนที่มีรายได้ดีส่วนมากก็ไม่ขโมยไอ้โน่นไอ้นี่.  คือพวกที่ขโมย พวกที่เป็นโจรผู้ร้ายส่วนมากก็เพราะเขาแร้นแค้น.  ใครไม่แร้นแค้น ไม่ปล้น ไม่ขโมย เพราะมันไม่สนุก.  แล้วมันก็เสี่ยงอันตราย เมื่อถูกจับอาจจะถูกใส่คุกเป็นแรมปี มันไม่สนุก.  ถ้าเขาทำกินได้ เขาก็มีความสุข เขาก็ไม่ขโมย เขาก็ไม่เป็นผู้ร้าย เขาก็ช่วยกันสร้างสรรค์ ก็ยิ่งเจริญใหญ่.  ฉะนั้นที่เล่าเรื่องโครงการเหล่านี้ก็เพราะว่า มันเป็นสิ่งที่จะทำให้อนาคตมีความสุขได้ มีความเจริญได้. โครงการเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ทันทีได้ด้วย. 

          แม้แต่ทุกวันนี้ถ้าหากว่าเราลงมือทำ ก็จะเกิดมีงานทำ. ถ้าเริ่มทำโครงการ คือลงมือทำจริงๆ คนที่มาทำงาน มาขุดดิน มาเป็นช่างมาเป็นผู้ที่ปฏิบัติ ก็จะมีงานทำ.  เดี๋ยวนี้งานชักจะหายากเข้าทุกที มีคนว่างงานมากขึ้น. เศรษฐกิจดี โรงงานเขาก็ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ.  ก็ต้องปลดคนงานออกไป.  คนงานที่ออกไปไม่มีงานทำ.  แต่ถ้าทำโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ จะสามารถที่จะเอาแรงงานมาทำ มาสร้าง. แล้วเมื่อเขามีงานทำ เขาก็มีเงินตอบแทน. เศรษฐกิจของคนเหล่านั้นก็จะดีขึ้น. เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เขาก็ทำงานด้วยความตั้งใจมากขึ้น มีอาหารใส่ท้อง ก็แข็งแรงงาน. งานนั้นก็จะมีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น.  ฉะนั้นถ้าพูดทางเศรษฐกิจแท้ๆ ก็จะเป็นกำไรสำหรับส่วนรวม. หรือถ้าพูดถึงรัฐบาล ก็เป็นกำไรสำหรับรัฐบาลอยู่ดี เพราะว่าทุกคนทำงานได้ แล้วดูในทางภาษีอากรก็เสียภาษีได้.  ถ้ามองอย่างนี้ ก็จะทำให้ปัญหาปัจจุบันได้รับการแก้ไข ตั้งแต่วันนี้ไป.

          เช่นเดียวกับที่เคยเล่าให้ฟัง เรื่องโครงการแห่งหนึ่งที่ภาคเหนือ ที่สันกำแพง. ไปดูสถานที่ ชาวบ้านเอง ก็ขอให้ทำอ่างเก็บน้ำตรงนั้น คือ ห้วยลาน.  แล้วช่างก็บอกว่าทำได้.  ทางส่วนราชการได้แก่ กรมชลประทานกับสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท รพช.  ร่วมกันช่วยกันทำ.  ไปเยี่ยมที่ตรงนั้น จะเป็น วันที่ ๒๐

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2536 คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu