ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประวัติคีตกวีไทย, ประวัติคีตกวีไทย หมายถึง, ประวัติคีตกวีไทย คือ, ประวัติคีตกวีไทย ความหมาย, ประวัติคีตกวีไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 1
ประวัติคีตกวีไทย



เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

     เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกิดวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตและเป็นผู้ชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง ๕ คน บิดาชื่อ นายฮกหรือสมบัติ มารดาชื่อ นางสมใจ

     ในยุคแรกๆงานประพันธ์ของเขาจะเป็นกลอนรักทั้งสิ้น บทกลอนที่ชื่อ นกขมิ้น ได้รับคัดเลือกนำไปแปลเผยแพร่ในงานกวีนานาชาติ ณ ประเทศเกาหลี

     ได้รับรางวัลซีไรท์ จากบทประพันธ์ “เพียงความเคลื่อนไหว” ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓

     เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๖ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเขียนบทกวีบันทึกเรื่องราวของทุกจังหวัดไว้ในผลงานชุด "เขียนแผ่นดิน" นับเป็นผลงานเอกที่ส่งผลให้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖



มนตรี ตราโมท

     มนตรี ตราโมท มีนามเดิมว่า บุญธรรม เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443    เริ่มเรียนดนตรีปี่พาทย์ กับครูสมบุญ นักฆ้อง ต่อมาเรียนระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ แคลริเนต และหลักการแต่งเพลง กับครูสมบุญ สมสุวรรณ เรียนวิธีการแต่งเพลงกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสามศัพท์) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) และครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน รวมทั้งเรียนโน้ตสากลกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) จนสามารถอ่านและเขียนได้เป็นอย่างดี

     มนตรี ตราโมท รับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บรรเลงระนาดทุ้มประจำวงข้าหลวงเดิม ต่อมาย้ายไปสังกัดกรมศิลปากร จนเกษียณอายุ  และยังคงปฏิบัติราชการในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยจนถึงแก่อนิจกรรม

     มนตรี ตราโมท  มีฝีมือทางการบรรเลงเครื่งดนตรีไทยได้หลายชนิด ที่ได้รับยกย่องพิเศษ คือ ระนาดทุ้ม ได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก ประเภทเพลง 3 ชั้นเช่น เพลงต้อยตลิ่ง (แต่งร่วมกับหมื่นประคมเพลงประสาน) เพลงเทพไสยาสน์ เพลงจะเข้หางยาว ฯลฯ  แต่งตำราทางวิชาการดนตรีไทยไว้ เช่น ดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาการ ศัพท์สังคีต ประวัติบทเพลงต่างๆ และบทความทางประวัติการดนตรีไทยจำนวนมาก  นอกจากนั้น ยังได้สอนดนตรีและเป็นผู้บรรยายพิเศษแก่สถาบันต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร

     ครูมนตรี ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2523 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพ.ศ.2524 และมหาวิทยาลัยศณีนครินทรวิโรฒ เมื่อพ.ศ.2526  ครูมนตรีได้รับพระราชทานโล่ห์เกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะนักดนตรีตัวอย่าง เมื่อพ.ศ.2524 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศลป์ สาขาดุริยางคศิลป์ เมื่อพ.ศ. 2524 และได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย ประจำปีพ.ศ.2528



ยืนยง โอภากุล

       ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว   เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ตำบลท่าพี่เลี้ยง จังหวัดสุพรรณบุรี    เริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาโรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ   ศึกษาต่อระดับ อุดมศึกษาที่อุเทนถวาย และบินไปเรียนต่อระดับปริญญาที่ ประเทศฟิลิปปินส์ สมัยเรียนร่วมก่อตั้งวงคาราบาวกับกิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว คาราบาวเพื่อนสมัยเรียนที่ฟิลิปปินส์ หลังจากจบการศึกษา ได้เข้าทำงานในตำแหน่งสถาปนิกที่การเคหะแห่งชาติ เป็นเวลา 5 ปี และเล่นดนตรีกลางคืน

     ในปี พ.ศ. 2524 แอ๊ดทำอัลบั้มชุดแรกขึ้นในนามวงคาราบาว ใช้ชื่อชุดว่า “ขี้เมา” ปัจจุบันคาราบาวมีผลงานเพลงมากกว่า 90 อัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาคปกติ ภาคพิเศษ ภาคแสดงสด ของคาราบาว

     บทเพลงของคาราบาวมีหลากหลาย แต่ละบทเพลงล้วนแล้วแต่มีความหมายเป็นเรื่องราวบอกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ยุคสมัยนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงที่ทำให้คาราบาวประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยเพลงเมดอินไทยแลนด์ ที่ให้คนไทยกลับมานิยมใช้สินค้าของไทย เป็นอัลบั้มที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ แอ๊ดคาราบาว ได้นำปรัชญา ศาสนา มาถ่ายทอดเป็นบทเพลง   ทำให้บทเพลงของคาราบาวเป็นบทเพลงที่ควรแก่การจดจำ ฟังติดหู และบางเพลงเป็นเพลงอมตะ ที่ร้องกันมาจนถึงปัจจุบันนี้



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงป็นพระราชโอรสองค์ที่ 62 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ เมื่อพระชันษาได้ ๕ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชบิดาก็สวรรคตจึงทรงพระเจริญพระชนมายุมาในพระราชอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐา(ต่างพระมารดา)โดยทรงมีพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวราว ๑๐ ปี

     สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานศิลปะทุกแขนง เช่น งานช่าง อักษรศาสตร์ การประพันธ์ฉันทลักษณ์ สถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดุริยศิลป์ นาฏศิลป์ ตลอดจนถึงการนิพนธ์บทละครทุกประเภท การจัดการแสดง การทำฉากละคร จนถึงการแต่งหน้าและท่ารำทุกกระบวนทรงรอบรู้หมดสิ้นเหลือที่จะพรรณนาได้

     ในด้านการดนตรีนั้นทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ยังมีพระชนมายุไม่ถึง ๑๐ พรรษา ทรงเริ่มเรียนดนตรีจากครูถึก ดุริยางกูร(บุตรของพระประดิษฐไพเราะ ครูมีแขก)แล้วทรงเรียนกับท่านขุนเณร เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ทรงเรียนเพลงหน้าพาทย์ และเพลงเรื่องต่างๆจากพระประดิษฐไพเราะ(ตาด)ซึ่งเรียนอยู่นานที่สุดและใกล้ชิดกันมากที่สุด เมื่อทรงเข้าโรงเรียนทหารมหาดเล็กทรงหัดเป่าฟลุ้ทกับครูฝรั่ง(ไม่ปรากฏนาม)รวมทั้งเรียนโน้ตสากลด้วย ปรากฏว่าทรงอ่านและเขียนโน้ตสากลได้ดีมากตั้งแต่มีพระชนมายุ ๒๒ ชันษา

     เพลงที่พระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์ไว้อาทิเช่น เพลงเขมรไทรโยคสามชั้น   เพลงช้าประสม   เพลงตับแม่ศรีทรงเครื่อง    เพลงปลาทองสามชั้น ตลอดจนทรงมีส่วนร่วมในการก่อกำเนิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มาตั้งแต่ต้น และบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีปัจจุบัน ก็เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน

     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯทรงเสกสมรสครั้งแรกด้วย ม.ร.ว.ปลื้ม ทรงมีพระธิดาพระองค์เดียวคือ ม.จ.หญิงปลื้มจิตร(เอื้อย) จิตรพงศ์ ต่อมาทรงเสกสมรสครั้งที่ ๒ ด้วยหม่อมมาลัย มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือหม่อมเจ้าชายอ้าย(สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)และหม่อมเจ้าชายยี่ ทรงพระนามว่า ม.จ.เจริญใจ จิตรพงศ์ และทรงเสกสมรสครั้งที่ ๓ ด้วย ม.ร.ว.โตงอนรถ มีพระราชโอรสธิดา 6 พระองค์

     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๕ น.



หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

       หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นบุตรของนายสิน และนางยิ้ม ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ    ในปี พ.ศ. 2443 ขณะมีอายุได้ 19 ปี   ท่านได้แสดงฝีมือแสดงเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ทำให้ทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ เพื่อทำหน้าที่นักระนาดเอก ประจำวงวังบูรพา    และได้รับการศึกษาดนตรีในวังจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) 

     จางวางศร ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐไพเราะ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2468  และในปี พ.ศ. 2469  ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง   ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี      ผลงานการประพันธ์ของท่านมีจำนวนกว่า 100 เพลง ทั้งเพลงโหมโรง และเพลงเถา     หลวงประดิษฐไพเราะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 รวมอายุได้ 73 ปี

อัศนี พลจันทร

     อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2461 ที่บ้านท่าเสา จังหวัดราชบุรี เป็นบุตรของพระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) และนางสอิ้ง พลจันทร     การศึกษาจบชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์     อัศนี มีความสนใจในงานทางด้านศิลปวรรณคดีเป็นอย่างมาก สร้างผลงานทางวรรณกรรมต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก โดยใช้นามปากกาว่า “นายผี”

     อัศนีเริ่มต้นการทำงานด้วยการรับราชการเป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 เขาถูกโยกย้านที่ทำงานบ่อยครั้ง เนื่องมาจากความเป็นคนตรงที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด และไม่สนใจต่ออิทธิพลใดๆ เขาตัดสินใจลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2495   และเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “สหายไฟ”      อัศนีใช้ชีวิตต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อันแรงกล้าตลอดมา เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 ที่แขวงอุดมไชยประเทศลาว   กระดูกของเขาได้รับการนำกลับสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่   22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540  โดย “ป้าลม” ผู้เป็นภรรยาร่วมด้วยกับกลุ่มเครือข่ายเดือนตุลาคม กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิต และกลุ่มนักเขียน

     ตลอดชีวิตของอัศนี พลจันทร   เขาสร้างสรรค์วรรณกรรมและบทกวีเพื่อชีวิตไว้เป็นจำนวนมาก   เช่น “ความเปลี่ยนแปลง”   “เราชนะแล้วแม่จ๋า” และหนึ่งในบทกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา คือ “อีสาน”   ตีพิมพ์ในหนังสือสยามสมัย เป็นตัวแทนความคิดและตัวตนของเขา ที่ต้องการสะท้อนความแร้นแค้นของชีวิต และปลุกพลังของมวลชนให้ลุกขึ้นต่อสู้    เขาได้รับการขนานนามว่า “มหากวีของประชาชน”



อติภพ ภัทรเดชไพศาล

     อติภพ ภัทรเดชไพศาล เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จบการศึกษาจาก Tashkent State Conservatory (Uzbekistan) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยศึกษากับ Professor Felix Yanov-Yanovsky ในสาขาวิชาเอกการประพันธ์ดนตรี และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานการประพันธ์ดนตรี ซึ่งจัดขึ้นโดย Union of Composers แห่ง Uzbekistan ในปีเดียวกัน และในปีถัดมาได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดผลงานใน Competition for Young Composers ที่งาน Asian Music Festival ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น

     นอกจากการประพันธ์ดนตรีแล้ว อติภพยังทำงานด้านวรรณศิลป์ และได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีหลากหลายโดยเฉพาะจากวรรณคดีไทย ได้เริ่มเขียนบทกวี เรื่องสั้น และเรื่องแปลลงในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ มีผลงานบทกวีรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดเรื่องสั้นรางวัล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีเดียวกันนั้นเอง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  ผลงานการประพันธ์ที่สำคัญ

- กวีนิพนธ์สามชิ้นของอังคาร กัลยาณพงศ์ for Orchestra

- ใบไม้ป่า - Symphony in 2 movements (มรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์) for Orchestra

- Miniature for Mezzo-soprano, Piano and Percussion (รางวัลชนะเลิศจากการประกวดผลงานการประพันธ์ดนตรี ซึ่งจัดขึ้นโดย Union of Composers แห่ง Uzbekistan)

- คำฉันท์สามฉันทลักษณ์ for Sextet (รางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดผลงานใน Competition for Young Composers, Asian Music Festival ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการคัดเลือกนำออกแสดงที่ Internationales Festival fur Musik unserer Zeit ที่ Salzburg ประเทศออสเตรีย โดย ASPEKTE New Music Ensemble ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗)

- ทางกลับคือการเดินทางต่อ for Orchestra (แสดงครั้งแรกที่ Asian Music Festival ที่ Tokyo ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยวง Tokyo Philharmonic Orchestra)

- Dreamscape no.1: Inside and Outside for Violin, Cello and Piano (ได้รับการคัดเลือกนำออกแสดงที่ International Youth Music Forum ที่ Kiev, Ukraine ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และนำออกแสดงครั้งที่สองที่งาน Asian Music in New Millennium ที่ Seoul ประเทศเกาหลี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕)

- The Noise (เสียง) for Septet, Narrator and Tape

- อิฐก้อนแรก (ระลึกถีงโกมล คีมทอง) for Wind Ensemble and 2 Violins



บุญยงค์ เกตุคง

     ครูบุญยงค์ เป็นบุตรชายคนโตของนายเที่ยงและนางเขียน เกตุคง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 4ปีวอก พ.ศ.2463 ที่ตำบลวัดสิงห์เป็นหลานปู่หลานย่าของนายใจและนางเพียร ชาวสวนตำบลดาวคนอง เป็นหลานตาหลานยายของนายเปี่ยมและนางภู่ ศรีประเสริฐ ตากับยายและแม่เป็นคนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีน้องชาย 2 คนชื่อบุญยังและทองอยู่ มีน้องสาว 1 คนชื่อเบญจางค์ น้องชายที่ชื่อบุญยังเป็นนักดนตรีฝีมือดี ครูมีภรรยาซึ่งเป็นน้องสาวครูชื้น ดุริยประณีตแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน

     ครูได้ศึกษาดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่านเช่น ครูหรั่ง พุ่มทองสุข ครูประสิทธิ์ เกตุคง ครูเพชร จรรย์นาค ครูสอน วงฆ้อง ครูเทวาประสิทธิ์   พาทยโกศล ครูพุ่ม บาปุยะวาส เป็นต้น จนมีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกประเภท ทั้งประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก จนถึงการประชันวงปี่พาทย์   นอกจากนั้นครูได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น “ระนาดเทวดา” เพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน

     ประวัติการทำงาน ครูได้เข้ารับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ประมาณ 5 – 6 ปี จากนั้นเข้าเป็นนักดนตรีประจำอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมอยู่ประมาณ 5 ปี จากนั้นเข้าเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรีไทยของสำนักงานกรุงเทพมหานคร จนเกษียณอายุเมื่อ ปีพ.ศ.2525

     ผลงานทางด้านการแต่งเพลงของครูมีมากหลายเพลงอาทิ โหมโรงสามสถาบัน โหมโรงจุฬามณี โหมโรงสามจีน เพลงเงี้ยวรำลึกเถา เพลงเริงพลเถา เพลงศรีธรรมราชเถา เพลงชเวดากองเถา เพลงพิรุณสร่างฟ้าเถา เพลงเพชรน้อยเถา เป็นต้น และยังแต่งทางเดี่ยวสำหรับเพลงต่างๆและเครื่องดนตรีต่างๆอีกเป็นอันมาก   ผลงานการแต่งเพลงของครูในระยะหลัง มีชื่อเสียงแพร่หลายไปถึงต่างประเทศคือไปร่วมงานกับนายบรู๊ซ แกสตัน นักดนตรีชาวเยอรมันจัดทำเพลงชุด “เจ้าพระยาคอนแชร์โต้”บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยผสมเครื่องดนตรีฝรั่งเป็นที่นิยมชมชอบกันโดยทั่วไป นอกจากนั้นท่านยังได้รับการยอมรับนับถือจาก เซอร์ ไซมอน แรทเทิล (Sir Simon Rattle [1955]) วาทยากรชาวอังกฤษ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวาทยากรหลักของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคออร์เคสตรา) ในฐานะครูผู้ใหญ่อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ครูบุญยงค์ เกตุคงเป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีของไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ครูได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)ประจำปี 2531 นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งในชีวิตที่ครูได้รับ

     ครูบุญยงค์ เกตุคง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2539 สิริรวมอายุได้ 76 ปี



พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)

     พระยาประสานดุริยศัพท์ เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเลขา(ทองดี) กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ที่บ้านเลขที่ ๘๑ ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพฯ    

     การศึกษาวิชาดนตรีไทย ได้เรียนปี่ชวากับครูชื่อ “หนูดำ” ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อื่นๆ รวมทั้งปี่ใน ปี่นอก นั้นได้ศึกษาอย่างจริงจังกับครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) จนบรรลุความแตกฉานเป็นเอตทัคคะทางดุริยางคศิลป์อย่างยอดเยี่ยมต่อมา 

     หน้าที่การงานของท่านเริ่มด้วยการเข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงนครบาล เป็นหมื่นทรงนรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออก ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ มีพระประสงค์ให้นักดนตรีของวัดน้อยทองอยู่ซึ่งมีครูช้อย สุนทรวาทินเป็นครู มีนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) กับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) เป็นศิษย์เอก เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ล่วงมาจนถึงพ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระยุพราชได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ “ขุนประสานดุริยศัพท์” นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็น “พระยาประสานดุริยศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

     งานคีตนิพนธ์ของท่านอาทิ เช่น เชิดจีน ๓ ชั้น พม่าห้าท่อน เขมรราชบุรี ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เขมรทรงพระดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม) เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ดอกไม้ไทร ถอนสมอ แขกเชิญเจ้า เป็นต้น

     ในด้านชีวิตครอบครัวท่านสมรสกับนางสาวพยอม ชาวจังหวัดราชบุรี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๑ คน ท่านล้มป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๖๗ สิริอายุได้ ๖๕ ปี

พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)

     พระประดิษฐไพเราะ นามเดิม มี ดุริยางกูร เกิดตอนปลายรัชกาลที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรี ท่านเป็นครูดนตรีมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นั้น ครูมีแขกได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2396 ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็กว่าราชการกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปีเดียวกันนั้นเองท่านได้แต่งเพลงเชิดจีน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สมพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงเป็นพระ

     พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าแห่งเพลงทยอย เพราะผลงานเพลงลูกล้อลูกขัด เช่น ทยอยนอก ทยอยเขมร ล้วนเป็นผลงานของท่านทั้งสิ้น ผลงานของพระประดิษฐไพเราะ(ครูมีแขก) เท่าที่รวบรวมและปรากฏไว้ มีดังนี้ โหมโรงขวัญเมือง การะเวกเล็กสามชั้น กำสรวลสุรางค์สามชั้น แขกบรเทศสามชั้น และผลงานอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ท่านถึงแก่กรรม ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5

ประวัติคีตกวีไทย, ประวัติคีตกวีไทย หมายถึง, ประวัติคีตกวีไทย คือ, ประวัติคีตกวีไทย ความหมาย, ประวัติคีตกวีไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu