ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ หมายถึง, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ คือ, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ ความหมาย, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้

          "ผ้านุ่งที่มีความงดงามลางชนิด เช่น ผ้าม่วงไหมยกดอก หรือผ้าม่วงไหมอย่างไม่ยกดอกและเช่นผ้าลายเนื้อดี อนุญาตให้ใช้นุ่ง ได้แต่เฉพาะบุคคลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ส่วนพวกผู้หญิงชั้นสามัญนั้นนิยมนุ่งผ้านุ่งสีดำ และสไบนั้นก็มักเป็นผ้ามัสลินสีขาวอย่างธรรมดาๆ"
          ตามจดหมายเหตุของลาลูแบร์ที่กล่าวมาข้างต้น ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เสื้อผ้าของคนในสมัยอยุธยาค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าในสมัยนั้นมีผ้าอะไรใช้กันบ้าง และผ้าอะไรที่เป็นผ้า "ต้องห้าม" ซึ่งบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไปจะใช้ไม่ได้
          จากจดหมายเหตุต่างๆ เหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยามีร้านขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผ้าต่างประเทศ ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ผ้าเป็นสินค้าต้องห้ามอย่างหนึ่ง เมื่อพ่อค้าบรรทุกผ้าเข้ามาขายต้องให้รัฐบาลรับซื้อเข้าพระคลัง แล้วจำหน่ายไปตามตลาด ฉะนั้น ผ้าจากต่างประเทศจึงมีราคาแพงและหายากแต่ตามหัวเมืองในชนบทชาวบ้านทอผ้าใช้เอง การแต่งกายจึงไม่ เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยเหมือนคนในกรุง ความประณีตสวยงามจึงอยู่ที่ฝีมือการทอผ้าให้มีลวดลายแปลกๆ สีสวยๆ มากกว่ารูปแบบของเสื้อ
          ตลาดขายผ้ามีทั้งผ้าพื้นเมืองและผ้าต่างประเทศ ผ้าพื้นเมืองที่ส่งเข้ามาขายในกรุงศรีอยุธยาตามที่ปรากฏว่า "คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม" กล่าวว่า สินค้ามาจากเมืองนครราชสีมา คือ "ผ้าตาราง ผ้าลายบัวสี่คืบน่าเกบทองและผ้าตาบัวปอก ตาเลดงา" สินค้าจากเมืองพระตะบองคือ "ผ้าปูมแพรญวน" และในกรุงศรีอยุธยาเองก็มีการทอผ้า เช่น "บ้านริมวัดลอดช่อง พวกแขกตานีทอผ้าไหม ผ้าด้ายเป็นผ้าพื้น ผ้าม่วงเกลี้ยงดอกขาย"
          ในเอกสารฮอลันดา สมัยกรุงศรีอยุธยา (ฉบับกรมศิลปากร) กล่าวว่า ผ้าของเปอร์เซียที่นำมาขายพระเจ้าแผ่นดิน มีผ้าทอง ผ้ากำมะหยี่ ผ้ายกทอง ผ้าแดงเนื้อดี รวมทั้งผ้าระบายสีทุกชนิด
          แหล่งที่มาของผ้า นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็มีที่ "บ้านริมวัดขุนพรม ชาวบ้านย่านนั้นเอาผ้าขาวเทศมาเขียนพิมพ์ตีพิมพ์เป็นดอก  ผ้าลายน้ำจืดขาย" และที่ "ถนนย่านป่าผ้าเขียวหลังคุก มีร้านขายเสื้อเขียว เสื้อขาว เสื้อแดงชมพู เสื้อยี่ปุ่น เสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอก  เสื้อสวมศีรษะ กังเกงสี ต่างๆ" อีกฉบับหนึ่งคือ "ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา" กล่าวว่า "ขายเสื้อเขียว เสื้อขาว เสื้อจีบเอว เสื้อฉีกอก เสื้อกรวมหัว กังเกงเขียว กังเกงขาว" ตามจดหมายเหตุนี้แจ้งให้ทราบว่ามีเสื้ออะไรบ้างส่วนกางเกงบอกเฉพาะ ๒ สีเท่านั้น
          ในเรื่องรูปแบบของเสื้อผ้าและการแต่งกายของคนไทยสมัยอยุธยา  ตามที่กรมศิลปากรตรวจสอบจากจิตรกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา คงสรุปเป็นหลักฐานได้ดังต่อไปนี้
        "๑. สตรีไว้ผมยาวเกล้ามวยบนศีรษะสวมเสื้อบางผ่าอก คอรูปสามเหลี่ยม แขนสั้นขลิบขอบสาบเสื้อ ชายเสื้อปรกเอวย้วยรับกับสะโพก สวมกำไลแขนเป็นปลอก นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวครึ่งแข้ง
          ๒. ส่วนชาวบ้านผมไว้ยาวประบ่าหวีแสกกลาง ไม่สวมเสื้อ ห่มผ้าสไบเฉียงปิดอก นุ่งผ้าเชิงใต้สะดือยาวครึ่งแข้ง จีบหน้านางชักชายพกยาวตกลงมาตรงกลาง
          ๓. แบบผมบางแบบเกล้าขึ้นไปแล้วคาดกลาง ปล่อยให้ปลายบานออก หรือไว้ผมหวีแสก กลางไปรวมกัน เป็นพุ่มตรงด้านหลัง ใส่สร้อยสังวาล แต่มีผ้าคล้องไหล่ปิดอกทั้งสองข้าง นุ่งผ้าเชิงยาวครึ่งแข้ง จีบหน้าชักชายพกยาวลงมาตรงกลางช่วงขา ไว้ผมยาวเกล้ามวย ไม่สวมเสื้อแต่ ห่มผ้าแบบตะเบ็งมานแทน โดยนุ่งผ้าโจงกระเบนเพื่อสะดวกแก่การทำงาน บางครั้งก็หยักรั้งเหนือเข่า
         ๔. มีบางพวกนุ่งผ้าเชิงยาวครึ่งแข้ง จีบหน้านางและไว้ผมยาวประบ่า ตอนบนหวีแสกกลางเป็นรูปปีกนก (ผมปีก) ห่มผ้าสไบเฉียง นุ่งผ้าเชิงจีบหน้านางยาวครึ่งแข้ง
         ๕. สำหรับผู้ชาวชาวอยุธยา ไว้ผมสั้นหวีแสกกลางดุจผมรองทรง สวมเสื้อแขนสั้นเป็นเสื้อรัดรูปยาวปรกบั้นเอว ผ่าอก คอสามเหลี่ยมมีลายเกล็ดประดับขอบสาบเสื้อและขอบแขนสวมกำไรเป็นปลอก นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นเหนือเข่า กับสนับเพลายาวครึ่งแข้ง
         ๖. ส่วนศิลปินทำทรงผมหวีแสกกลางทรงปีกนก โกนด้านข้างโดยรอบ สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นปล่อยชาย พับกางเกงขาวยาวครึ่งแข้งคล้ายสนับเพลา ผ้าคาดพุงปล่อยชาย
         ๗. ผู้ชายชาวพื้นบ้าน ไว้ผมหวีมีผ้าคาดศีรษะ ปล่อยผมปรกหน้าผาก สวมเสื้อแขนสั้นคอกลม นุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้งเหนือเข่า ทับชายเสื้อ"
          ลักษณะการแต่งกายดังกล่าว เป็นการบรรยายตามภาพจิตรกรรมในสมุดไตรภูมิสมัยอยุธยา ซึ่งมีลักษณะต่างกันอีกหลายรูปแบบ
           ดังได้กล่าวในตอนต้นแล้วว่า ในสมัยอยุธยามีผ้ามากชนิด ผ้าบางอย่างก็สงวนไว้สำหรับขุนนาง อย่างเช่น ผ้าสมปักที่กล่าวมาในตอนต้น นอกจากนี้ยังมีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุโหรฉบับพระประมวญธนรักษ์ (หอสมุดแห่งชาติ) ตอนหนึ่งว่า
          "จุลศักราช ๑๑๕๐ วอกศก ห้ามราษฎรขุนนางมิให้ห่มผ้าสีต่างๆ จี้กุดั่น เกี้ยวกำไลเข็มขัดประจำยาม แหวนลงยา กำไลหลังเจียดกำไรเท้าทองลูกประหล่ำลงยา ผ้าปูมเชิงม่วงนุ่งตามฐานาศักดิ์ ขุนหมื่นนุ่งตารางทองแย ตาสมุกไพร่นุ่งบัวปอกเม็ดงา ดอกส้ม ดอกเทียน ห้ามผ้าลายเป็นขาดทีเดียว"
          ข้อห้ามการแต่งกายดังกล่าว เป็นระเบียบที่กำหนดขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งห้ามมิให้คนธรรมดาสามัญแต่งตัวเทียมเจ้า ในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่มีกล่าวถึงเรื่องการแต่งกายในตอนท้าวทศวงศ์อภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษราว่า
                                                              "ข้าหลวงเหล่าชาววังยังกำดัด
                                                               นุ่งสุหรัดซัดแต่ล้วนแพรสี
                                                               หนุ่มหนุ่มเหล่าเจ้าชู้ลูกผู้ดี
                                                               เห็นสตรีรูปงามตามเป็นพรวน
                                                               พวกบัณฑิตศิษย์วัดซัดลายอย่าง
                                                               เที่ยวลากหางเดินข้ามตามฉนวน
                                                               เขาจับได้ให้แพรแสสีนวล
                                                               ออกเดินด่วนเลี้ยวลัดเข้าวัดวา"

          การนุ่งผ้าลายอย่างของพวกบัณฑิตศิษย์วัดผิดข้อห้ามที่กำหนดไว้ ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งชำระใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่ากฎหมายตราสามดวง) มีข้อห้ามเรื่องการแต่งกายไว้ตอนหนึ่งว่า
          "อนึ่ง ผู้ใดทัดดอกไม้ และนุ่งผ้าแดง ผ้าชมพูไพรำการะกำหาเชิงมิได้ ห่มผ้านอกเสื้อ ห่มผ้าบ่าเดียว นุ่งผ้าเหน็บหน้า หิ้วชายลอยชาย และ เข้าในสนวนประตู สนวนตะพาน สนวนในรั้วไก่ในกะลาบาต แลหน้าพระธินั่ง ประตูทับเรือก็ดีพระตำหนักก็ดี ฝ่ายผ้าเสื้อไซ้ให้ฉีกเสีย ดอกไม้ไซ้ให้คลุกฝุ่นโพกหัว ตามโทษหนักโทษเบา"
          ดังนี้ แสดงว่าการแต่งกายในสมัยโบราณต้องรู้จักกาละเทศะและรู้ระเบียบแบบแผนว่าควรจะใช้สีอะไร นุ่งผ้าอะไร เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายบ้านเมืองและประเพณีของราชสำนัก

ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ หมายถึง, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ คือ, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ ความหมาย, ผ้านุ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu