ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕), รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) หมายถึง, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) คือ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) ความหมาย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี พระปกเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม

          ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๗๕ พรรษาปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม ปละวังคสมพัตสร มฤคศิรมาส ศุกลปักษ์ เตรสีดิถี สุริยคติกาล ธันวาคมมาส ทศมสุรทิน สนิวาร โดยกาลบริจเฉท 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุนันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภฑตสุชาตสำศุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มาหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฏาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิตธันยลักษณ์วิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานทสนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษา เดชนาวุธ วิชัยยุทธศาสดรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฐโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์ สรรพทศทิควิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ วิศิษฏศักตอัตรนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่ามกลางอุตมสันนิบาต พระบรมวงศานุวงศ์ และทูตานุฑูตผู้แทนนานาประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนามาตยราชบริพาร เฝ้าเบื้องบาทบงกชพรั่งพร้อมกันโดยอนุกรม

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศความพระราชปรารภว่า ข้าราชการทหารพลเรือน และอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน

          ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนิรพระราโชบายปกครองราชอาณาจักร ด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชภายในทศพิธราชธรรมจรรยา ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราวพอให้สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฎร ได้จัดรูปงานดำเนิรประศาสโนบายให้เหมาะสมแก่ที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่ ครั้นแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันร่างพระราชกำหนดบทรัฐธรรมนูญอันจะพึงตรึงเป็นหลักถาวรแห่งประศาสนวิธีต่อไป ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบการร่างรัฐธรรมนูญนั้น

          บัดนี้ อนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉะบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดี นำเสนอสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาปรึกษาลงมติแล้ว จึ่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษาแนะนำด้วยความยินยอมพร้อมที่จะตราเป็นรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินได้เมื่อและทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

          จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ ให้ดำรงอิสสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

          ขอให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรของเรานี้ จงเป็นหลักที่สถาพรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดความผาสุกสันติคุณวิบุลราศีแก่อาณาประชาชนตลอดจำเนียรกาลประวัติ นำประเทศสยามบรรลุสรรพพิพัฒนชัยมงคล อนกศุภผลสกลเกียรติยศมโหฬาร ขอให้พระบรมราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารพลเรือนทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสานสมดั่งพระบรมราชปณิธาน ทุกประการเทอญ



บททั่วไป

          มาตรา สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
          มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้


หมวด ๑ พระมหากษัตริย์

           มาตรา ๓ องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
           มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ต้องทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
           มาตรา ๕ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
           มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
           มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
           มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
           มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติท่านว่าให้ไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
           มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว
           มาตรา ๑๑ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง


หมวด ๒ สิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม

           มาตรา ๑๒ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย
           มาตรา ๑๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักข์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน
           มาตรา ๑๔ ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ
           มาตรา ๑๕ บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมายและมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการโดยทางเสียภาษีและอื่นๆภายในเงื่อนไขและโดยอาการที่กฎหมายบัญญัติ


หมวด ๕ ศาล

           มาตรา ๕๘ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ท่านว่าเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนิรตามกฎหมายและในนามพระมหากษัตริย์
           มาตรา ๕๙ บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้แต่โดยพระราชบัญญัติ
           มาตรา ๖๐ ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย

หมวด ๓ สภาผู้แทนราษฎร

           มาตรา ๑๖ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น
           มาตรา ๑๗ คุณสมบัติแห่งผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกทั้งวิธีเลือกตั้งและจำนวนสมาชิก ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
           มาตรา ๑๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละสี่ปี ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนให้เต็มตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
           มาตรา ๑๙ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภา ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญนี้
           มาตรา ๒๐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนแต่ฉะเพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ
           มาตรา ๒๑ สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อ
            (๑) ถึงคราวออกตามวาระ หรือยุบสภา
            (๒) ตาย
            (๓) ลาออก
            (๔) ขาดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
            (๕) สภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา มติในข้อนี้ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
            มาตรา ๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา ให้เป็นประธานแห่งสภาหนึ่งนาย เป็นรองประธานนายหนึ่งหรือหลายนายก็ได้
           มาตรา ๒๓ ประธานแห่งสภามีหน้าที่ดำเนิรกิจการของสภาให้เป็นไปตามระเบียบ รองประธานมีหน้าที่กระทำกิจการแทนประธานในเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าทีได้
           มาตรา ๒๔ ในเมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกเลือกตั้งกันเองขึ้นเป็นประธานการประชุมในคราวประชุมนั้น
           มาตรา ๒๕ การประชุมทุกคราว ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึ่งเป็นองค์ประชุมได้
           มาตรา ๒๖ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นไว้แต่เรื่องซึ่งมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้
           สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
           มาตรา ๒๗ ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆในทางแสดงข้อความหรือแสดงความเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ท่านว่าเป็นเอกสิทธิ์อันเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดๆมิได้
           เอกสิทธิ์นี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และโฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแสดงข้อความหรือออกความเห็นในที่ประชุมด้วย
           มาตรา ๒๘ ในปีหนึ่งท่านให้มีสมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งหรือหลายสมัย แล้วแต่สภาจะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่การเลือกตั้งเสร็จแล้ว วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ท่านให้สภากำหนด
           มาตรา ๒๙ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆท่านว่ามีการกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
           อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้น จะโปรดเกล้าฯให้ปิดประชุมก็ได้
           มาตรา ๓๐ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม
           พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯให้รัชชทายาที่บรรลุนีติภาวะแล้ว หรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
           มาตรา ๓๑ เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
           มาตรา ๓๒ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมด เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้ว ย่อมมีสิทธิรวมกันทำคำร้องขอต่อประธานแห่งสภา ให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรได้ ในกรณีเช่นนี้ท่านให้ประธานแห่งสภานำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ
           มาตรา ๓๓ ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องสมาชิกแห่งสภาในทางอาชญา ท่านว่าศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาก่อนจึ่งพิจารณาได้ และการพิจารณาคดีนั้นต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุม
           อนึ่งการพิจารณาคดีที่ศาลได้กระทำไปก่อน มีคำอ้างว่าผู้ต้องหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ท่านว่าเป็นอันใช้ได้
           มาตรา ๓๔ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกไปกักขัง เว้นไว้แต่จับในขณะกระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภา และประธานแห่งสภาอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้
           มาตรา ๓๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเช่นนี้ ต้องมีการกำหนดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาใหม่ภายในเก้าสิบวัน
           มาตรา ๓๖ บรรดาพระราชบัญญัติทั้งหลาย จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
           มาตรา ๓๗ งบประมาณแผ่นดินประจำปี ท่านว่าต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าและพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ท่านให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง
           มาตรา ๓๘ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ร่างพระราชบัญญัติขึ้นสำเร็จแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ท่านให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
           มาตรา ๓๙ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
           มาตรา ๔๐ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดิน
           ในที่ประชุม สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใดๆอันเกี่ยวกับการงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้นๆยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
           มาตรา ๔๑ สภาย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลงมติความไว้ใจในรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะ
           ญัตติความไว้ใจนั้น ท่านมิให้ลงมติในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา
           มาตรา ๔๒ การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นการเปิดเผย ตามลักษณะที่จะได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของสภา แต่การประชุมลับก็ย่อมมีได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีร้องขอหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันไม่ต่ำกว่าสิบห้าคนร้องขอ
           มาตรา ๔๓ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจเลือกสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก็ตาม เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใดๆอันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใดๆมาชี้แจงแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือพิจารณาอยู่นั้นได้
           เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ นั้น ท่านว่าคุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
           มาตรา ๔๔ การประชุมคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๔๓ นั้น ท่านว่าต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนจึ่งเป็นองค์ประชุมได้
           มาตรา ๔๕ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภา เพื่อดำเนิรการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้



หมวด ๔ คณะรัฐมนตรี

           มาตรา ๔๖ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกนายหนึ่ง และรัฐมนตีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย
           ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
           ให้คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
           มาตรา ๔๗ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้
           มาตรา ๔๘ รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมมีสิทธิไปประชุมและแสดงความเห็นในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
           เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลม
           มาตรา ๔๙ การตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรีนั้น ไม่ทำให้ผู้ได้รับตั้งจำต้องลาออกจากสมาชิกภาพ
           มาตรา ๕๐ ในการบริหารราชการแผ่นดินคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎร
           รัฐมนตรีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้บัญชาการกระทรวงทะบวงการต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อสภาผู้แทนราษฎรในทางรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการ กระทรวงทะบวงการหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของรัฐบาล
           มาตรา ๕๑ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจในคณะ หรือเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ให้ความไว้ใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับหน้าที่นั้นสิ้นสุดลง ในกรณีทั้งสองนี้ ท่านว่าคณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนิรการไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
           นอกจากนี้ความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงฉะเพาะตัวโดย
           (๑) ตาย
            (๒) ลาออก
            (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๒๑(๔)
            (๔) สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ
            มาตรา ๕๒ ในเหตุฉุกเฉินซึ่งจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรให้ทันท่วงทีมิได้ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
           ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ท่านให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อสภาเพื่ออนุมัติ ถ้าสภาอนุมัติแล้วพระราชกำหนดนั้นก็เป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้าสภาไม่อนุมัติไซร้ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น
           คำอนุมัติและไม่อนุมัติของสภาที่กล่าวนี้ ท่านว่าให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ
           มาตรา ๕๓ พระมหากษัตริย์ทรงประกาศใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีการในพระราชบัญญัติกฎอัยยการศึก
           มาตรา ๕๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่นๆกับนานาประเทศ
           การประกาศสงครามนั้น จะทรงทำต่อเมื่อไม่ขัดแก่บทบัญญัติแห่งกติกาสันนิบาตชาติ
           หนังสือสัญญาใดๆมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์สยามหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาไซร้ ท่านว่าต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
           มาตรา ๕๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ
           มาตรา ๕๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
           มาตรา ๕๗ ภายในบังคับแห่งมาตรา ๓๒ และ ๔๖ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ


หมวด ๖ บทสุดท้าย

           มาตรา ๖๑ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆมีข้อความแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญนี้ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นๆเป็นโมฆะ
           มาตรา ๖๒ ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้
           มาตรา ๖๓ รัฐธรรมนูญนี้ จะแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่โดยเงื่อนไขต่อไปนี้
            ๑. ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ท่านว่าต้องมาจากคณะรัฐมนตรีทางหนึ่ง หรือมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรวมกันมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดทางหนึ่ง
            ๒. เมื่อสมาชิกได้ลงมติครั้งหนึ่งแล้ว ท่านให้รอไว้หนึ่งเดือน เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้นำขึ้นเสนอสภาเพื่อลงมติอีกครั้งหนึ่ง
            ๓. การออกเสียงลงคะแนน ท่านให้ใช้วิธีเรียกชื่อและต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่ต่ำกว่าสามในสี่แห่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดเมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ท่านจึ่งให้ดำเนิรการต่อไปตามบทบัญญัติมาตรา ๓๘,๓๙


หมวด ๗ การใช้รัฐธรรมนูญและบทฉะเพาะกาล

           มาตรา ๖๔ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติหมวดนี้ ให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
           มาตรา ๖๕ เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างช้าต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก ๒ ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
           (๑) สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้แก่ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติมาตรา ๑๖,๑๗
           (๒) สมาชิกประเภทที่ ๒ ได้แก่ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติฉะเพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕
           มาตรา ๖๖ ในระหว่างกำหนดเวลาที่กล่าวในมาตรา ๖๕ หากว่ามีการยุบสภาตามความในมาตรา ๓๕ ไซร้ ท่านให้มีการเลือกตั้งสมาชิกใหม่ฉะเพาะในส่วนสมาชิกประเภทที่ ๓
           มาตรา ๖๗ ภายในบังคับแห่งมาตรา ๒๑ (๒)(๓)(๔)(๕) ท่านว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ คงอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๕ แต่ท่านมิให้มีการประชุมดำเนิรการของสภาในระหว่างที่สภาต้องยุบตามความในมาตรา ๓๕
           มาตรา ๖๘ ในระหว่างเวลาตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าสมาชิตามมาตรา ๖๕ นั้นจะได้รับเข้ารับหน้าที่แล้ว ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรคงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีอยู่แล้วโดยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พระยามโนปกรณนิติธาดา
ประธานคณะกรรมการราษฎร

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ หน้า ๕๒๙ วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕

ที่มา https://www.pub-law.net/library/ocons/c2475_2.html


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕), รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) หมายถึง, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) คือ, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) ความหมาย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (พ.ศ. ๒๔๗๕) คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu