อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากเกาะสมุยและเกาะพะงันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ตามเกาะต่างๆ จะมีหาดทรายอยู่เกือบทุกเกาะ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสี อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองมีเนื้อที่ประมาณ 63,750 ไร่ หรือ 102 ตารางกิโลเมตร
บริเวณหมู่เกาะอ่างทองแต่เดิมเป็นพื้นที่หวงห้ามของกองทัพเรือซึ่งมีโครงการจะสร้างฐานทัพเรือเพื่อควบคุมความปลอดภัยของประเทศทางด้านอ่าวไทย แต่ด้วยมีทิวทัศน์สวยงาม ทะเลสาบ หน้าผา ถ้ำทะลุ เกาะรังนกนางแอ่น นกนานาชนิด และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ตรี กองอุทยานแห่งชาติ ได้เขียนบทความสารคดีเรื่อง “หมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติทางทะเล” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2518 สรุปสาระสำคัญว่า ควรจัดหมู่เกาะอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประกอบกับกองอุทยานแห่งชาติได้มีโครงการอยู่แล้วเช่นกัน และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2518 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 ให้กรมป่าไม้พิจารณาจัดหมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2518 กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีบันทึกที่ กส.0708/915 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2518 เสนอกรมป่าไม้ ให้นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปทำการสำรวจ ปรากฏว่า หมู่เกาะอ่างทอง ประกอบด้วยเกาะประมาณ 40 เกาะ มีทิวทัศน์สวยงาม ทะเลสาบ หน้าผา ถ้ำทะลุ เกาะรังนกนางแอ่น และนกนานาชนิด ปะการัง เป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 ให้กรมป่าไม้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหมู่เกาะอ่างทองกับกระทรวงกลาโหม และทำการตรวจสอบที่ดินบริเวณดังกล่าว กองอุทยานแห่งชาติ ได้มีหนังสือที่ กส.0708/1613 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 เสนอกรมป่าไม้ให้ นายสินไชย บูรณะเรข นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือที่ กห. 0352 / 26927 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2519 ไม่ขัดข้องในการที่กรมป่าไม้จะกำหนดหมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้จึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2520 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2520 เห็นชอบให้กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ทั้งทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือที่ สฎ.25/21994 ลงวันที่ 18 เมษายน 2520 ให้การสนับสนุนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณหมู่เกาะอ่างทองในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมเนื้อที่ 102 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 174 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 21 ของประเทศไทย
พืชพรรณและสัตว์ป่า
ลักษณะพรรณพืชตามธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แบ่งตามลักษณะของสภาพป่าและถิ่นที่ขึ้นอยู่ได้แก่
ป่าดงดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะขนาดใหญ่ คือ เกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะสามเส้า ในบริเวณไหล่เขาและตามร่องลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น พลองใบมน จิกเขา รักเขา หัวค่าง พลองกินลูก เกด ไหม้ ไม้พุ่มชั้นล่างได้แก่ ข่อยหนาม กระจายอยู่ทั่วไป พืชพื้นล่างและพืชอิงอาศัยได้แก่ เต่าร้าง หวาย ข้าหลวงหลังลาย เปราะ บุก และกล้วยไม้นารีช่องอ่างทอง ฯลฯ
ป่าชายหาด เป็นป่าโปร่งขึ้นบริเวณแคบๆ ตามชายหาดและเชิงเขาชายทะเลทั่วไปของเกาะต่างๆ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ หูกวาง โพทะเล กระทิง ปอทะเล จิกทะเล สนทะเล รักทะเล มะเดื่อป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ เตยทะเล พลับพลึง กะทกรก และผักบุ้งทะเล เป็นต้น
ป่าเขาหินปูน พบในบริเวณเขาหินปูนที่มีชั้นดินน้อย พืชที่ขึ้นเป็นพืชขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา เป้ง สลัดได พลับพลึง บุก ปอทะเล เกด เชียด และยอป่า เป็นต้น
ป่าชายเลน พบอยู่น้อยมากบริเวณซอกหินที่มีหาดทรายหรือหาดเลนในวงรอบของทะเลในของเกาะแม่เกาะ และทางทิศตะวันออกของเกาะพะลวยในบางอ่าวที่เว้าเข้าไปในแผ่นดิน พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นโกงกางใบเล็ก
ด้วยสภาพที่เป็นเกาะขนาดเล็กกลางทะเล มีที่ราบ และที่ลาดชันปานกลางถึงน้อย ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะที่เป็นเขาหินปูนสูงชัน จึงทำให้เป็นข้อจำกัดในเรื่องของการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ สัตว์ที่พบเห็นโดยทั่วไปสามารถจำแนกออกได้เป็น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 16 ชนิด ได้แก่ นากใหญ่หัวปลาดุก ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงแสม หมูป่า พญากระรอกดำ หนูเกาะ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ โลมา และวาฬ เป็นต้น
นก พบไม่น้อยกว่า 54 ชนิด ได้แก่ นกยางเขียว เหยี่ยวแดง นกออก นกเด้าดิน นกแอ่นกินรัง นกแก๊ก นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ และนกขุนทอง ฯลฯ
สัตว์เลื้อยคลาน พบ 14 ชนิด ได้แก่ แย้ เหี้ย เต่าตนุ เต่ากระ งูเหลือม และงูจงอาง เป็นต้น
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบน้อยมากเพียง 5 ชนิด ได้แก่ คางคกบ้าน กบบัว กบนา กบหนอง และปาด
นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ที่สำคัญคือ ปลาทู และยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ เช่น ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากระเบนทอง ปลาฉลามหูดำ ปลาเม่นลายเสือ ปลากะพง ปลาเก๋า ปลิงทะเล ปูม้า กัลปังหา แส้ทะเล หอยมือเสือ หอยนางรม และปะการังที่สวยงามซึ่งได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่จำนวนมาก
ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 9 องศา 31 ลิบดา-9 องศา 43 ลิบดา เหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 39 ลิบดา - 99 องศา 44 ลิบดา ตะวันออก ประกอบด้วยเกาะ 42 เกาะ ลักษณะเกาะเป็นเขาหินปูนและมีหน้าผาสูงชันเกือบทั้งหมด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10-396 เมตรจากระดับน้ำทะเล เรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ เกาะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะหินดับ และเกาะท้ายเพลา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองเป็นพื้นน้ำ มีพื้นป่าประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สภาพป่าโดยทั่วไปมีไม้ขนาดใหญ่น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากเกาะที่เป็นเขาหินปูนมีเนื้อดินเป็นชั้นบาง
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและจะมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายน
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี
ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สำหรับช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 องศาเซลเซียส
สำหรับช่วงเวลาระพว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของทุกปี เป็นช่วงฤดูมรสุม ทะเลจะมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
- ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 23 ธันวาคม ของทุกปี
- เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี