สมัยอยุธยา (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐) กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ นับเป็นเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีกวีและวรรณคดีจำนวนมาก วรรณคดีแต่ละเรื่องล้วนมีคุณค่าเป็นมรดกสมควรรักษาไว้ตลอดไป ในที่นี้จะกล่าวถึงวรรณคดีบางฉบับ คือ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงกำสรวล และบทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาที่คนไทยปัจจุบันรู้จักและคุ้นเคยมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน
เรื่องพระลอเป็นนิยายประจำถิ่นไทยภาคเหนือ เชื่อว่ามีเค้าโครงเรื่องเกิดขึ้นในแคว้นล้านนา ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๑๖ - ๑๖๙๓ ปัจจุบัน ท้องที่ของเรื่องอยู่ในจังหวัดแพร่และลำปาง เนื้อเรื่องกล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว (พระลอ พระเพื่อน พระแพง) ที่มีอุปสรรคจนต้องยอมแลกด้วยชีวิต
ผู้แต่งและสมัยที่แต่งลิลิตพระลอไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่สันนิษฐานว่า คงแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หรือมิฉะนั้นคงเป็นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ลิลิตพระลอ มีผู้เรียกว่าเป็น "วรรณคดีบริสุทธิ์" เพราะมีลักษณะสะเทือนอารมณ์ที่ยอดเยี่ยม เป็นเรื่องโศกที่จบลงด้วยความตาย เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ยอดของวรรณคดีลิลิตเพราะแต่งดีอย่างวิเศษในด้านภาษา" โคลงและร่ายของลิลิตพระลอจัดได้ว่า เป็นแบบฉบับหรือชั้นครูที่กวีรุ่นหลังนิยมยกย่องยึดถือ เช่น การแต่งโคลงสี่สุภาพ ที่มีเสียงบังคับวรรณยุกต์เอก ๗ โท ๔ จะดูได้จากโคลงในลิลิตพระลอบทนี้
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด รือพี่
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
เสียงเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ