ปลาเรนโบว์เทราท์ (rainbow trout) เป็นปลาน้ำจืด รสชาติดี และเป็นที่นิยมบริโภค เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมกา 3 สูง ติด 10 อันดับแรกของปลาทั้งหมด (ปลาเรนโบว์เทราท์ 100 กรัม มีโอเมกา3 1.0 มิลลิกรัม) กรดไขมันโอเมกา 3 ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในร่างกายและประจุอิสระในกระแสเลือด
ในปี พ.ศ. 2540 หน่วยทดลองเลี้ยงปลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ กรมประมง เริ่มโครงการทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราท์ใน ระบบบ่อแบบน้ำไหล (flow-through system) ณ ดอยอินทนนท์ ภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง โดยใช้น้ำจากลำธาร ซึ่งไหลมาจากน้ำตกสิริภูมิ แหล่งต้นน้ำบนดอยอินทนนท์ และปล่อยน้ำกลับสู่ลำธารเมื่อน้ำไหลผ่านระบบแล้ว การทดลองพบว่าปลาเรนโบว์เทราท์เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ได้ดี แต่การเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราท์ในระบบบ่อแบบน้ำไหล ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
การพัฒนาและออกแบบระบบบำบัดน้ำในฟาร์มปลาเรนโบว์เทราท์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สนับสนุน ดร.วรินธร สงคศิริ จากหน่วยปฏิบัติการชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ ไบโอเทค ดร.โกมุท อุ่นศรีส่ง กรมประมง ดร.อรรณพ นพรัตน์ และนายมาโนช อมรมงคล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาและออกแบบระบบบำบัดน้ำในฟาร์มปลาเรนโบว์เทราท์ ให้เป็น ระบบกึ่งปิด (semi-closed system) เพื่อลดการใช้น้ำและพื้นที่ รวมทั้งปรับปรุงฟาร์มให้เป็นระบบแบบยั่งยืน โดยไหลเวียนน้ำกลับมาใช้ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง รักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งต้นน้ำ และเพิ่มความสามารถในการผลิตปลาเรนโบว์เทราท์ ในการออกแบบระบบบำบัดน้ำแบบน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ให้มีประสิทธิภาพ ต้องควบคุมอุณหภูมิของน้ำ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ตะกอน ปริมาณแอมโมเนีย และก๊าซต่างๆ รวมทั้งความเป็นเกลือ ความกระด้าง และค่าความเป็นด่างของน้ำ ที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของปลาเรนโบว์เทราท์
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาและพัฒนา ระบบบำบัดแบบชีวภาพ (ไบโอฟิลเตอร์) ที่ทำงานได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ (อุณหภูมิเฉลี่ย ณ ดอยอินทนนท์ คือ 15-18 องศาเซลเซียส) โดยใช้กระบวนการไนทิฟิเคชัน ซึ่งเปลี่ยนแอมโมเนียที่เป็นพิษต่อปลาเทราท์เป็นไนเทรต องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้ เป็นพื้นฐานในการจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการฟาร์มปลาเรนโบว์เทราท์ในพื้นที่สูงของประเทศไทย อีกยังเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นอาชีพหลัก ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทยในพื้นที่สูงต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)