ฝ้า เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง พบมากในอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป
สาเหตุ
เกิดจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ผิวหนังมีการสร้างเม็ดสี (pigment)
มากกว่าปกติพบมากในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กินหรือ ฉีดยาคุมกำเนิด แต่ก็อาจพบใน
ผู้ชาย และผู้หญิงทั่วไป
ผู้ที่ถูกแสงแดด หรือแสงไฟ (แสงอัลตราไวโอเลต) บ่อยอาจมีโอกาสเป็นฝ้าได้ง่าย และ
เชื่อว่ากรรมพันธุ์ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดฝ้า
นอกจากนี้ความเครียด สารเคมี (เช่น น้ำมันดิน) น้ำหอม เครื่องสำอาง ก็มีส่วนกระตุ้นให้
เกิดฝ้า หรือรอยด่างดำบนใบหน้าได้
ผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น เนื้องอกของรังไข่ โรคแอดดิสัน ก็อาจทำให้หน้าเป็นฝ้าดำได้
เช่นกัน บางคนอาจเกิดฝ้าโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้
อาการ
มีลักษณะเป็นรอย หรือปื้นสีน้ำตาลออกดำขึ้นที่บริเวณใบหน้าส่วนที่ถูกแสงแดดมาก ๆ เช่น
หน้าผาก โหนกแก้มทั้งสองข้าง และดั้งจมูก บางคนอาจมีรอยดำ ที่หัวนม รักแร้ ขาหนีบ
หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย
การรักษา
1. ควรแนะนำข้อปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย คือ อย่าถูกแดดมาก (เวลาออกกลางแจ้ง ควรใส่หมวก
หรือกางร่ม) ควรหลบแสงไฟแรง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม และเครื่องสำอาง ควรพัก
ผ่อนให้เพียงพอ และอย่าให้อารมณ์เครียด
2. ใช้ยาลอกฝ้า ได้แก่ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ขนาด 2-4 % ทาวันละ 2 ครั้ง จะ
ช่วยลดการสร้างเม็ดสี ทำให้ฝ้าจางลงได้ ยานี้อาจทำให้แพ้ได้ จึงควรทดสอบโดยทาที่แขน
แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน (ห้ามล้างออก) ดูว่ามีผื่นแดงหรือไม่ ถ้ามีก็ห้ามใช้ยานี้ อาจผสมกับกรด
เรติโนอิก ขนาด 0.01-0.05% และสเตอรอยด์ทำเป็นครีมยี่ห้อต่าง ๆ
3. ใช้ยากันแสง ได้แก่ พาบา (PABA ซึ่งย่อมา จาก Para-aminobenzoic acid) ทาตอน
เช้า หรือก่อนออกกลางแดด ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสง (sun protective
factor/SPF) มากกว่า 15ขึ้นไป ยานี้อาจทำให้แสบตา แสบจมูก เป็นสิว หรือแพ้ได้ โดยทั่ว
ไป มักจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น และจะต้องใช้ยากันแสงไปเรื่อย ๆ เพื่อ
ป้องกันการกลับเป็นฝ้าอีกถ้าไม่ดีขึ้นใน 1-2 เดือน หรือแพ้ยาที่ทารักษาฝ้า หรือสงสัยเป็น
โรคอื่นควรปรึกษาแพทย์ทางโรคผิวหนังซึ่งอาจเปลี่ยนไปใช้รักษาฝ้าชนิดอื่นแทน
ข้อแนะนำ
ข้อแนะนำ
1. ฝ้าที่เกิดจากการตั้งครรภ์ หรือกินหรือฉีดยาคุมกำเนิด อาจหายได้เองหลังคลอด หรือหลังหยุดใช้
ยาคุมกำเนิด (อาจใช้เวลาเป็นสองเท่าของระยะเวลาที่กินยาคุมกำเนิด เช่น ถ้ากินยาอยู่นาน 1 ปี ก็อาจ
ใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าฝ้าจะหาย)
2. ฝ้า อาจมีสาเหตุจากโรคที่ซ้อนเร้นภายในร่างกาย เช่น เนื้องอกของรังไข่ โรคแอดดิสัน เป็นต้น
นอกจากนี้โรคเอสแอลอี ก็อาจมีผื่นแดงขึ้นที่แก้ม คล้ายรอยฝ้าได้ ดังนั้นถ้าพบมีอาการผิดสังเกตอื่น ๆ
เช่น อ่อนเพลีย เป็นลมบ่อย ปวดข้อ ผมร่วง เป็นไข้เรื้อรัง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์
3. ยารักษาฝ้าบางชนิด อาจมีสารเคมีที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ทำให้หน้าขาววอก หรือ
เป็นรอยแดงหรือรอยด่างอย่างน่าเกลียด ดังนั้น จึงควรระมัดระวังอย่าซื้อยาลอกฝ้ามาทาเองอย่างส่งเดช
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที ยาลอกฝ้าที่เข้าสารปรอท อาจทำให้ฝ้าจางลง
แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนัง และในร่างกายได้
4. ในการรักษาฝ้า อาจต้องใช้เวลานานเป็นแรมเดือน หรืออาจไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพียงแต่ใช้
ยากันแสง และยาลอกฝ้าทาไปเรื่อย ๆ ถ้าหยุดยา อาจกำเริบได้ใหม่ ฝ้าที่อยู่ตื้น ๆ (สีน้ำตาล หรือ
น้ำตาลเข้ม) มักจะรักษาได้ผลดี แต่ฝ้าที่อยู่ลึก (สีน้ำตาลเทา หรือสีดำ) อาจได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลย
5. การลอกหน้า ขัดผิว ตามร้านเสริมสวย นอกจากจะไม่ช่วยการรักษาฝ้าแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะ
แทรกซ้อน เช่น การแพ้สัมผัส จึงไม่แนะนำให้ไปลอกหน้าขัดผิว
รายละเอียด
ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดฝ้า