ตะคริว (Muscle cramps)
ตะคริว หมายถึง อาการกล้ามเนื้อเกร็งแข็งและปวด ซึ่งจะเกิดขึ้นรวดเร็วและมักจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาที กล้ามเนื้อที่พบเป็นตะคริวได้บ่อยได้แก่กล้ามเนื้อน่องและต้นขา ตะคริวเป็นภาวะพี่พบได้บ่อยมาก ซึ่งจะพบได้เป็นครั้งคราวในคนเกือบทุกคน
ที่มา : https://www.amed.go.th/Health/disease/muscle%20cramps.htm
อาการ
อาการ
ผู้ป่วยอยู่ ๆ รู้สึกกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใด (เช่น น่อง หรือต้นขา) มีการแข็งตัวและปวดมาก เอามือคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ถ้าพยายามขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะทำให้ยิ่งแข็งตัวและปวดมากขึ้น การนวดและยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้น จะช่วยให้ตะคริวหายเร็วขึ้น ถ้าเป็นขณะนอนหลับ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดจนสะดุ้งตื่น
โดยทั่วไป จะเป็นอยู่เพียงไม่กี่นาทีก็หายได้เอง และไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดร่วมด้วย เมื่อหายแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติทุกอย่าง
การรักษา
การรักษา
1. ขณะที่เป็นตะคริว ให้ทำการปฐมพยาบาล โดยใช้มือนวดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว หรือยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง เช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาเข้าให้มากที่สุด ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อย และกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า)
2. ถ้าเป็นตะคริวขณะเข้านอนตอนกลางคืนบ่อย ๆ (เช่นหญิงที่ตั้งครรภ์ คนสูงอายุ) ก่อนนอนควรดื่มนมให้มากขึ้นและยกขาสูง (ใช้หมอนรอง) จากเตียงประมาณ 10 ซม. (4 นิ้ว)
ในหญิงตั้งครรภ์ อาจให้ยาเม็ดแคลเซียมแลกเทตกินวันละ 1-3 เม็ด
3. ถ้าเป็นตะคริวจากการเสียเกลือโซเดียม (เช่นเกิดจากท้องเดิน อาเจียน เหงื่อออกมาก) ควรให้ดื่มน้ำเกลือผสมเอง ถ้าดื่มไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ทางหลอดเลือดดำ
4. ถ้าเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นขณะเดินนาน ๆ ควรแนะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดที่ขา หรือมีภาวะหลอดเลือดแข็งจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือโรคอื่น ๆ
ในกรณีที่ไม่พบสาเหตุ ควรให้กินไดเฟนไฮดรามีน (ย7.2) ขนาด 50 มก. ก่อนนอน อาจช่วยป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวขณะเข้านอนได้
สาเหตุ
สาเหตุ
ส่วนมากจะไม่มีสาเหตุร้ายแรงเป็นเพียงชั่วเดี๋ยวเดียวก็หายได้เอง บางคนอาจเป็นตะคริวที่น่องขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด บางคนอาจเป็นหลังออกกำลังมากกว่าปกติหรือนอนนั่งหรือยืนในท่าที่ไม่สะดวกนาน ๆ (ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก) ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (119) ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำ หรืออาจเกิดจากการไหวเวียนของเลือดไปที่ขาไม่สะดวก
ในคนที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (arteriosclerosis) เช่น คนสูงอายุ ก็มีโอกาสเป็นตะคริวได้บ่อยขึ้น และอาจเป็นขณะที่เดินนาน ๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี
ในผู้ป่วยที่ร่างกายเสียเกลือโซเดียม เนื่องจากท้องเดิน อาเจียน หรือสูญเสียไปทางเหงื่อเนื่องจากความร้อน (อากาศร้อน หรือทำงานในที่ที่ร้อนจัด) อาจเป็นตะคริวรุนแรง คือ เกิดกับกล้ามเนื้อหลายส่วนของร่างกายและมักจะเป็นอยู่นาน