โรคประสาทเป็นความผิดปกติ หรือความแปร-ปรวนทางจิตใจ อาการต่างๆ ที่ปรากฏคือกังวล ย้ำคิดย้ำทำ เหนื่อยง่าย ฯลฯ อาการเหล่านี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือการเข้าสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน บุคลิกภาพไม่เปลี่ยนจนคนภายนอกสังเกตเห็นได้ ไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน ไม่มีความคิดแปลกประหลาด ส่วนมากจะหยั่งเห็นสภาพของตนหรือรู้สภาวะของตนเอง รู้ว่าตนไม่สบายใจ หงุดหงิด และกลุ้มใจ ต้องการให้แพทย์หรือคนอื่นช่วยเหลือ
ปัจจุบันสรุปว่า โรคนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องของจิตใจ มีความขัดแย้งทางใจซึ่งถูกกดเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก บางคนเชื่อว่าโครงสร้างทางชีววิทยาของบุคคลนั้นอาจเป็นสาเหตุที่น่าจะทำให้เป็นโรคอยู่แล้วก็ได้ นอกจากนี้ อาจเป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งทางใจ เช่น เด็กเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ทอดทิ้ง หรือถูกพ่อแม่ติเตียนบ่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าตนไม่ดี ไม่มีค่า
โรคประสาทมีผลสืบเนื่องมาจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ทำให้เกิดความขัดแย้งใจซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึกตามทฤษฎีของฟรอยด์ บุคลิกภาพของคนเรามีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. อิด (id) เป็นแรงขับภายในโดยสัญชาติญาณทางเพศและความก้าวร้าว เพื่อให้มนุษย์คงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ เป็นต้น
๒. ซุบเปอร์อีโก (superego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่พัฒนามาจากประสบการณ์ จากการใช้จิตกลไกเลียนแบบผู้ที่ตนนับถือตามกฎเกณฑ์ของสังคม และวัฒนธรรมของตน เป็นส่วนของมโนธรรม ศีลธรรม เป็นต้น ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับอิด
๓. อีโก (ego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ ให้เป็นไปในทางที่สังคมยอมรับ
องค์ประกอบทั้งสามของบุคลิกภาพ ถ้ามีส่วนพอดี จะทำให้ตัวเราเองอยู่ในสังคมอย่างเป็นจริงและมีเหตุผลพอสมควร ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างองค์ประกอบทั้งสาม อาจทำให้เกิดอาการของโรคประสาท
โรคประสาทแบ่งออกเป็น ๘ ชนิด แต่ที่พบบ่อยมี ๖ ชนิด คือ
๑. โรคประสาทกังวล (anxiety states)อาจเกิดอย่างเฉียบพลันหรือเกิดอย่างเรื้อรัง มีอาการกังวล ตึงเครียด ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึกหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ถ้าเกิดอาการรุนแรงผู้ป่วยมักตกใจกลัวมาก เพราะเกรงหัวใจจะวาย กลัวตายเป็นโรคประสาทที่พบมากที่สุด
๒. โรคประสาทฮีสทีเรีย (hysteria) โรคนี้ไม่ได้เกิดจากความต้องการทางเพศสูงอย่างที่เข้าใจกันแต่เป็นโรคประสาทที่ใช้จิตไร้สำนึกชนิดแปรเปลี่ยนตามความวิตกกังวลให้เป็นอาการทางกาย บางรายมีอาการแบบเจ้าเข้า พบในหญิงมากกว่าชายในวัยรุ่น สาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งทางใจ ซึ่งผู้ป่วยหาทางออกไม่ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลท่วมท้น
๓. โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (obsessivecompulsive disorders) ผู้ป่วยมีอาการคิดซ้ำๆ หรือทำอะไรซ้ำๆ โดยห้ามตัวเองไม่ให้คิดหรือไม่ให้ทำไม่ได้ทั้งๆ ที่รู้ว่าความคิดหรือการกระทำนั้นไร้สาระไม่มีเหตุผล
๔. โรคประสาทโฟบิก (phobic states) จะมีอาการกลัววัตถุหรือสถานการณ์บางอย่าง ซึ่งคนปกติจะไม่กลัว จนเกิดอาการใจสั่น อาเจียน เหงื่อท่วมตัว เช่น กลัวที่โล่ง กลัวผีเสื้อ กลัวสีแดง เป็นต้น
๕. โรคประสาทซึมเศร้า (neurotic depression) โดยมากเกิดภายหลังการสูญเสีย เช่น สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ค้าขายขาดทุน สอบตก อกหักจะมีอาการเศร้าขึ้นลงได้ง่าย อาจเข้าสังคมได้ตามปกติ แต่ยังมีอาการร้องไห้ รู้สึกตัวเองไร้ค่า คิดอยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ
๖. โรคประสาทไฮโพคอนดริอะซิส (hypochondriasis) พบมากในชาวเอเชีย ผู้ป่วยกังวลแต่เรื่องสุขภาพกาย มีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ ชาแน่นท้อง โดยที่แพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดโรคทางกาย ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความเศร้าแฝงอยู่ลึกๆ ปรากฏออกมาในรูปของอาการทางกาย
การรักษาโรคประสาท ส่วนมากไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล การรักษาอาจทำได้โดยรักษาด้วยยาที่แพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น ควบกับการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งเป็นการรักษาด้านจิตใจหรือรักษาด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัด (behavior therapy) ซึ่งเป็นการรักษาที่มุ่งเปลี่ยนแปลงอาการที่สำคัญ เช่นโรคกลัว ภาวะติดอ่าง เป็นต้น